ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นายสุเทพ พิมพิรัตน์” เผยการเตรียมรองรับผู้ป่วยโควิด 3 กลุ่มหลัก เดินทางเข้าพื้นที่มารักษาตัวยังภูมิลำเนา เพื่อลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล รวมถึงการแก้ปัญหาเตียงไม่พอ พร้อมประสาน อปท.ทุกแห่งเตรียมการรองรับล่วงหน้า

นายสุเทพ พิมพิรัตน์ นายอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด เราแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ติดเชื้อ 2. กลุ่มที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ทั้ง 13 จังหวัด และ 3. กลุ่มที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นๆ ในส่วนของการเตรียมการรองรับของผู้ติดเชื้อ เราได้มีการประชุมหาแนวทางเตรียมการล่วงหน้า โดยจะดูในส่วนที่อยู่อาศัยแต่ละชุมชน แต่ละหลังคาเรือนว่าเขามีความพร้อมที่จะรองรับผู้ติดเชื้อเข้ามาหรือไม่ เพราะบางทีบ้าน 1 หลัง มีห้องน้ำเพียง 1 ห้อง จะไม่สามารถใช้ร่วมกันได้อยู่แล้ว

เราจึงได้มีการพูดคุยร่วมกันว่า กรณีผู้ที่ติดเชื้อเบื้องต้นนั้น เราจะไม่ให้เข้าไปในชุมชนหรือหมู่บ้านเป็นอันขาดจนกว่าจะผ่านกระบวนการรักษาของโรงพยาบาล ทั้งนี้เราจึงได้จัดหาสถานที่รองรับเพื่อให้ผู้ป่วยได้อาศัยก่อน โดยช่วงแรก ถ้ามีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามา จะแจ้งเข้ามายังศูนย์ฮอตไลน์ ของอำเภอหรือจังหวัดเพื่อประสานและให้คำแนะนำในระหว่างเดินทาง เมื่อผู้ติดเชื่อเดินทางถึงอำเภอเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะทำการประเมินอาการผู้ป่วยและบันทึกข้อมูลก่อน หากยังไม่ได้รับการประเมินอาการอำเภอได้จัดเตรียมสถานที่พักคอยเพื่อรอประเมินอาการ (State Quarantine)ไว้รองรับ ทุกคน

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดเตรียมหรือสร้างศูนย์พักคอยเพื่อรอการประเมินนั้น ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ ขณะนี้อำเภอมี State Quarantine จำนวน 2 จุด โดยจุดแรกสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 33 คน ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์สถานที่จากร้านเซียมเส็งที่เป็นพ่อค้าที่อยู่เทศบาลตำบลพนมไพร จุดที่ 2 คือหอประชุมอำเภอพนมไพร รองรับผู้ป่วยได้ถึง 115 คน จากที่กล่าวมา เป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น เพื่อที่จะรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไม่ให้เดินทางเข้าไปยังชุมชนเป็นอันขาด เพราะเรามองว่าหมู่บ้านชุนชนนั้นจะต้องเป็นที่มั่นสุดท้ายในการรับมือเรื่องนี้

ส่วนในเรื่องของการประเมินอาการผู้ติดเชื้อนั้น ทางโรงพยาบาลจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. อาการหนักกลุ่มสีแดง 2. อาการปานกลางกลุ่มสีเหลือง และ 3. อาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการกลุ่มสีเขียว ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ หากตามนโยบายของระดับจังหวัดนั้น ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงจะรักษาอยู่ที่รพ.ร้อยเอ็ดเท่านั้น กลุ่มสีเหลืองจะอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอต่างๆ และกลุ่มสีเขียวจะอยู่ตามโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยที่ได้กำหนดไว้ เป็นต้น

*กรณีหากเตียงไม่พอในการรองรับผู้ป่วยจะดำเนินการอย่างไร

นายสุเทพ กล่าวว่า ทั้งนี้ อำเภอพนมไพรเราเองนั้น ได้มีที่รองรับสำหรับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเหลือง จำนวน 70 เตียง ส่วนที่เป็นกลุ่มสีเขียวจะมีสถานที่พักคอย (community Isolation : CI) รองรับอยู่ 2 แห่ง คือ 1. วัดป่าอัมพวัน จำนวน 55 เตียง และ 2. วิทยาลัยการอาชีพพนมไพร จำนวน 130 เตียง ซึ่งในช่วงแรกอาจมีปัญหาในการหาเตียงอยู่บ้าง คือต้องรอรับสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งไม่เพียงพอ แต่เราได้แก้ปัญหาโดยได้ขอความอนุเคราะห์จากวิทยาลัยอาชีพพนมไพร จัดทำให้จำนวน 200 เตียง ปัจจุบัน CI ของอำเภอมีเตียงรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย จำนวน 185 เตียง ว่าง 44 เตียง ซึ่งเพียงพอ และหากมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เราได้ไปดูสถานที่ที่โรงเรียนอนุบาลเมืองพนมไพรเพื่อจัดเตรียม CI แห่งที่ 3 เอาไว้แล้ว

ดังนั้นเราถือว่าการรองรับผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือผู้ที่ติดเชื้อนั้น ถือว่ามีความพร้อมและเพียงพอสำหรับทุกคน ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้ประสานข้อมูลกับทางโรงพยาบาลอยู่ประจำว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้า และเรายังมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลในการรับมือครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เรายังมีการวางแผนรองรับสำหรับผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลหรือผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้วจะต้องกักตัวต่ออยู่ที่บ้านอีก 14 วัน เรามองว่าอาจมีโอกาสนำเชื้อไปติดที่บ้านหรือชุมชนด้วย เราจึงประสาน อบต.ทุกแห่ง ได้เตรียมจัดสถานที่เพื่อรองรับในส่วนนี้ด้วย

สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ได้มอบหมายให้ อปท.ทุกแห่ง ร่วมมือกันทั้ง ศปก.ตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ชาวบ้าน จัดเตรียมที่พักคอยเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน รวมถึงมีการให้คำแนะนำการใช้ชีวิตประจำวัน ไว้เช่นกัน

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org