ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ ทยอยปิด “ฮอสพิเทล” หลังการติดเชื้อเริ่มดีขึ้น ส่วนสถานแยกกัก “HI- CI” ช่วยแก้ปัญหารอเตียงกทม. ขณะที่ศูนย์นิมิบุตรเตรียมปิด 30 ก.ย.นี้ ย้ายเข้าเลิดสิน ด้าน รพ.บุษราคัม หมดสัญญากับอิมแพค ต.ค. ล่าสุดมีข่าวดี! ไทยเจรจราบริษัทยานำเข้ายารักษาโควิดเฉพาะเจาะจง หวังใช้แทนฟาวิพิราเวียร์ คาดขึ้นทะเบียนไทย พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด – 19 ว่า วันนี้ (6 ก.ย.) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 13,988 ราย เสียชีวิต 187 ราย สถานการณ์เตียงทั่วประเทศ ยังมีความตึงตัวที่กทม. เช่นเดียวกับภาคอีสานที่มีจำนวนผู้ป่วยครองเตียงเพิ่มขึ้นบ้างบางส่วน อย่างไรก็ตาม แม้เจอเชื้อเดลตาแต่อัตราคนไข้อาการน้อยยังอยู่ที่ 70-80 % หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 75 % ส่วนคนไข้สีเหลืองประมาณ 20 % คนไข้อาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 3% ปัจจุบันยังมีคนไข้ครองเตียงราวๆ 4.2-4.3 หมื่นราย ส่วนผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจลดลง คนเสียชีวิตลดลง เช่นกทม. เดิมช่วงที่มีการติดเชื้อวันละ 2 หมื่นราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในกทม. แต่วันนี้ ที่มีคนเสียชีวิต 187ราย เป็นคนที่อยู่กทม.ราวๆ 1 ใน 6 ถึง 1 ใน 7 อย่างไรก็ตาม คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่คือคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือมีโรคประจำตัว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันในการทำระบบ Home isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ทำให้เตียงในรพ.เริ่มว่าง โดย HI มีรับดูแลผู้ป่วยเหลือวันละไม่เกิน 1 พันราย ส่วน CI รับผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 300 ราย ไม่เกิน 500 ราย ผู้ที่มีการแย่ลงต้องส่งต่ออยู่ที่ 7-8 % แต่ในช่วงหลังพบว่าผู้ป่วยไม่อยากไปรพ. ซึ่งต้องขอความร่วมมือหากแพทย์หากขอให้ย้ายเข้ารักษาในรพ. ก็ควรมาโดยเฉพาะคนที่ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า มาตรการ HI และ CI รวมถึงการยกระดับ community isolation Plus สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง 1,660 เตียง ช่วยแก้ปัญหาความแออัดของเตียงกทม.ดีขึ้น โดยศูนย์แรกรับนิมิบุตร เดิมช่วงเดือนก.ค.รับผู้ป่วยสูงถึงวันละกว่า 350 เตียง ปัจจุบัน ข้อมูล 5 ก.ย.มีผู้ป่วย 30-40 ราย รับดูแล 9 ราย ที่เหลือส่งต่อ ดังนั้นเนื่องจากผู้ป่วยน้อยลงแล้วจะมีการปิดศูนย์นิมิบุตรในวันที่ 30 ก.ย. นี้แล้วย้ายไปที่รพ.สนามรพ. เลิดสิน สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงจำนวน 200 เตียง และทำเรื่องศูนย์แรกรับและส่งต่อด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซีพี เช่นเดียวกับรพ.บุษราคัม ช่วงระบาดมากเปิดเตียงถึง 3.5 พันเตียง ปัจจุบันปรับลดเหลือ 2 พันเตียง แต่มีการครองเตียงอยู่ 800 เตียง ทั้งนี้ที่บุษราคัมจะหมดสัญญากับทางอิมแพคในเดือนต.ค.นี้

“ขณะนี้ฮอสพิเทลในภาคส่วนต่างๆ เริ่มทยอยปิดดำเนินการ โดยฮอสพิเทล ของกรมการแพทย์ 4 แห่ง ก็จะปิด 2 แห่ง เหลือไว้ 2 แห่ง คือ เลิดสิน กับสถาบันมะเร็ง อย่างไรก็ตามเรามีการเปิดคลายล็อคบางส่วน ก็จะมีต้องมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะว่าจะมีผู้ป่วยพุ่งขึ้นหรือไม่ มีการคุยกันทุกสัปดาห์ ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนไม่ต้องกังวล เรายังมีการเตรียมมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์โควิดที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลา เตรียมรับการระบาดใหม่ ดังนั้นช่วงปลายก.ย. ต่อต.ค.นี้ก็มีการประเมินผล”นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมเรื่องยารักษาด้วย ซึ่งในต่างประเทศมีการวิจัยยาหลายตัวในเฟส 2 เฟย 3 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการพูดคุยกับผู้แทนยาในต่างประเทศทั้งหมด เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir ) ของ MSD และ Protease Inhibitor ของ Pfizer เพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย เช่นยา รวมถึง จะมีการสรุปผลการใช้ยาต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร และตัวอื่นๆ ซึ่งจะทยอยออกมาใน 1-2 เดือนนี้ แต่ในส่วนของยาไอเวอร์เม็กติน เท่าที่ทราบศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) และงานวิจัยในต่างประเทศอีกฉบับ ไม่แนะนำให้ใช้ ส่วนการวิจัยในประเทศไทย ศิริราชกำลังดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้

เมื่อถามถึงรายละเอียดยา โมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir) นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยานี้คาดว่าจะทราบผลวิจัยเฟส 3 สิ้นก.ย. 2564 หากสำเร็จบริษัทวางแผนจะขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)สหรัฐอเมริกาในเดือนต.ค.นี้ นับเป็นยาชนิดแรกสำหรับรักษาโควิดโดยเฉพาะ ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนกับอย.ภายในพ.ย.นี้ และจะมีการสั่งนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยต่อไป แทนยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากกลไกการทำงานเหมือนกัน คือ การยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์จะเฉพาะเจาะจงกับไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยอาการน้อย 1 คน ใช้ 40 เม็ด นาน 5 วัน