ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กว่า 1 เดือนแล้วที่ภูเก็ตมีมาตรการปิดเกาะเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่สถานการณ์ในจังหวัดกลับยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้น ตรงกันข้ามตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งแตะหลักร้อยต่อเนื่องมามากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ท่ามกลางเสียงสะท้อนถึงความเดือดร้อนที่ดังขึ้นเรื่อยๆ จากคนในพื้นที่

“ปิดมาเดือนกว่า ยอดขึ้นเป็นดอกเห็ด แสดงว่าที่บริหารกันอยู่มันไม่มีประสิทธิภาพ แล้วคุณยังมาผลักภาระให้ประชาชนอีก ถ้าจะปิดภูเก็ตต่อ มันต้องมีทางออกไม่ใช่ปิดไปเรื่อยๆ แบบนี้ ผู้ประกอบการเล็กใหญ่ตายๆ กันหมด...”

“จะกินแทบจะไม่มีกินยังต้องมาเสียค่าตรวจอีก ตรวจที 500-600 ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากเข้าหรอก”

“ห่วงแต่แซนด์บ็อกซ์ ไม่ช่วยเหลือ ไม่เยียวยาคนในภูเก็ตด้วยใจ”

ส่วนหนึ่งของความเห็นในโลกออนไลน์ของประชาชนในภูเก็ต หลังจากจังหวัดประกาศคงมาตรการปิดเกาะต่อแต่เปิดรับนักท่องเที่ยวในประเทศแบบมีเงื่อนไข ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนมองว่าไม่ใช่ทางรอดของเกาะภูเก็ต เพราะปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่การเดินทางเข้า-ออกทางบก แต่ยังมีเรือประมงเข้า-ออก มีการแอบลักลอบขนย้ายแรงงานอยู่ แรงงานมีการหลบหนีเพราะกลัวโดนจับ

อุดร ทวีเมือง ผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การปิดเกาะไม่ใช่ทางรอดแต่เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน เนื่องจากภูเก็ตไม่ใช่ผู้สร้างแต่เป็นผู้ซื้อแทบทุกสิ่ง ยิ่งจะทำให้การใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพยากลำบากขึ้น จึงสมควรจะเปิดได้แล้ว เพราะคงไม่หนักไปกว่านี้แล้ว แต่ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้พร้อมกับการสนับสนุนและจัดสรรเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เพียงพอกับการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

“ทางรอดคือการเร่งการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต กระจายชุดตรวจเชื้อฟรีอย่างทั่วถึง เพราะเป็นสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน กระจายอำนาจการจัดการสาธารณะสุขในท้องที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดให้ทำมาหากินอย่างปลอดภัย สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาโรคที่ถูกต้องกับประชาชน แทนที่จะสร้างความกลัวด้วยมาตรการของรัฐ ดีกว่าเอางบประมาณไปแจก 2,500 บาทต่อเดือน เมื่อเขาทำมาหากินได้เดี๋ยวเขาก็หาเงินได้เอง ส่วนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในประเทศนั้นถือว่าโอเคในแง่ของเศรษฐกิจ แต่ถ้าความสามารถในการกระจายวัคซีนยังไม่ดีพอแล้วเกิดปัญหาขึ้นอีก จะสร้างความขัดแย้งกับคนในพื้นที่อีก เพราะคนในธุรกิจท่องเที่ยวย่อมบอกว่าดี แต่คนที่ไม่เกี่ยวก็จะมองว่าเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด เกิดการระแวงกันไปหมด สุดท้ายก็จะเป็นการเอาตัวรองทางนโยบาย แต่ไม่รอดในทางปฏิบัติ”

เช่นเดียวกับ พิรัช เอกศิลป์ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่มองว่าเป็นความล้มเหลวของฝ่ายบริหารของจังหวัดภูเก็ต เพราะไม่เพียงมาตรการที่ออกมายังไม่ตรงเป้าหมายและถูกจุดแล้ว ยังสร้างความลำบากให้กับประชาชนทั้งในเรื่องการเดินทางและเงินในกระเป๋า

“ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิดเอง ซึ่งสวนกระแสกับรายได้ในปัจจุบันและขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ การเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดก็เป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ทางจังหวัดต้องมีมาตรการที่ดูแลคัดกรองคนที่เข้ามาแบบเข้มข้น แต่ถ้ายังไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลควบคุมได้ ก็ยังไม่ควรเปิดก่อนเพราะจะทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ยากขึ้นไปอีก”

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของจังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 241 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 5,495 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย.) โดยมาจากการตรวจเชิงรุกคลัสเตอร์แรงงานพม่า ขณะที่โครงการแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 28,931 คน คัดกรองพบเชื้อ 88 คน ยอดจองห้องพักในระบบ SHA+ เดือนก.ค.-ก.ย. 487,799 คืน โดยสถิติการจองของเดือนส.ค.ลดลงจากก.ค. 2 เปอร์เซ็นต์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดและภายในประเทศ ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อแผนการเดินทางไม่ว่าจะการจำกัดการเดินทางภายในประเทศหรือความลำบากในการเข้าจังหวัดภูเก็ตของครอบครัวนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ มีส่วนต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย เมื่อมีนักท่องเที่ยวหลายคนเริ่มตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนผ่านกลุ่มแซนด์บ็อกซ์

เรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละ 200 กว่าคนถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร ไม่ใช่แค่ความกังวลที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในสายตานักท่องเที่ยว แต่หมายถึงความปลอดภัยและความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย เพราะฉะนั้นประชาชนควรจะต้องได้รับวัคซีนเข็ม 3 ให้เร็วที่สุด

“ต้องยอมรับว่าโควิดคงไม่หายไปจากโลกนี้ เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ทางรอดตอนนี้คือต้องรีบฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนเท่านั้น เราตั้งใจว่าหากทางรัฐบาลจัดสรรมาให้ไม่ครบตามจำนวนที่ทางจังหวัดต้องการ อบจ.ภูเก็ตพร้อมจะจัดหามาเติมในส่วนที่เหลือ เช่น สมมุติจังหวัดขอไป 4 แสนโดส รัฐบาลจัดสรรมาให้แค่ 3 แสนอีก 1 แสนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องไปเติมให้เต็ม”

ทั้งนี้ตามนโยบายของรัฐบาล อบจ. สามารถจัดหาวัคซีนผ่าน 5 หน่วนงานคือ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งนายกอบจ.ภูเก็ต เผยว่าที่ผ่านมาได้มีการติดต่อไปทางองค์การเภสัชกรรม เพื่อขอจัดซื้อวัคซีนสมทบให้กับคนภูเก็ต แต่จำนวนเท่าไหร่ยังตอบไม่ได้ ต้องรอการจัดสรรจากทางรัฐบาลก่อน ส่วนเรื่องงบประมาณไม่มีปัญหา นอกจากนี้ยังเตรียมหาทางออกเรื่องการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยลดภาระของประชาชน

“ผมเห็นใจพี่น้องประชาชนที่ต้องเสียเงินตรวจเพื่อเข้าภูเก็ต และอยากจะช่วยแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ แต่ติดเงื่อนไขอยู่พอสมควร ผมพยายามจะหารือกับผู้ว่าฯ ในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เป็นภาระของพี่น้องประชาชน แต่ยังมีความจำเป็นต้อง swab ตามมาตรการคัดกรองคนเข้า-ออกจังหวัด ตอนนี้ราคาเริ่มลดลงแล้ว และน่าจะมีทางออกที่มีดีขึ้น”

ก่อนหน้านี้ อบจ.ภูเก็ต ได้อนุมัติงบ 21.13 ล้านบาท เพื่อยกระดับการรับมือโควิด-19 ของโรงพยาบาลอบจ. ด้วยการปรับปรุงห้องความดันลบ ห้อง ICU ห้องฉุกเฉิน รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีความทันสมัยเหมาะแก่การใช้งาน และเพิ่มคลีนิคคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI Clinic) เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 เป็นต้น นอกเหนือจากการดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีน ลุยตรวจเชื้อโควิดเชิงรุกและฉีดพ่นทำความสะอาดพื้นที่เสี่ยง

“เราทำตรงนี้เพื่อมาสอดรับเรื่องโควิดและช่วยแบ่งเบาภาระของรพ.รัฐ เช่น คลินิค swab ที่ไม่มีต้องทำกันกลางแจ้งอาจไม่เหมาะ ควรจะมีห้องเป็นการภายใน หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่มันล้าสมัยแล้วต้องปรับปรุงให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิน 3 เดือนทุกอย่างทั้งภายนอกภายในรวมถึงภูมิทัศน์น่าจะเรียบร้อยหมด”

นอกจากด้านสาธารณสุขแล้ว นายกอบจ.ภูเก็ต ยืนยันว่า การพัฒนาเมืองหลังโควิดจางลงก็เป็นสิ่งที่ต้องคิดควบคู่กันไปด้วย หนึ่งในนั้นคือโครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กใหม่ของภูเก็ต สกายวอล์กที่เขาแดงและระเบียงกระจกที่หาดสุรินทร์ แต่ตอนนี้ชีวิตประชาชนสำคัญที่สุด

“ฉีดบูทเข็ม 3 อย่างเดียวอย่างอื่นไม่ต้องไปคิดอะไรแล้ว เอาชีวิตประชาชนก่อน” นายกเรวัต ย้ำทิ้งท้าย