ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงพื้นที่อยุธยาเยี่ยมชม “ศูนย์พักใจ เกาะเรียนไม่ทิ้งกัน” ผนวกพลัง 3 ตำบล ร่วมให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในระบบ HI-CI จัดสิ่งอำนวยความสะดวก-วางมาตรการความปลอดภัย-ดูแลที่ครอบคลุม วางระบบดูแลส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเท่าทัน

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์พักคอยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในการจัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน และการประสานจัดการหาเตียงในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI)

นายวรากร ดวงจิตร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.เกาะเรียน เปิดเผยว่า บ้านพักส่วนใหญ่ในพื้นที่มีลักษณะเป็นบ้านไม้ ไม่ได้เป็นห้องเปิดโล่ง มีห้องน้ำห้องเดียว ส่งผลให้เป็นเรื่องยากในการแยกตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือทำการรักษาผู้ป่วยด้วยระบบ HI ฉะนั้นการมีศูนย์พักคอย หรือ CI เข้ามารองรับผู้ป่วยที่บ้านพักไม่พร้อม จะช่วยให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับการจัดตั้งศูนย์พักคอย “ศูนย์พักใจ เกาะเรียนไม่ทิ้งกัน” ที่ ต.เกาะเรียน ใช้พื้นที่โรงเรียน ซึ่งเป็นอาคาร 4 ชั้น ทำให้สามารถแบ่งพื้นที่สำหรับผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) แล้วมีผลเป็นบวก และต้องรอตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง โดยปกติแล้วจะใช้เวลาร่วม 2 วัน ฉะนั้นหากไม่มีศูนย์ที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK ผู้ป่วยก็จะต้องอยู่บ้านต่อไป นั่นหมายถึงการเพิ่มโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้

นายศักราช อัมวงษ์ นายก อบต.เกาะเรียน กล่าวว่า อบต.เกาะเรียน ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอย “ศูนย์พักใจ เกาะเรียนไม่ทิ้งกัน” เพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.เกาะเรียน ต.บ้านรุน และ ต.คลองสวนพลู ด้วยความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดช่างทอง โรงเรียนวัดช่างทอง กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และชุมชน

“ศูนย์พักคอยแห่งนี้จะรองรับประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ที่ได้รับผลการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ไม่พร้อมที่จะดูแลตัวเองที่บ้าน โดยสามารถแจ้งผ่าน รพ.สต. ในพื้นที่ จากนั้นจะมีทีม SCOTT อบต.เกาะเรียนเข้าไปรับผู้ป่วยมารักษาตัวยังหอประชุมโรงเรียนวัดช่างทอง” นายศักราช กล่าว

สำหรับการจัดเตรียมสถานที่ได้แบ่งอาคารเรียนออกเป็นโซน 4 โซนตามชั้น โดยชั้นที่ 1 เตรียมไว้ สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่ผลตรวจ ATK เป็นบวก จำนวน 60 เตียง ชั้นที่ 2 สำหรับผู้ติดเชื้อเพศหญิง จำนวน 24 เตียง ชั้นที่ 3 สำหรับผู้ติดเชื้อหญิง 24 เตียง ชั้นที่ 4 สำหรับผู้ติดเชื้อเพศชาย จำนวน 24 เตียง รวม 131 เตียง

“ในส่วนของผู้ป่วยได้มีการเตรียมถุงยังชีพเพื่อการดำเนินชีวิตในศูนย์พักคอย และของใช้พื้นฐานที่จำเป็น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมีอาหาร 3 มื้อ น้ำดื่ม ชา กาแฟ รวมถึงการเฝ้าระวังสังเกตอาการถ้าผู้ป่วยเข้าสู่อาการสีเหลือง โดยมี รพ.สต. เป็นผู้ประเมิน ตรวจวัดค่าออกซิเจน เมื่อประเมินเสร็จสิ้นก็จะมีการส่งต่อไปที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา” นายศักราช กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บริเวณข้างๆ รพ.สต.เกาะเรียน มีการปรับอาคารเรียนให้เป็น Community isolation โดยมีการสนับสนุนจากท้องถิ่น และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาล ส่วนตัวคิดว่ารูปแบบดังกล่าวเป็นรูปแบบที่น่าสนใจในการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งชุมชนหรือพื้นที่ลักษณะนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะจะใช้ รพ.สต.เป็นหน่วยนำในการดำเนินการ

นอกจากนี้ รพ.สต. แห่งนี้ยังมีการจัดบริการยา เช่น ฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยายืนยันได้ว่าการให้ยาเร็วช่วยทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มเปลี่ยนอาการเป็นเหลือง-แดง ลดลง

ทั้งนี้ รพ.สต. ซึ่งมีอยู่มากกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ นับเป็นกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่นอกเขตเมือง โดยล รพ.สต. มีศักยภาพที่จะเป็นหน่วยสำหรับคัดกรองผู้ป่วยได้ การมีชุดตรวจอย่างรวดเร็วที่สามารถทำได้ใน รพ.สต. ทั่วประเทศ จะทำให้มีพลังในการตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศโดยไม่จำเป็นต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล

“ปีที่แล้วเราใช้ อสม. แต่วันนี้เรามี ATK เป็นเครื่องมือใหม่ โดยใช้ รพ.สต. และมีโรงพยาบาลเป็นพี่เลี้ยง ผมเชื่อว่าในบทบาทนี้โดยลักษณะของประเทศไทยที่มีพื้นฐานบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ก็เชื่อว่าแม้ในระลอกใหม่ หรือมีเหตุการณ์ใดๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นเราก็สามารถรับมือได้” นพ.จเด็จ กล่าว

พร้อมกันนี้ เลขาธิการ สปสช. และคณะ ยังได้ร่วมกันมอบถุงน้ำใจพึ่งพา (Help Me Bag) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รวม 110 ถุง ซึ่งประกอบด้วย เครื่องอุปโภคบริโภค ยาฟ้าทะลายโจร ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และชุดสิ่งของจำเป็น ให้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่กักตัว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org