ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดล ร่วมมือกับ University of London สหราชอาณาจักร คิดค้นและพัฒนา "LangArchive-TH" คลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่ชุมชนเข้าถึงได้ง่ายและสามารถบรรจุข้อมูลเพิ่มได้เอง

วันที่ 16 พฤศจิกายน ของทุกปี UNESCO ได้จัดตั้งเป็น "วันพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก" โดย Michael E. Krauss นักภาษาศาสตร์โลกชาวอเมริกัน (ค.ศ.1934 - 2019) ได้คาดคะเนเอาไว้ว่า จากภาษาทั่วโลกมีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันประมาณ 6,000 ภาษา จะมีถึงร้อยละ 90 ที่ต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤต หรือสูญสิ้นได้ หากไม่ใส่ใจส่งต่อสู่รุ่นลูกหลานภายในศตวรรษนี้ ในจำนวนนี้รวมถึง "กลุ่มชาติพันธุ์" ในประเทศไทยด้วย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดกว่า 70 กลุ่มที่ยังขาดการสืบทอดอนุรักษ์กันอย่างจริงจัง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และการคลัง ในฐานะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์เพื่อการพัฒนาสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในขณะที่ภาษาสากลซึ่งเป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันทั่วโลกยังคงเป็นภาษาอังกฤษมากที่สุด และภาษาจีนซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับพบว่า ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ กำลังจะจมหายไปกับยุคสมัย 

เนื่องจากขาดการตระหนักในความสำคัญของการสืบทอดสู่รุ่นลูกหลาน มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยเพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งตนได้อยู่ในทีมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ 

โดยได้ทุ่มเทเวลากว่า 2 ทศวรรษมุ่งชุบชีวิตภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ฟื้นคืนมา เพื่อมอบเป็นมรดกสู่รุ่นลูกหลาน โดยได้ระดมคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของสถาบันฯ ลงพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศไทย เก็บข้อมูลในรูปแบบแอนะล็อก (analog) ซึ่งครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมาถึงปัจจุบันเพื่อให้สามารถก้าวทันโลกยุคใหม่ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร จึงได้ร่วมกับ Endangered Languages Archive (ELAR), SOAS University of London ด้วยทุนสนับสนุนจาก Newton Fund สหราชอาณาจักร และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) นำข้อมูลแอนะล็อก (analog) ที่ได้จากการลงพื้นที่ชุมชนเก็บไว้จากการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่สมัยที่ร่วมทีมวิจัยกับอดีตผู้อำนวยการสถาบันฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ มาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นข้อมูลดิจิทัล (digital) ภายใต้ชื่อนวัตกรรม "LangArchive-TH" ซึ่งเป็นคลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ และรวบรวมข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

"LangArchive-TH" เป็นคลังข้อมูลดิจิทัลที่ครบครันด้วยสื่อซึ่งสามารถเข้าชมได้ในรูปแบบวีดีโอ เอกสาร ไฟล์เสียง และรูปภาพ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร เป็นหัวหน้าโครงการฯ และร่วมกับทีมวิจัยถ่ายทอดความรู้สู่นักวิชาการในพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในเบื้องต้นประกอบด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่รวบรวมไว้สำหรับการสืบค้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาไว้มากถึง 18 กลุ่ม

โดยผู้เข้าชมจะได้เต็มอิ่มกับความรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมจากประสบการณ์ตรงของชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่หาดูได้ยาก และมากด้วยคุณค่า ในรูปแบบของเรื่องเล่า นิทาน เพลง การละเล่น รวมทั้งได้มีการแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี พิธีกรรม สมุนไพรพื้นบ้านน่ารู้ รวมทั้งคำศัพท์ และระบบเขียนภาษาท้องถิ่นอักษรไทยของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อการต่อยอดศึกษาวิจัยทางด้านภาษาและวัฒนธรรมต่อไป

ซึ่งจากการบอกเล่าของชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยได้แสดงถึงมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษไว้ได้อย่างน่าติดตาม แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณเตือนไม่ให้ลูกหลานทอดทิ้ง "ขุมทรัพย์อันล้ำค่า" ทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งกำลังจะสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย ตัวอย่างจากการนำเสนอนิทานเรื่อง "พระขันทองกับนางเกสร" ซึ่งเป็นนิทานของชาว "ชอุง" ที่ผู้บอกเล่าฟังมาจากพ่อแม่สมัยเด็ก สมัยที่พ่อแม่เล่าให้ฟังจะมีเสียงเอื้อน แต่ปัจจุบันผู้บอกเล่าไม่สามารถเอื้อนได้ เป็นต้น

จากผลงานนวัตกรรมที่สามารถสร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลแก่การสืบทอดมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือน "มรดกของโลก" ที่เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล และตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDGs4 ซึ่งว่าด้วยการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) และ SDGs10 ซึ่งว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) นี้ส่งผลให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร สามารถคว้า รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาสังคมวิทยา ประจำปีงบประมาณ 2564 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ไปได้อย่างภาคภูมิ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วย platform ของนวัตกรรม "LangArchive-TH" ที่ได้ริเริ่มขึ้นนี้ มั่นใจว่าจะสามารถใช้รองรับสู่การพัฒนาเป็น "Big Data" หรือคลังข้อมูลขนาดใหญ่ทางภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยที่ครอบคลุมให้ได้มากที่สุดต่อไปในอนาคต ติดตามได้ทาง https://langarchive-th.org/