ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ประชุมติดตามผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาเข้าไทย ทั้งเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำรวม 782 ราย ชี้ก่อนเข้ามีการตรวจเชื้อ ปฏิบัติตามมาตรการสกัดโควิด "โอไมครอน" หลายอย่าง ขอปชช.อย่าวิตก  ขณะที่ข้อมูลผู้เดินทางเข้าไทยระบบ Test & Go  5,598 ราย พบติดเชื้อ 3 ราย  ถือว่าน้อยมาก หนำซ้ำพบป่วยเข้ารพ.รักษาสกัดหลุดเข้าประเทศทันท่วงที

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 ธ.ค.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค และภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวการเฝ้าระวังติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศที่มาจากพื้นที่เสี่ยง สกัดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ว่า  สำหรับประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอนเบื้องต้นพบในแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย บอสซาวานา โมซัมบิก ซิมบักเว นามิเบีย  มาลาวี เอสวาทินิ เลโวโท และยังมีทวีปอื่นๆ อย่างบราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกอง  UK  ตูรกี เยอรมนี สเปน อิตาลี เนเธอแลนด์ เป็นต้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

กรณีที่มีข่าวในสื่อมวลชนจนทำให้วิตกกังวลว่า มีผู้เดินทางกลุ่มเสี่ยงสูงเข้ามาประเทศไทย อย่างไรก็ตาม  สำหรับข้อมูลผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 15- 27 พ.ย. และ 5 ธ.ค.2564  แบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศ เดินทางเข้ามาวันที่ 15-30 พ.ย.2564 มีจำนวน 252 คนในกลุ่มแซนด์บ็อกซ์  และกลุ่มเสี่ยงต่ำที่เดินทางเข้ามาวันที่ 15 พ.ย. -5 ธ.ค.จากประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา 452 คน ซึ่งเป็นทั้งกลุ่มแซนด์บ็อกซ์และสถานที่กักกัน โดยรวมทั้งสองกลุ่มจำนวน 782 คน 

ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคฯ กล่าวอีกว่า  หลายท่านกังวลว่า กลุ่มเดินทางเหล่านี้ไปที่ไหนบ้าง ขอเรียนว่า ผู้ที่เดินทางเข้ามาก่อนมาต้องมีการตรวจเชื้อเป็นลบก่อน และเมื่อมาถึงวันแรกก็ต้องผลเป็นลบ หากเป็นบวกต้องเข้ารพ. ส่วนคนที่อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ครบเวลา 7 วัน ก่อนจะไปพื้นที่อื่นก็ต้องตรวจ ATK ว่าไม่พบเชื้อ อย่างน้อยๆตรวจ 3 ครั้ง ก่อนมาและมาถึงประเทศเรา อย่างไรก็ตาม เราแจ้งเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่มาจาก 8 ประเทศ นับตั้งแต่วันเข้าประเทศจนถึง 14 วัน จะขอตรวจ RT-PCR ก่อนอีกครั้งประมาณวันที่ 12 หรือ 13 ของการเข้าประเทศ แต่คนเหล่านี้เขาได้ฉีดวัคซีนมาแล้ว ก็ลดความเสี่ยงไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น ขอให้อย่าวิตกกังวลเกินไป 

"ในวันนี้(2 ธ.ค.) คณะทำงานของกรมควบคุมโรคจะมีการประชุมว่า มีการติดตามติดต่อแล้วเท่าไหร่ อย่างไร เนื่องจากต้องยืนยันข้อมูลอีกครั้ง " นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่า มาตรการในส่วน 8 ประเทศนั้น เราไม่ได้ให้ขอไทยแลนด์ พาส  (Thailand Pass)  เข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2564  แต่คนที่ขอก่อนอาจมีบ้าง แต่นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 จะไม่มีแล้ว และคนที่เดินทางเข้ามาก็เข้าสู่มาตรการควบคุมกักตัวจนครบ 14 วัน ส่วนจุดที่เป็นการติดตามคนที่เดินทางมาก่อนหน้านั้น หากเดินทางมาตั้งแต่ต้นเดือนผ่านเวลา 14 วัน ก็ค่อนข้างมั่นใจได้ แม้เชื้อโควิดจะบอกว่า ระยะฟักตัวอาจอยู่ 2-14 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็น 5-7 วัน มีอาการเริ่มป่วย หากเกิน 7 วันไปแล้วก็ค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจมีได้ แต่ไม่ควรกังวลเกินไป เพราะเรามีมาตรการวัคซีน มาตรการป้องกันส่วนบุคคล หากยกการ์ดสูงก็ช่วยได้ 

สำหรับการเดินทางตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.2564  Test & Go จำนวน 106,211 คน Sandbox จำนวน 21,438 คน Quarantine 7 วันจำนวน 1,743 คน  Quarantine 10 วันจำนวน 3,654 คน  และ Quarantine 14 วัน จำนวน 15 คน  ส่วนผลการดำเนินงานรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยาน ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564  พบว่า ในส่วน Test & Go มี 5,598 ราย พบติดเชื้อ 3 ราย ซึ่งอัตราการติดเชื้อ 0.05% เป็นตัวเลขต่ำมาก แต่หากมองภาพรวมทั้งหมดเข้ามา 6,291 ราย ติดเชื้อ 9 ราย

ขณะที่ประเทศต้นทางที่เข้ามามาก 10 อันดับแรก (ข้อมูล 1 ธ.ค.) โรมาเนีย สหรัฐ เกาหลีใต้ เยอรมนี สหาราชอาณาจักร สิงคโปร์ สวีเดน ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ ขณะที่อัตราการติดเชื้อแยกผู้เดินทางเข้ามาจากประเทศต้นทาง (ข้อมูล 1 ธ.ค.) พบมัลดีฟส์ รัสเซีย กัมพูชา สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org