ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังเกิดคลื่นลูกใหม่กลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างสายพันธุ์ “โอมิครอน” หรือ “โอไมครอน” (Omicron) ซึ่งทำให้สถานการณ์การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ จึงไม่สามารถระบุการแพร่กระจายเชื้อ หรืออาการของเชื้ออย่างชัดเจนได้ เพราะต้องใช้การรวบรวมข้อมูล ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จากหลายแหล่งมาพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนก่อน

แต่ด้วยสถานการณ์เร่งด่วนนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดกรณีการส่งต่อข้อมูลของ “เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ว่าติดง่าย แต่ไม่ทำให้มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เพราะเชื้อไม่ลงปอด” ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้น มีข้อมูลที่บิดเบือนอยู่พอสมควร

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 มหิดล แชนเนล ได้จัดไลฟ์สด พูดคุยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดย ผศ.ดร.นพ.ปวิน นำธวัช อาจารย์ประจำภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

ผศ.ดร.นพ.ปวิน ให้ข้อมูลว่า มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า จุดที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ชอบเข้าไปเกาะอยู่ตามอวัยวะภายในร่างกายคือตรงบริเวณไหนบ้าง ซึ่งหากเป็นเชื้อตัวเดิม เช่น สายพันธุ์เดลตา จะชอบอยู่ในเนื้อเยื้อของปอด ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมักมีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับปอดอักเสบหรือออกซิเจน ทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตได้

ในส่วนของสายพันธุ์โอมิครอนนั้น มีงานวิจัยระบุว่า เชื้ออาจจะไม่ได้ชอบอยู่ในบริเวณเนื้อปอด แต่มักจะพบในหลอดลมมากกว่า อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวยังเป็นงานวิจัยเล็ก ๆ ซึ่งยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 

แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักอีกระลอก หากนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาประกอบกับอัตราการเสียชีวิตหรืออัตราการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่พบว่า ลดลง จึงทำให้คาดได้ว่าเชื่อไวรัสมีแนวโน้มที่จะมีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง หรือเชื้อไม่ลงปอดนั้นมีความเป็นไปได้ 

ทั้งนี้ถึงแม้ข้อมูลนี้จะพบว่ามีความเป็นไปได้ แต่ผศ.ดร.นพ.ปวิน ยังกล่าวย้ำว่า ยังมีโอกาสที่เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะสามารถลงสู่ปอดได้เช่นกัน ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวเองให้ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นความเชื่อที่ว่า เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแล้ว แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงนั้นอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน 100% หากโชคร้ายเชื้อลงสู่ปอด ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นปอดอักเสบ หรือมีโอกาสเสียชีวิตได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงมากทีเดียว

ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ด้วยเช่นกันว่า จากการติดตามรายงานการศึกษาในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยฮ่องกง พบว่า สายพันธุ์โอมิครอนจะติดเชื้อและเพิ่มจำนวนในเซลล์ทางเดินหายใจได้ในระดับหลอดลม ซึ่งเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาประมาณ 70 เท่า! แต่ที่เซลล์เนื้อปอดกลับเพิ่มจำนวนได้ช้ากว่า 

นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมสายพันธุ์โอมิครอนถึงแพร่กระจายได้เร็ว เพราะเชื้อจะชุกชุมอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้สามารถแพร่กระจายไปยังผู้คนรอบข้างได้ง่าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการไม่หนักมาก แต่ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่เชื้อลงสู่ปอดได้ การฉีดวัคซีนจึงยังเป็นประโยชน์ และไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายพันธุ์ใด การใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างกับผู้อื่น ยังป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลที่มีเนื้อหาบิดเบือน