ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลประชุมคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมพิจารณายกร่างแนวปฏิบัติเภสัชกรเจาะเลือดผู้มารับบริการ สร้างความเข้าใจ ลดความกังวลสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง  เตรียมเปิดตัว Real time application อำนวยความสะดวกเภสัชฯ และประชาชนผู้ใช้บริการ ร้านยาไหนคุณภาพ พร้อมใช้อีก 3 เดือน

เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา  ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ โฆษกสภาเภสัชกรรม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม ครั้งที่ 320 (2/2565)  ผ่านเฟซบุ๊กสภาเภสัชกรรม ว่า   ที่ประชุมได้มีการพิจารณาหลายประเด็น โดยหลักประกอบด้วย สภาเภสัชกรรมได้อนุมัติวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม  สาขาเภสัชบำบัด เฉพาะทางด้านกุมารเวชกรรม / เฉพาะทางด้านโรคมะเร็งทาง ทั้งนี้ สภาเภสัชกรรม ได้รับอนุมัติโครงการวิจัย “การศึกษาและทบทวนการจัดซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพของรัฐเพื่อการเตรียมพร้อมรับในภาวะฉุกเฉินด้านโรคและสุขภาพของประเทศไทย” จาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)  ซึ่งสภาเห็นว่า ประเด็นนี้สำคัญในการเสริมความมั่นคงด้านยา จึงได้รับโครงการวิจัยนี้มาเพื่อศึกษาวิจัยต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาการประชุมสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทยและภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจะเจาะเลือดผู้มารับบริการ เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาการใช้ยา  ซึ่งก็มีวิชาชีพข้างเคียงอาจไม่สบายใจ เรื่องความไม่ชัดเจนข้อบังคับดังกล่าว

ดังนั้น   สภาเภสัชกรรมจะจัดทำแนวปฏิบัติของเภสัชกร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามข้อบังคับฯ และลดความกังวลใจของสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยคณะอนุฯกฎหมาย จะดำเนินการยกร่างแนวปฏิบัติดังกล่าว เสนอ ที่ประชุมกรรมการสภาฯในครั้งต่อไป รวมทั้งจะมีการสื่อสารรับฟังความเห็นจาก สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ชี้หนังสือถึงสภาเภสัชฯ หารือ ‘เจาะเลือดปลายนิ้ว’ ไม่ชวนทะเลาะ แต่ทำให้ถูกต้อง-ชัดเจน)

ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ โฆษกสภาเภสัชกรรม

 

ภก.วราวุธ ยังกล่าวถึงประเด็นเภสัชกรที่ต้องเก็บหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง ว่า สำหรับผู้ที่หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องไม่เป็นไปตามเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่อง สภาเภสัชกรรมกำลังช่วยอำนวยความสะดวกให้สมาชิกที่มีหน่วยกิต CPE หรือศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์  ไม่ครบตามเกณฑ์ จำนวน 4,268 ราย ด้วยการประกาศวิธีการเก็บหน่วยกิตชดเชย ให้ครบตามเกณฑ์ได้ 3 วิธี คือ การประชุมวิชาการ จัดโดยสถาบันหลักหรือหน่วยงานในเครือข่าย, การสัมมนาออนไลน์ (Webinar) จัดโดยสถาบันหลักหรือหน่วยงานในเครือข่าย และการสอบความรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

"นอกจากนี้ สภาฯ ยังดำเนินการเรื่อง Real time application ซึ่งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเข้าถึงข้อมูลของเภสัชกรชุมชนในสถานที่ขายยา เพื่อตอบสนองสิทธิผู้บริโภค อีกทั้ง ยังต่อขยาย เพื่อรองรับการทำ Telepharmacy ในอนาคต" โฆษกสภาเภสัชกรรม กล่าว

ด้าน ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าวว่า   Real time application   จะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่เภสัชกรที่เป็นสมาชิก ทั้งสินเชื่อ การรักษาพยาบาล ที่พักโรงแรม ส่วนลดต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญในแอปฯ ยังสามารถเรียนรู้หน่วยกิต CPE ส่วนเภสัชกรชุมชนที่มีร้านอยู่ก็สามารถใช้แอปฯนี้ได้ เพื่อให้แจ้งรายละเอียดต่างๆของร้านยา รวมทั้งประชาชนยังสามารถใช้แอปฯนี้ได้ เพื่อให้ทราบว่า จุดที่เราอยู่มีร้านยาที่ใกล้กี่แห่ง และมีเภสัชกรประจำร้านยาอยู่หรือไม่ อีกทั้ง ยังทราบว่าร้านยาไหนเข้าร่วมกับ สปสช. เป็นร้ายาคุณภาพหรือไม่ ซึ่งประชาชนยังสามารถให้คะแนนร้านยาภายหลังรับบริการด้วย รวมทั้งในอนาคตแอปฯจะเชื่อมต่อระบบเทเลเมดิซีน คาดการณ์ว่าแอปพลิเคชันนี้จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

เปิดรายชื่อกรรมการสภาเภสัชกรรมชุดใหม่ วาระ 10 “ภก.กิตติ” นั่งนายกสภาฯ

สภาเภสัชกรรมชุดใหม่ เดินหน้าผลักดันอัตรากำลัง “เภสัชกร” ต้องสอดคล้องภาระงานจริง..

สภาเภสัชกรรม ชูเทคโนโลยีคุ้มครองปชช. Real Time Pharmacist  เช็กเภสัชฯประจำร้านยา

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org