ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง หลังครบ 1 ปี เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยมีอาจารย์อุดมโชค ชูรัตน์ ประธานมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย  ให้การต้อนรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการฯ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ทำงานร่วมกับเครือข่ายคนพิการเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขสำหรับคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับข้อเสนอเชิงนโยบายในการเปิดให้องค์กรเครือข่ายคนพิการเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการ เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ตลอดจนตระหนักต่อการเป็นเจ้าของระบบ และร่วมกันพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ยั่งยืนมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่

ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) จึงมีมติในปี 2562 เห็นชอบให้ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้การรับรอง และสถานบริการอื่นที่เข้าเกณฑ์ของ สปสช. เข้าร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า หลังจากบอร์ดสปสช. มีมติแล้ว ก็มีการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ เช่น การกำหนดเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ การกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ ( Independent Living : IL ) สำหรับศูนย์บริการคนพิการทั่วไป การกำหนดมาตรฐานบริการการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ การยกร่างหลักสูตรผู้ให้บริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ (IL Instructor) และจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างวิทยากร ( TOT )     ในหลักสูตร ดังกล่าวแก่แกนนำคนพิการที่มีประสบการณ์ ฯลฯ

จนในที่สุดในวันที่ 1 ม.ค 2564 ก็มีการขึ้นทะเบียนศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการนำร่องใน 3 จังหวัดแรก คือที่ จ.นนทบุรี จ.ชลบุรี และ จ.ปทุมธานี ให้เป็นหน่วยบริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเภทหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ก็เป็น 1 ใน 3 ของศูนย์ฯนำร่องดังกล่าวนั่นเอง

ทั้งนี้ ประเทศไทย  มีคนพิการทั่วประเทศ มีประมาณ 2ล้านคน (ข้อมูลจากกระทรวงพม.) และ มีศูนย์ IL  10 แห่ง และผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว 4 แห่ง   และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมการขึ้นทะเบียนอีก


 
ด้านอาจารย์อุดมโชค ชูรัตน์ ประธานมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย กล่าวถึงช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังจากเข้ามาเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้ทำหน้าที่ให้บริการคนพิการในหลายๆด้าน ทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารและประสานส่งต่อ ให้คำปรึกษาฉันเพื่อน บริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ การบริการผู้ช่วยคนพิการและพิทักษ์สิทธิคนพิการ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการจัดอบรมทีม IL instructor ไปแล้ว 1 รุ่น  มีการประชุมออนไลน์ทีมทุกสัปดาห์และลงพื้นที่เยี่ยมคนพิการใน4 อำเภอ คือ พนัสนิคม บ่อทอง ศรีราชา บางละมุง รวมกว่า 20 คน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดบริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการไปแล้วจำนวน 3 คน และจะเริ่มในปี 2565 อีก 3 คน นอกจากนี้ ยังให้บริการด้านอื่นๆ ทั้งการประชาสัมพันธ์สิทธิการรักษาพยาบาล ท.74 ให้กับคนพิการในพื้นที่ จัดบริการผู้ช่วยคนพิการจำนวน 18 คน เพื่อดูแลคนพิการจำนวน 30 คน  ตลอดจนจัดบริการตามภารกิจอื่นๆ ของศูนย์บริการคนพิการทั่วไปอีก 20 คน

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย ลงเยี่ยมบ้านนายทยากร ธนารัตนอังกูร ซึ่งได้รับการอบรมจากศูนย์ ฯ ปัจจุบันจบหลักสูตรแล้ว และใช้ชีวิตในสังคม  มีงานทำ  มีรายได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว. ตนรู้สึกดีใจมากที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ครอบครัว แต่ยอมรับว่าใช้เวลานานมากกว่าจะตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตเพราะตอนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงนั้น จิตใจรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย ทุกอย่างมันน่าเบื่อมาก จนได้มีโอการเข้ามาเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆในศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ทำให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น ต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำลังใจจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก ที่เป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org