ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พญ.มิ่งขวัญ อธิบายสาเหตุอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 เผย อาจมีความเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนได้ ย้ำ มีความเป็นไปได้หลายทาง 

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวผู้ป่วยรายหนึ่งร้องต่อสื่อมวลชนว่า มีผื่นคันขึ้นตามแขน ขา ลำตัว และใบหน้า หลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ก็ยังมีอาการคันทั่วร่างกาย มีสะเก็ดขึ้นตามศรีษะและผมร่วง เบื้องต้นเข้าพบแพทย์ และได้รับการวินิฉัยว่า อาจเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 และส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล แต่อาการดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น 

ผู้ป่วยรายนี้กินยาบรรเทาอาการตามสภาพนานกว่า 8 เดือนแล้ว จึงเข้าไปสอบถามกับหน่วยงานสาธารณสุขที่รับผิดชอบอีกครั้งถึง สาเหตุอาการผื่นคันที่ยังไม่ดีขึ้น ก็ได้รับคำตอบว่า สาเหตุของอาการคงไม่ใช่ผลข้างเคียงจากวัคซีน เนื่องจากได้รับวัคซีนเข้าร่างกายมานานกว่า 8 เดือนแล้ว

หลังจากที่เนื้อหานี้เผยแพร่ออกไป มีผู้ป่วยหลายรายมาร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า มีอาการผื่นคันหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 และต้องกินยาบรรเทาอาการมาเป็นเวลามากกว่า 4 เดือนแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นเช่นกัน

ซึ่งประเด็นนี้สร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีน เพราะส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน กังวลว่า เมื่อไรจะหายขาด และกลัวว่าจะไม่มีหน่วยงานมาช่วยรับผิดชอบ อยากให้ช่วยรักษาอย่างเต็มที่ไม่ผลักภาระ 

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ได้ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ถึงประเด็นนี่ว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน ดังนี้

อาการไม่พึงประสงค์ทางผิวหนังหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถพบได้ และมีอาการได้หลายอย่าง เช่น เกิดผื่นคันเป็นลมพิษ หรือ เป็นตุ่มคัน ซึ่งสาเหตุจริง ๆ อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนก็ได้ และสาเหตุของอาการมีความเป็นไปได้หลายทาง

ซึ่งเรามีการเก็บข้อมูลเฝ้าติดตามสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงทำให้จำแนกแนวทางของสาเหตุอาการที่สามารถพบได้มี 4 ข้อคือ

  1. เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีโรคทางผิวหนังใด ๆ มาก่อน แต่หลังฉีดวัคซีนแล้วมีอาการเกิดขึ้น
  2. เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยอ้อม เคยมีประวัติเป็นโรคทางผิวหนังหรือเกิดจากภาวะโรคเดิม เช่น เคยเป็นโรคสะเก็ดเงิน เคยเป็นภูมิแพ้ เป็นผื่นคันหรือลมพิษมาก่อน เป็นต้น ทำให้หลังฉีดวัคซีนแล้วเกิดการกระตุ้นให้กลับมามีอาการมากขึ้น เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกัน
  3. ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเลย
  4. อาจจะเป็นโรคใหม่ล้วน ๆ ที่เกิดขึ้นจากวัคซีน

เมื่อพิจารณาประวัติอาการของผู้ป่วยที่ร้องเรียนมาคือ มีอาการทางผิวหนังและจนเป็นขุยแข็ง ๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงินได้ ทั้งนี้เราไม่ทราบว่า จริง ๆ แล้วในเคสนี้ผู้ป่วยได้ถ่ายรูปลักษณะของผื่นเก็บไว้ และนำไปให้แพทย์ดูด้วยหรือไม่ ถ้าหากทำเช่นนั้นได้ก็จะเป็นการดี เพราะแพทย์จะใช้ประเมินร่วมกับประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และวินิจฉัยว่าสาเหตุของอาการน่าจะเป็นโรคใหม่ที่เกิดขึ้นจากวัคซีนหรือไม่ หรืออาจจะเป็นโรคเดิมที่เกิดจากวัคซีนเข้าไปกระตุ้นทำให้มีอาการและอาจจะเป็นรุนแรงขึ้นหรือไม่ สุดท้ายไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับวัคซีนเลย ซึ่งแต่ละรายจะมีอาการไม่เหมือนกัน แพทย์ที่ดูแลใกล้ชิดจะช่วยชี้ได้ว่า ผู้ป่วยควรถูกจัดไปเป็นกลุ่มไหน 

..ทางออกวิธีการรักษา ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นกังวล เพราะรักษามาเป็นระยะเวลาประมาณ 4 – 8 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ กล่าวว่า ถ้าหาแพทย์ทั่วไปแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะหาแพทย์เฉพาะทาง หรือ Second Opinion (ปรึกษากับแพทย์อื่น) ไปก่อนได้ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรคอะไร ได้รับการวินิจฉัยถูกต้องและเข้ารับการรักษาได้ถูกวิธีมากที่สุด 

เพราะในความเป็นจริงแล้วการรักษาโรคต่าง ๆ อาการจะต้องดีขึ้น ถ้าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคอะไรที่เรื้อรังหรือรุนแรง หากแพทย์ที่ดูแลวินิจฉัยว่า สาเหตุอาจจะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน หรือ เกี่ยวกับวัคซีนก็ตาม แล้วไม่ต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม ทางสาธารณสุขจะถือว่าหมดหน้าที่ในส่วนนี้

ถ้าผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายจริง ๆ เพราะสื่อสารกับแพทย์ที่ดูแลไม่เข้าใจตรงกัน หรือคิดว่าต้องมีหนทางรักษาที่ดีกว่านี้ได้ และรู้สึกไม่เคลียร์ในเรื่องของพยากรณ์โรคกับแนวทางการรักษาต่อไป ก็อาจจะต้องไปปรึกษากับแพทย์ท่านอื่นหรือไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เช่น สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กรณีที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดหรือไม่สะดวกมาใช้บริการด้วยตัวเอง ก็สามารถใช้บริการทางคลินิกออนไลน์ได้

..ส่วนการดูแลผู้ป่วยด้านสวัสดิการ

ถ้าสงสัยว่าอาการไม่พึงประสงค์ มีสาเหตุเกิดจากวัคซีนโควิด-19 จริง ๆ ผู้ป่วยสามารถเรียกเคลมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” โดยจะเยี่ยวยา 2 ทาง คือ เรื่องของสวัสดิการหรือวการดูแลในการรักษา และ เรื่องของทางการแพทย์ แพทย์หญิงมิ่งขวัญ กล่าวเสริม

ทั้งนี้การจะให้ระบุอย่างชัดเจนไปเลยว่า อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะวัคซีนโควิด-19 อย่างแน่นอนเป็นเรื่องยาก เพราะสาเหตุอาการนี้เป็นได้ทั้ง 4 แนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น และในเคสนี้ ไม่ได้เจอผู้ป่วยด้วยตนเอง ทั้งต้องนำปัจจัยภายนอก ภายในอื่น ๆ มาพิจารณาร่วมกับอาการของผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นแบบไหนบ้าง รวมทั้งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org