ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เปิดรับสมัคร "คลินิก" ผูกระบบ HI/CI รองรับผู้ป่วยโควิดเพิ่มสูง หลังสายด่วน 1330 ประสานแล้ว แต่หน่วยบริการหนาแน่น แจงปมไร้จนท.โทรกลับ หรือโทรกลับเกิน 6 ชม. พร้อมเผยทางช่วยหากติดต่อเข้าระบบไม่ได้ ย้ำ! ไม่ใช่สปสช. แต่เป็นหน่วยบริการอาจรับเต็มศักยภาพ ขณะที่ เลขาฯแจงปมค้างจ่ายคลินิก เหตุต้องตรวจสอบก่อนมี 3 พันกว่าล้านบาท

หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติให้ทางกระทรวงสาธารณสุข กลับไปทบทวนข้อเสนอให้โรคโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉิน หรือโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) แต่ยังสามารถรักษาได้ทุกสิทธิ์ฟรี ส่วนกรณีกลุ่มอาการสีเหลืองหรือสีแดงให้รักษาได้ทุกที่ฟรี ซึ่งเดิมกำหนดเริ่มวันที่ 1 มีนาคม 2565  แต่เมื่อครม.มีมติให้ทบทวน โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความเข้าใจเรื่องนี้  แสดงว่าการรักษาทุกอย่างจึงกลับไปเหมือนเดิม 

ปรากฎยังมีประชาชนที่ติดเชื้อโควิดส่วนหนึ่งยังสับสน ว่า ขั้นตอนการรักษา รวมทั้งการเข้ารับบริการสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนยังเป็นเช่นไร

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ครม.ตีกลับ “โควิดพ้นยูเซป” ขอให้ สธ.กลับไปทบทวนสร้างความเข้าใจ)

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus ว่า หลังจากครม.มีมติให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวน โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความเข้าใจเรื่องยูเซปนั้น ในส่วนของกระบวนการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังคงเหมือนเดิม ซึ่งจริงๆ ไม่ได้กระทบอะไร ไม่ว่าจะอยู่ในโรคฉุกเฉินหรือไม่อยู่ แต่เมื่อยังอยู่ในโรคฉุกเฉิน ก็จะสามารถแบ่งการรักษาและการเบิกจ่ายที่ สปสช.ต้องจ่ายให้หน่วยบริการตามหลักเกณฑ์ออกเป็น 2 ระบบ ดังนี้

1.กรณีการเข้ารับรักษาในโครงการยูเซป ทาง สปสช.ทำหน้าที่เป็นเคลียริงเฮาส์ (Clearing House) ให้ทั้ง 3 กองทุน คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ โดยการเบิกจ่ายยังเป็นอัตราเดิม เช่นอาการสีเขียวค่าเฉลี่ยเบิกจ่าย 5 หมื่น  ถ้าเป็นอาการสีเหลืองเบิกจ่ายเฉลี่ย 9 หมื่นบาท  และหากกลุ่มอาการสีแดงประมาณ 3.5 แสนบาท ขึ้นอยู่กับรายการ โดยทั้งหมดยังเป็นไปตามอัตราเดิมของโครงการยูเซป

2.กรณีเข้ารับการรักษาผ่านระบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI)  หรือฮอสพิเทล (Hospitel) อันนี้จะคนละส่วนกับยูเซป โดยอัตราการจ่ายให้แก่หน่วยบริการที่ผ่านมาจ่ายจำนวน 12,000 บาทระยะเวลารักษา 10 วัน หากรักษา 6 วันจ่าย 6,000 บาท ส่วนฮอสพิเทลนั้นจะเพิ่มจาก HI และ CI ประมาณ 10,000 หมื่น รวมทั้งโรงพยาบาลก็เพิ่มอีกประมาณ 10,000 บาทเช่นกัน 

"แต่อัตราใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับยูเซป โดยอัตราใหม่จะจ่ายเฉลี่ยเท่ากันหมดคือ 12,000 บาทระยะเวลา 10 วัน ซึ่งในส่วนการเข้ารักษาใน HI หรือ CI ผู้ป่วยเมื่อหายดีแล้วสามารถขอใบรับรองการป่วยโควิดจากหน่วยบริการที่ดูแลได้ " นพ.จเด็จ กล่าว

 

(คลิกรายละเอียดเบิกจ่ายเงิน :  ไทยจ่ายค่ารักษาโควิดแล้วกว่า 1 แสนล้าน พร้อมปรับอัตราใหม่ 1 มี.ค.65

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการ รพ. หรือคลินิก ในส่วนของประชาชนหากติดเชื้อต้องอยู่เฉพาะ HI หรือ CI หรือมีสิทธิ์เลือกได้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า จริงๆต้องพิจารณาจากการประเมินอาการ หากไม่มีอาการ อยู่สีเขียวก็จะขอให้อยู่ HI  แต่หากท่านไม่สะดวก ด้วยอาศัยหลายคน ไม่มีห้องแยกก็สามารถเข้าศูนย์พักคอย หรือ CI  ซึ่งขณะนี้ทางผู้ว่าฯ กทม. บอกว่าจะมีการเพิ่มศูนย์ CI ขึ้น ส่วนหากต้องการเข้าพักที่ฮอสพิเทล ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ หากเข้ารักษา รพ.กันมากๆ ทั้งที่ไม่ได้มีอาการ ก็จะเกิดปัญหา รพ.เต็ม  

เมื่อถามถึงปัญหาที่ผู้ป่วยติดต่อผ่านช่องทางไลน์สปสช. รอจนเกิน 6 ชั่วโมงก็ไม่มีเจ้าหน้าที่โทรกลับ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องชี้แจงว่า สปสช.ทำหน้าที่ในการประสานและผูกหน่วยบริการที่จะดูแลท่าน ซึ่งผู้ที่จะโทรกลับคือ เจ้าหน้าที่หน่วยบริการ ซึ่งอาจเป็นคลินิก หรือรพ. อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับทางหน่วยบริการเรื่องนี้ ว่า หากเต็มศักยภาพในการรับผู้ป่วยต้องรีบแจ้งทันที เพื่อที่จะได้หาหน่วยบริการอื่นรองรับ 

แฟ้มภาพ สปสช.

"ขณะนี้ได้พูดคุยกับทางรองเลขาฯสปสช. ให้เปิดรับหน่วยบริการ หรือคลินิก ที่จะมาดูแลผู้ป่วยใน HI เพิ่มเติมแล้ว เพื่อให้รองรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าระบบ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการ HI ในกรุงเทพฯ ประมาณกว่า 200 แห่ง เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น 197 แห่ง และอื่นๆ อีกประมาณ 10 แห่ง" เลขาฯ สปสช. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาตอนนี้คลินิกบางแห่งระบุว่า สปสช.ยังค้างจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยโควิด นพ.จเด็จ กล่าวว่า  ข้อเท็จจริงไม่ใช่ไม่จ่าย แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบให้ละเอียด อย่าง 9 หมื่นกว่าล้านบาทมีการทยอยจ่ายแล้ว ที่ไม่จ่าย 3 พันกว่าล้านบาท เนื่องจากข้อมูลไม่ครบ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า ให้บริการผู้ป่วยจริงหรือไม่ บางที่ถูกร้องเรื่องอาหาร ดังนั้น สปสช.จึงต้องตรวจสอบก่อนจ่าย ซึ่งเราจ่ายไปแล้ว 97% นอกนั้นยังมีประเด็นรอเงินกู้งวดใหม่อีกหมื่นกว่าล้านบาท  และขณะนี้ สปสช.กำลังของบฯอีก 5.1 หมื่นล้านบาท

"ขอให้หน่วยบริการมั่นใจว่า หากทุกอย่างถูกต้อง มีการให้บริการผู้ป่วยจริง เราจ่ายแน่นอน" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวสรุปว่า สิ่งสำคัญตอนนี้ขอเน้นย้ำช่องทางให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด โดยหากผลตรวจ ATK เป็นบวก ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR  สามารถติดต่อสายด่วน 1330 เพื่อเข้าระบบการรักษา ขณะนี้เรามี 3 พันคู่สาย โทรสูงสุดพร้อมกันได้ถึง 1.8 พันคู่สาย มีเจ้าหน้าที่รับสาย 300 คน ล่าสุดเพิ่มอีก 150 คน เปิดตลอด 24 ชั่วโมง  หากไม่สามารถโทรติดต่อได้ ให้ติดต่อผ่านอีก 2 ช่องทางคือ ไลน์ออฟฟิเชียล @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6  หรือทางเว็บไซต์ สปสช. https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI

สำหรับไลน์ออฟฟิเชียล @nhso  สามารถ  Add friend ที่ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 แล้วในนั้นจะมีเมนูเกี่ยวกับโควิด-19 ให้เข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อรับการดูแลแบบ Home Isolation ได้เช่นกัน หรือหากกรอกข้อมูลไม่เป็น ก็สามารถพิมพ์สอบถามแอดมินได้ระหว่างเวลา 08.00-20.00 น.  หรือ ลงทะเบียนด้วยตัวเองด้วยการสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช. หรือที่ลิงค์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI จะมีแบบฟอร์มให้กรอกชื่อ เบอร์โทร ที่อยู่ปัจจุบัน โรคประจำตัว น้ำหนัก ส่วนสูง เมื่อบันทึกข้อมูลแล้ว 15-20 นาที ก็สามารถตรวจสอบได้เลยว่าจะมีหน่วยบริการไหนมาเป็นเจ้าภาพรับดูแลทำ Home Isolation ให้ 

แฟ้มภาพ สปสช.
 
 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org