ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมพิจารณาแผนโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ชี้มี 15 จังหวัดน่าสนใจดันเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์(Sandbox) รอหารือที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ด้านผู้ตรวจฯ เขตสุขภาพ 12  ยกตัวอย่าง จ. สงขลา มีความพร้อม เหตุอัตราฉีดวัคซีนสูง ขณะที่ ศบค.เผยโรคประจำถิ่นมี 4 ระยะ มี 44 จังหวัดอยู่ระยะทรงตัว อีก 21 จังหวัดยังต้องต่อสู้

 

ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) แถลงข้อมูลว่า ขณะนี้ทิศทางเดียวกันทั่วโลกทำให้เห็นการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สำหรับประเทศไทย เมื่อพิจารณาตามระยะของการดำเนินการโรคโควิด19 สู่โรคประจำถิ่น 4 ระยะ คือ  ระยะที่ 1 การต่อสู้(Combatting)  ระยะที่ 2 คงที่ทรงตัว (Plateau)  ระยะที่ 3 ลดลง(Declining) และระยะที่ 4 Post pandemic

เมื่อแยกกลุ่มจังหวัด พบว่า บางกลุ่มยังอยู่ในระยะที่ 1 การต่อสู้ เพราะยังขาขึ้นต้องต่อสู้การระบาดอยู่  มี 21 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ สกลนคร บึงกาฬ เลย  อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย  ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นนทบุรี นครนายก กาญจนบุรี และอุทัยธานี

บางจังหวัดอยู่ระยะที่ 2 ทรงตัว มี  44 จังหวัด ได้แก่  กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พะเยา พิจิตร ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี ลพบุรี ตาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม อ่างทอง สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี พัทลุง พังงา ชุมพร ชลบุรี สมุทรปราการ มุกดาหาร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี  ระยอง ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด  กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์  และบางจังหวัดอยู่ระยะที่ 3 ขาลง มี  12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   สำหรับการเข้าสู่โรคประจำถิ่นของ 12 จังหวัดที่อยู่ในระยะขาลง(Declining) ได้แก่ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

 

** ล่าสุดวันที่ 24 เม.ย. 2565 นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 และหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่มีความเป็นกังวลว่าหลังสงกรานต์จะมีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปรากฏว่าจังหวัดทางภาคใต้ เช่น สงขลา ยะลา ปัตตานี ที่มีการติดเชื้อสูงตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์ เฉลี่ยทั้งเขตฯ 12 วันละ 3 พันราย พอหลังสงกรานต์ก็เริ่มเข้าสู่ระยะขาลง เฉลี่ยเหลือวันละ 1,100 ราย มีบางจังหวัดที่การติดเชื้อยังสูงอยู่ เช่น พัทลุง ติดเชื้อวันละมากกว่า 100 ราย

นพ.สุเทพ กล่าวว่า การที่ตัวเลขติดเชื้อลดลง ไม่ได้เกิดจากการตรวจน้อยลง เพราะตัวเลขสอดคล้องกับผู้ป่วยครองเตียงในสถานพยาบาล ผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ลดลงเช่นกัน จากที่เคยเห็นว่าจังหวัดทางภาคใต้ติด 1 ใน 10 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อสูงสุด ตอนนี้ก็ไปอยู่ในลำดับที่ 70 ขึ้นไปแล้ว

นพ.สุเทพ กล่าว สำหรับแผนการทำโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่น ทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. แจ้งว่า ตอนนี้มี 15 จังหวัดที่สนใจและมีความพร้อมเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์(Sandbox) เส้นทางกรมควบคุมโรคก็ได้ทำหลักเกณฑ์เสร็จแล้ว  แต่ต้องหารือกันในที่ประชุม EOC ของกระทรวงฯ อีกครั้งก่อน ยกตัวอย่างของภาคใต้ก็จะมี จ.สงขลา ที่มีความพร้อม เพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ครอบคลุมเกือบ 80% และเข็มกระตุ้นอีกเกือบ 30 % ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่จังหวัดแซนด์บ็อกซ์ ก็เป็นการดึงความมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงด้วย เพราะประชาชนในพื้นที่ก็อยากทำมาหากินเปิดการค้า กลับมาใช้ชีวิตได้

นพ.สุเทพ กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์สำหรับการเป็นโรคประจำถิ่น จะดูจาก 1.จำนวนผู้ติดเชื้อต่อเคส ต่อแสนประชากร 2.จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและการรองรับในแต่ละจังหวัด 3.อัตราการเสียชีวิตต้องต่ำกว่า 0.1% และ 4.ถ้าฉีดวัคซีนจะต้องครอบคลุมอย่างน้อย 80% โดยเฉพาะกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงขึ้นก็คาดว่า 1 กรกฎาคม จะสามารถทำได้ตามแผนโรคประจำถิ่น

อย่างไรก็ตาม นพ.สุเทพ กล่าวว่า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงจะต้องมากกว่า 60% การฉีดวัคซีนสำหรับนักเรียนที่เริ่มฉีดเข็มแรกไปช่วงเดือน ส.ค.65 ขณะนี้ก็ต้องฉีดเข็มกระตุ้นก่อนเปิดเทอม และกลุ่มเด็กเล็ก 5-11 ปี ที่ฉีดเข็ม 1 ครอบคลุมแล้วประมาณ 50% ก็ต้องฉีดเข็ม 2 ตามมาด้วย

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org