ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"กฤษณพงค์ พูตระกูล" นักอาชญาวิทยา เผยลดปริมาณถือครองยาเหลือ 1 เม็ด ไม่ช่วยลดยาบ้าในชุมชน เพราะการแก้ไขหลักเกณฑ์ต้องรับฟังเสียงปชช.-ตํารวจ-องค์กรอื่นๆ ชี้รัฐต้องใช้กฎหมายจริงจังไม่มียกเว้น! เชื่อ"ชุมชนล้อมรักษ์" สอดรับมาตรฐานสากล แต่ไทยยังไม่ประสบความสําเร็จ

ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกำหนดปริมาณให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานผู้ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เป็นการครอบครองเพื่อเสพ นั้นวันนี้ 8 พ.ค. 67 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารเพื่อติดตามนโยบายสาธารณสุข โดยผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการถือครองยาบ้าจาก 5 เม็ด ลดลงจากเดิมหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จะมีการพิจารณาจำนวนเม็ดลดลงอย่างแน่นอน เพราะเจตนารมณ์ประมวลกฎหมายยาเสพติด เขียนก่อนตนรับหน้าที่รมว.ยุติธรรม แต่นำเสนอสภาฯไม่จบ ซึ่งตนนำมาปรับบางส่วนเสนอใหม่จนจบเป็นกฎหมาย ขอเรียนว่า เรื่องยาบ้า หากมีโอกาสนำเสนอจะพูดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อให้เป็นงานที่ชัดเจน อ่านข่าวเพิ่มเติม “สมศักดิ์” ลั่นปรับแน่! ลดปริมาณถือครองยาบ้า 5 เม็ด - กัญชา คาดชัดเจน 1 เดือน

ล่าสุด รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับลดยาบ้าจาก 5 เม็ด เหลือ 1 เม็ด ว่า ประเด็นแรก รัฐบาลต้องส่งสัญญาณชัดเจนว่ายาเสพติดเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง  ใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องกระบวนการเครือข่ายจะดําเนินการอย่างจริงจังทั้งหมดไม่มียกเว้นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ การยึดทรัพย์สินกฎหมายเท่ากัน

"ผมว่าตรงนี้รัฐบาลยังไม่ได้ชัดเจนเรื่องการส่งสัญญาณนโยบายตรงนี้ ไม่ต้องถึงกับประกาศสงครามยาเสพติดเหมือนกับสมัยนายกทักษิณ แต่ต้องประกาศความจริงจังและต้องทําจริงด้วย" รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

ประเด็นที่สอง ยาบ้า 5 เม็ด ถ้าจะลดปริมาณลงมาครอบครอง 1 เม็ด แล้วถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อเสพ อันนี้ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่น่าจะเป็นไปได้แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขหลักเกณฑ์ตรงนี้ก็คงต้องรับฟังเสียงจากประชาชนจากตํารวจจากหลายๆหน่วยงานเหมือนกัน แต่ในมุมคนที่เขามองขณะนี้ เขามองว่า 5 เม็ดมากไป ฉะนั้นถ้าเกิดเหลือ 1 เม็ด แน่นอนว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ดีว่าให้มีไว้เสพได้ไม่เกิน 1 เม็ด ฉะนั้นถือว่าเป็นผู้เสพและเข้าสู่กระบวนการบําบัด 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากปรับลดเหลือ 1 เม็ดจริงมองว่าจะช่วยในเรื่องการลดยาบ้าในชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ยังไม่ลด เพราะจากข้อมูลพบว่า ผู้เสพปัจจุบันเข้าสู่กระบวนการบําบัดน้อยลง ขณะที่แนวคิดเรื่องการให้ชุมชนก็มีส่วนร่วมในการแก้ไขบําบัดฟื้นฟูอย่าง ชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx: Community Based Treatment) ที่แนวคิดทั่วโลกใช้เป็นสากลซึ่งของเราก็ใช้ แต่ดูเหมือนยังไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร เพราะต้องอาศัยความร่วมมือการบูรณาการจากทุกภาคส่วนในชุมชน เช่น กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นําทางธรรมชาติผู้นําจากศาสนา องค์กรส่วนท้องถิ่น ตำรวจในพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ รวมทั้งนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา การบูรณาการตรงนี้ต้องมีความพร้อมด้วยทั้งบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งงบประมาณที่ผ่านมา แก้ปัญหายาเสพติดเราจะเน้นจากส่วนกลางกระจายลงไปแต่ต้องไปดูว่าไปถึงชุมชนหรือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ต้องไปดู ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลนึงที่ทําให้การแก้ปัญหายาเสพติดจึงไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร 

"แนวทางเปิดบริการ "ชุมชนล้อมรักษ์" เป็นเรื่องที่ดีแต่ปัญหาที่ผ่านมา ต้องไปถามดูว่ากํานัน ผู้ใหญ่บ้านรู้หรือไม่ว่าบ้านไหน ใครเสพยาเสพติด บ้านไหนเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ายาเสพติด บางทีก็รู้จักกันอยู่ เกรงใจกัน บางทีก็ทํางานด้วยกัน มันก็เลยเกิดความเกรงใจในการที่จะบังคับใช้กฎหมายในการที่จะนําตัวไปบําบัด สถานที่บําบัดชุมชนก็ไม่มี เป็นต้น มองว่า "ชุมชนล้อมรักษ์" แนวคิดดีอยู่แล้ว และสอดรับกับมาตรฐานสากล เพียงแต่ว่าหลายส่วนหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังขาดไป ต้องแก้ไขต้องเติมเต็มให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปัจจุบันแนวคิดของระบบราชการ สั่งจากส่วนกลางลงไป สั่งจากบนลงล่าง แต่ไม่ได้สะท้อนปัญหาจากข้างล่างขึ้นข้างบน หรือสะท้อนไปข้างบนก็ฟังแต่ว่าไม่ได้นําไปแก้ไขอะไร"  รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนี้ควรมีมาตราการป้องกันอย่างไรบ้างถ้าหากปรับลดเหลือ 1 เม็ด  รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า 1. จัดการเครือข่ายผู้ค้าที่เป็นองค์กร ขบวนการ เครือข่าย ต้องจัดการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการยึดอายัดทรัพย์สิน การใช้กฎหมายฟอกเงิน ต้องเพิ่มงบประมาณต้องเพิ่มกําลังคนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องของกฎหมายฟอกเงิน (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)  รวมทั้งพนักงานสอบสวนต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจุบันตํารวจสอบสวนเองก็ไม่มีใครอยากมาทํางาน เพราะงานเยอะ เสี่ยงติดคุก ผิดกฎหมาย  ตอนเนี้ยต้องมาแก้ปัญหาในหลายมิติ  2. กระบวนการบำบัด ซึ่งตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่าหลายๆชุมชนยังไม่มีสถานที่บําบัด ซึ่งตอนนั้นตนได้รับเชิญไปยกร่างกฎหมายประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยประเด็นนี้ก็ได้พูดคุยว่าตกลงจะเอาบำบัดที่ไหน วัด โรงเรียน ชุมชน ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าชุมชนก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน