ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” อัด “ปรีดา” ไม่เข้าใจเจตนากฎหมาย กลับยกยาบ้า 5 เม็ดเข้าทางผู้ค้า กล่าวหารุนแรงว่า “เป็นฆาตกรผ่อนส่ง” ทั้งที่กฎหมายต้องการให้โอกาสผู้เสพที่สมัครใจบำบัด กลับคืนสู่สังคม ลดการตีตรา ขณะที่ “สส.ปรีดา” ไม่หยุดซัดกลับให้ไปบำบัดที่บ้าน รมต. หรือสส.500 คน สุดท้ายก็กลับไปเสพอีก ขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงดีที่สุด

 

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่รัฐสภา  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท้จจริง ต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152  ประเด็น  นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน  ประเด็นอยากให้ยกเลิกยาบ้า 5 เม็ด

“ชลน่าน” ซัดถูกกล่าวหา “ฆาตกรผ่อนส่ง” ปมยาบ้า 5 เม็ด

โดยนพ.ชลน่าน ระบุว่า นายปรีดา ได้มีถ้อยคำหนึ่งที่กล่าวหาตนในสภาแห่งนี้ ว่า "หมอชลน่าน เป็นฆาตกรผ่อนส่ง อยากให้ยกเลิกยาบ้า 5 เม็ด" ซึ่งตนไม่ได้อยากให้ถอนคำพูด แต่เมื่อเปรียบเทียบ สส. 2 คนในสภานี้ นายปรีดา บุญเพลิง เป็น สส. ที่ร่วมออกประมวลกฎหมายยาเสพติดเมื่อปี 2564 ขณะที่ นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์  เป็น สส.ใหม่ เพิ่งเข้ามา แต่ศึกษาบทบัญญัติกฎหมายเข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง ขณะที่ นายปรีดา ที่เคยเป็นคนลงคะแนนในกฎหมาย แต่กลับไม่รู้เจตนาและจุดมุ่งหมายของประมวลกฎหมายปี 2564

“การถามประเด็นนี้ แสดงว่า ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ” นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดัน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่ออีกว่า จริงๆ ไม่ผิด เพราะสังคมไทยขณะนี้ องค์การค้าโลกสำรวจมาว่า คนไทยเรื่องของการอ่าน สั้นมาก ไม่อ่านไม่ทำความเข้าใจ เอากระแสโซเชียลฯ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลับไม่สนใจ ถือว่าอันตราย   ผมไม่ต้องการให้ท่านถอนคำพูดครับ เพราะว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เขาต้องการเปลี่ยนวิธีการที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างแท้จริง”

อธิบายเจตนารมณ์กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อมีการพิจารณาผลการแก้ปัญหาที่ผ่านมาทั้งโลก โดยเฉพาะไทยมีกฎหมายยาเสพติดใช้มาถึงปี 2563 ไม่เคยแก้ปัญหายาเสพติดได้ เพราะกฎหมายไทยเข้มข้น โทษหนัก ตีตรา จับติดคุก กฎหมายแบบนี้ยากมากที่จะคืนคนดีสู่สังคม เพราะเป็นการลดต้นทุนคนดีให้ต่ำลง สร้างโอกาสกลับไปสู่สังคมไม่ดีให้สูงขึ้น อันนี้พิสูจน์ชัด เข้าข่ายบำบัดเมื่อกลับสู่ชุมชนก็กลับไปเสพถึง 90% เพราะอะไร เพราะชุมชนไม่เปลี่ยน ยังตีตราว่าเป็นผู้เสพยา กฎหมายนี้จึงต้องการให้โอกาสเพื่อแยกคนไม่มีเจตนาค้า คืนคนดีสู่สังคม เปิดโอกาสคนเหล่านี้เข้าสู่การบำบัด เพราะเชื่อว่าการบำบัดแก้ปัญหาดีที่สุด 

ความจำเป็นของการบำบัดผู้เสพ แยกออกจากผู้ค้า

ปัจจุบันสังคมไทยมียาบ้า ทั้งผู้ใช้ผู้เสพผู้ติด 1.9 ล้านคน หากไม่แยกออกมา คนเหล่านี้จะไปเป็นผู้ค้าต่อ นี่คือเจตนารมณ์ โดยกฎหมายพยายามลดทอนความเป็นอาญา แต่ก็ยังคงความเป็นอาญาไว้ โดยผู้ค้า ผู้ครอบครองมีความผิด ไม่ว่ากี่เม็ด 1 เม็ด 5 เม็ด 10เม็ด เพียงแต่ใครมีพฤติกรรมที่ไม่ใช่การค้า ไม่จำหน่าย ก็ให้โอกาสบำบัดได้ โดยให้สันนิษฐานเป็นผู้เสพ หากสมัครใจให้แปลงผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การบำบัด

“เรื่องนี้ย้ำหลายครั้งแล้ว และอยากให้ สส. บอกกับประชาชน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อเรื่องยาบ้า 5 เม็ด  จะเสมือนไปช่วยผู้ค้าทางอ้อม ขอย้ำว่า การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยต้องสมัครใจเข้าสู่การบำบัด  หากผ่านการบำบัดครบและมีหนังสือรับรองให้พ้นจากความผิดหลังการบำบัด” รมว.สาธารณสุขกล่าว  

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการบำบัดผู้สมัครใจ ยกตัวอย่าง ต.ตาลชุม อ.เวียงสา จ.น่าน มีผู้เข้าร่วมบำบัดจำนวน 197 คน สมัครใจ 70 คน ตรวจคัดกรองพบอีก 127 คน ผ่านไป 4 เดือน ด้วย 9 ฐานบำบัด ทั้งเรื่องสุขภาพ ปัญญา อาชีพ ฯลฯ มีหนังสือรับรอง ส่งมอบคืนสู่สังคมเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา 176 คน ไม่ผ่านการบำบัดแค่ 21 คนต้องบำบัดต่ออีก

สถานบำบัดเพียงพอ ขยายเพิ่มเติมทุกจังหวัด

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า  ส่วนที่เป็นห่วงว่าจะไม่มีสถานบำบัดเพียงพอ ตอนนี้พยายามขยายโดยจัด มินิธัญญารักษ์ ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด และมีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปทุกจังหวัด ดังนั้น แม้จะมีทรัพยากรจำกัด แต่ก็พยายามเร่งรัดทำให้ได้ 100 วันตามควิกวัน จนได้สถานบำบัดทางการแพทย์ ปัจจุบันมีรพ.ในสธ. ที่รองรับผู้ป่วยได้ 6,314 เตียง กระจายในรพ.สังกัดกระทรวงฯ นอกจากนี้ยังมีสถานพยาบาลอื่นๆนอกสังกัดอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx มาช่วยดำเนินการ  และมีหลายจังหวัดเป็นโมเดลช่วยตรงนี้

“สส.ปรีดา” ไม่หยุด ชี้บำบัดไปก็เหมือนเดิม

ต่อมานายปรีดา กล่าวขึ้นเนื่องจากถูกพาดพิงว่า ตนถูกพาดพิงที่รุนแรง ตนเป็นครู อยู่กับนักเรียนมาทั้งชีวิต ปัญหาเกิดทั้งประเทศจากกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งวิธีการบำบัดก็ไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่ แต่เด็กนักเรียน ม.1-ม.6 มีความอยากลองอยากรู้ ก็ทำให้เกิดปัญหา ยิ่ง 5 เม็ดลองเอาไปบำบัดที่บ้านรัฐมนตรี  หรือเอาไปบำบัดที่บ้านสมาชิกสภาฯทั้ง 500 คน ลองเอาเด็กกลุ่มนี้ไปบำบัด ว่า จะเป็นคนดีจริงหรือไม่ เอากลับมาอยู่บ้านก็เหมือนเดิมอีก วนไปเวียนมาเหมือนเดิม  ปัญหาทำร้ายร่างกายในครอบครัวยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้อะไรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย

จากนั้น นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ประท้วงประธานในที่ประชุมว่า ไม่ควรให้อภิปรายซ้ำ และขอให้ประธานสภาฯวินิจฉัย โดย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ระบุว่า เห็นด้วยว่า ใช้สิทธิ์อภิปรายไม่ได้ ให้กล่าวถึงการพาดพิงที่เสียหายก็พอ

ต่อมานายปรีดา จึงกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เรื่องร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ เห็นด้วยกับหลักการเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อเสพ เรื่องที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมืองเราพร้อม แต่นี่ปัญหาเกิดกับเด็ก ไม่ห่วงลูกหลานของท่านหรือ? หากยกเลิกกฎกระทรวงข้อนี้ได้ จะทำให้ประชาชนมีความสุขขึ้น   

“ชลน่าน” ฉุน “ปรีดา” ใช้สิทธิ์พาดพิงอะไร

ขณะที่นพ.ชลน่าน ระบุว่า  หากใช้สิทธิ์พาดพิงต้องบอกมาว่าเสียหายตรงไหน

“ผมถูกกล่าวหาว่า เป็นฆาตกรผ่อนส่ง ก็บอกท่านว่า ท่านเป็นคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ซึ่งท่านก็ควรบอกว่า เสียหายจากความไม่รู้ไม่เข้าใจตรงไหน ท่านไปหลับอยู่หรือ.. ท่านต้องชี้แจงแบบนี้”  นพ.ชลน่าน กล่าว

นายปรีดา ยังไม่ยอมและกล่าวอีกว่า ขอให้ไปถอดเทป ประชาชนเป็นคนพูด และตนนำมาพูดในที่ประชุม ว่าขอให้ยกเลิกกฎกระทรวง แล้วชีวิตลูกหลานดีขึ้น  

 

“ชลน่าน” ตอบชัด “กัญชาใช้การแพทย์และสุขภาพ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้  นพ.ชลน่าน ยังได้ชี้แจงกรณี นายร่วมธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท้จจริง ต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 สอบถามเรื่องการจัดการกัญชา ให้ใช้ทางการแพทย์หรือสันทนาการ  ว่า ตามพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 กัญชาเป็นยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมารัฐบาลที่ผ่านมา ให้สารสกัดกัญชาที่มีค่า THC มากกว่า 0.2% โดยน้ำหนักขึ้นไป เป็นยาเสพติด

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542  ประกาศฉบับนี้ให้เฉพาะช่อดอกเป็นสมุนไพรควบคุม ความหมายคือ ในประกาศนี้มีบทบัญญัติให้ใช้และห้ามใช้ ยกตัวอย่าง ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือช่อดอก หรือแปรรูป เพื่อการค้าให้เด็ก สตรี มีครรภ์ และเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนด  ทั้งนี้  ราก ต้น ใบ ไม่จัดว่าเป็นยาเสพติด 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าปี 2563 กัญชาอยู่ในประเภทที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวของยาเสพติด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ปี 2563 คณะกรรมการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติมีมติถอนออกมาอยู่ในประเภทที่ 1 ตามข้อเสนอองค์การอนามัยโลก เห็นว่ากัญชานอกจากเป็นยาเสพติด แต่ยังใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ตามข้อมูลศึกษาวิจัยได้

เดินหน้าร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง คุมกัญชาใช้ผิดประเภท

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อสถานะกัญชาเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยเราจัดกัญชาเป็นอย่างไร ต้องขอยกตามข้อแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และย้ำวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาที่ให้ข่าวต่อผู้สื่อข่าว โดยนายกรัฐมนตรีพูดชัดเรื่องกัญชาว่า ใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ส่งเสริมเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น และตามอนุสัญญาเดี่ยว เมื่อนำมาใช้เพื่อทางการแพทย์และสุขภาพ รัฐ ภาคีประเทศสมาชิกต้องออกกฎหมายมาควบคุม

“ ดังนั้น ขณะนี้รัฐบาล และผม ในฐานะรมว.สาธารณสุข ได้ร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อย    กำลังขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้าเห็นชอบ ก็จะเสนอเข้าสู่สภาฯ ซึ่งจะเป็นกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาที่นอกเหนือการแพทย์และสุขภาพ หากไม่ใช่จะผิดประเภท ต้องมีกฎหมายควบคุม ทั้งการปลูก การผลิต ก็ต้องขออนุญาต” นพ.ชลน่าน กล่าว