ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” ชี้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ไม่ใช้ระบบอะนาล็อก เป็นดิจิทัลสุขภาพ มีเพียงบัตรประชาชนใบเดียวใช้ได้ทุกที่ เริ่มไปแล้ว 2 เฟส รวม 12 จังหวัดจะเริ่มเฟส 3 รวมอีกราว 40 จ. ก่อนขยายทั่วประเทศปีนี้ จึงไม่ใช่ระบบอะนาล็อกอย่างที่ “สส.ฐากร” ประเมินให้ C+ หากทราบการทำงานของสธ.จะเข้าใจว่าต้องได้เกรด A ด้วยซ้ำ พร้อมแจงของบฯ ระบบดิจิทัลไม่ซ้ำซ้อน อย่างที่ สส.ก้าวไกลเข้าใจ

 

เมื่อช่วงดึกของวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ชี้แจงกรณีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย อภิปรายญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เกรดผลการทำงานของรัฐบาลในระยะเวลา 6 เดือน 23 วัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ให้คะแนนเพียง C บวก  เพราะยังไม่ได้ทำฐานข้อมูลกลาง ยังเป็นอะนาล็อกนั้น

แจงการทำงานนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

โดย นพ.ชลน่าน แจงว่า  นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีการแถลงต่อรัฐสภา และเป็นนโยบายเรือธง ที่ต้องดำเนินการ ซึ่งตนได้ประกาศเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 และเป็นหนึ่งในนโยบายควิกวิน 100 วัน ซึ่งเราเป็นหนึ่งในนโยบายดิจิทัลสุขภาพ หรือดิจิทัลเฮลธ์ จากระบบอะนาล็อก เป็นดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่แรก ได้มีการประกาศว่า จะทำนโยบายนี้เป็นขั้นๆ เป็นระยะๆ เริ่มจากโครงการนำร่อง จนครอบคลุมแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งระยะแรกมั่นใจว่าทำได้ใน 4 จังหวัด เพราะความพร้อมของระบบต่างๆ รวมทั้งระบบดิจิทัล

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ระยะแรกเริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2567 ใน 4 จังหวัด ภาคเหนือเลือกจ.แพร่ ภาคอีสาน เลือกจ.ร้อยเอ็ด ภาคกลาง เลือกจ.เพชรบุรี และภาคใต้ เลือกจ.นราธิวาส ซึ่งประชาชน 4 จังหวัดสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ในสถานบริการ ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน ในจังหวัดนั้นๆ และยังเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งร้านยา คลินิกทันตกรรม ห้องแล็บเอกชนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งใช้ได้หมด และผ่านการประเมินตลอด จนเดือน มี.ค.67 ขยายเฟสสอง ใน 8 จังหวัด กระจายตามเขตสุขภาพของสธ.ทั้ง 12 เขตสุขภาพ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ใน 8 จังหวัด อย่างเขตสุขภาพที่ 2 เลือกเพชรบูรณ์  เขตสุขภาพที่ 3 เลือกนครสวรรค์   เขตสุขภาพที่ 4 เลือกสิงห์บุรี  เขตสุขภาพที่ 6 เลือกสระแก้ว (เขตสุขภาพที่ 5 เลือกเพชรบุรี เขตสุขภาพที่ 7 เลือกร้อยเอ็ดไปแล้วในระยะที่ 1)  เขตสุขภาพที่ 8 เลือกหนองบัวลำภู   เขตสุขภาพที่ 9 เลือกนครราชสีมา   เขตสุขภาพที่ 10 เลือกอำนาจเจริญ และเขตสุขภาพที่ 11 เลือกพังงา  (เขตที่ 12 เลือกนราธิวาสตั้งแต่ระยะแรก) ดังนั้น ครบทั้ง 12 เขตสุขภาพแล้ว โดยปัจจุบัน 12 จังหวัดใช้บริการข้ามจังหวัดได้ โดยใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว เพราะมีข้อมูลที่บันทึกทางดิจิทัลสุขภาพ  ในระยะที่ 3 จะเริ่มเดือน พ.ค.ไปจนถึงก.ย. และในเดือนมิ.ย.นี้จะได้อีก 39 จังหวัด และเฟสสี่ จะเริ่มเดือนต.ค. ซึ่งจะครอบคลุมทุกจังหวัดในปี 2567

การทำงาน 30 บาทรักษาทุกที่ควรได้เกรดA

“ต้องขอขอบคุณที่ให้คะแนน C+ ก็ถือว่าผ่าน เราไม่ได้น้อยใจ แต่หากคุณครูฐากร ทราบว่าเราทำงานเป็นอย่างไร ต้องให้เกรด A แน่นอน เพราะระบบฐานข้อมูลที่ถาม เราไม่ได้เป็นอะนาล็อก เรามีฐานข้อมูลกลาง ซึ่งเริ่มพัฒนาระบบข้อมูลกลางมาตั้งแต่ปี 2557  เรียกว่า Health Data Center (HDC) จากนั้นปี 2564 มีเรื่องโควิด จังจำเป็นต้องทำระบบรองการการฉีดวัคซีนโควิดอีก เรียกว่า MOPH-IC ต่อมาปี 2566 ทำประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า  MOPH-PHR เป็นการยืนยันตัวตน และในปี 2567 มีระบบรายงานเฝ้าระวังโรคติดต่อของกรมควบคุมโรคเรียกว่า DDS และขณะนี้มีข้อมูลการเงินการคลังสธ. เรียกว่า Financial Data Hub(FDH) ทั้งหมดไปเก็บไว้บนคลาวด์ มีการเชื่อมโยงทั้งหมด จึงไม่ใช่ระบบอะนาล็อกอีก”  รมว.สาธารณสุข กล่าว

โต้กลับของบฯไม่ซ้ำซ้อน มีรายละเอียดชัด

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกรณีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปกรณีระบบสุขภาพงบประมาณ Health Link -หมอพร้อม ฯลฯ ว่าของบฯซ้ำซ้อน ว่า ยืนยันว่าไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขจัดทำคำของบประมาณประจำปีพ.ศ. 2568 เป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 เพื่อพัฒนาระบบเชื่อมต่อประชาชนภายใต้นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว 192,692,000 บาท  ประกอบด้วย การพัฒนาระบบเชื่อมต่อกับประชาชนและเจ้าหน้าที่ (Application หมอพร้อม, Line OA หมอพร้อมสเตชั่น 15,000,000 บาท  การพัฒนาLine OA หมอพร้อม(ค่าบริการรายปีในการส่งข้อมูลแบบไม่จำกัด พัมนาฟังชั่นต่างๆ อีก 20,000,000 บาท และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพดิจิทัลอื่น ที่เกี่ยวข้อง 157,692,000 บาท

ส่วนที่ 2 เพื่อยกระดับศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลใน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวม 1,949,320,200บาท ได้แก่ การพัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะ 145,320,200 บาท   และการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับโรงพยาบาล (Cyber Security Operations Center: CSOC) โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง สาธารณสุขจำนวน 902 แห่ง ใช้งบประมาณ แห่งละ 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,804,000,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนงบประมาณที่เหมาะสม