ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 
สสส. – ศวส. เผย สถานการณ์การตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อสังคมออนไลน์ หวัง เด็กและเยาวชน รู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดยุคใหม่ นักกฎหมาย ชี้ พรบ.คุมน้ำเมา ล้าสมัย การบัญญัติกฎหมาย ม.32 ไม่ชัดเจน

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการออนไลน์ “รู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดยุคใหม่ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เผยสถานการณ์การตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อสังคมออนไลน์ หวังให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันปัญหาและปัจจัยเสี่ยง เพื่อสุขภาวะที่ดี

นางสาวกนิษฐา ไทยกล้า อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค ผสมผสานระหว่างการตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์ จากการเฝ้าระวังการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อสังคมออนไลน์ วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 พบว่า ผู้โพสต์เกี่ยวกับการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 857 บัญชีรายชื่อ กระจายอยู่ในพื้นที่ 54 จังหวัด จำนวนโพสต์ทั้งหมด 2,684 โพสต์ พบเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่มีการโพสต์โฆษณามากที่สุด รองมาคือ ติ๊กต๊อก และไลน์ โดยแบ่งประเภทการโพสต์ ดังนี้ ร้อยละ 26.2 มาจากร้านขายส่ง/ปลีก ร้อยละ 24.5 รีวิว/บล็อกเกอร์/อินฟลูเอนเซอร์ ร้อยละ 20 Official ร้อยละ 17.3 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการโพสต์มากที่สุด คือ เบียร์ไทย รองมาคือ โซจู สุราสีในประเทศ RTD-น้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์ และสุราสีต่างประเทศ

นางสาวกนิษฐา กล่าวต่อว่า จากการศึกษาสะท้อนการเดินทางของลูกค้ารูปแบบใหม่ 5 ขั้นตอน คือ 1.การสร้างการรับรู้ด้วยข้อความ ตรายี่ห้อ ภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ การจัดกิจกรรมการตลาด 2.การให้ข้อมูลพิจารณา การรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์เปรียบเทียบเครื่องดื่ม วิธีการดื่ม การผสมเครื่องดื่มแบบใหม่ 3.การซื้อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ E-market Place การจัดส่งถึงประตูบ้าน และการบอกสถานที่จำหน่าย 4.การรักษาลูกค้าด้วยการลด แลก แจก แถม ส่งฟรี สะสมแต้ม และ 5.การสนับสนุนและบอกต่อด้วยการแชร์โพสต์สาธารณะ การรีวิว การส่งข้อความทางตรง แต่ละขั้นตอนมีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน เช่น กลุ่ม Gen Z (อายุ 13-25 ปี) กลุ่ม Gen Y (อายุ 26-41 ปี) เน้นการสนับสนุนและบอกต่อ มากกว่าสร้างการรับรู้ การรักษาลูกค้า การพิจารณาหาข้อมูลและการซื้อ ขณะที่กลุ่ม Gen X (อายุ 42-57 ปี) เน้นสนับสนุนและบอกต่อ มากกว่าการพิจารณาหาข้อมูล การซื้อ สร้างการรับรู้ การรักษาลูกค้า และการซื้อ 

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายบังคับใช้มานานกว่า 14 ปี มีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ กลไกคณะกรรมการจังหวัดขาดประสิทธิภาพ หลายจังหวัดขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 เป็นบทบัญญัติที่มีปัญหาการตีความและการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากความไม่ชัดเจนในการบัญญัติตัวบทกฎหมาย และขาดแนวปฏิบัติในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เช่น ปัญหาการใช้กลยุทธ์ Brand DNA ป้ายโฆษณาน้ำแร่ น้ำดื่ม น้ำโซดา หรือการใช้ถ้อยคำที่สื่อให้ผู้บริโภคหรือประชาชนจูงใจให้หรือทำให้นึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการโฆษณาแฝงของเครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  อีกทั้งยังพบการโฆษณาหรือทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงควรมีการเสนอปรับปรุงมาตรา 32 และควรเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิจัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า กิจกรรมการตลาดและการโฆษณาข้ามพรหมแดนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Cross-border alcohol marketing) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในการกระตุ้นการดื่มและดึงดูดนักดื่มหน้าใหม่ จัดเป็นความท้าทายของการทำงานเพื่อลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโลกยุคดิจิตัลท่ามกลางกระแสการค้าเสรีและการเติบโตของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ข้ามชาติและเกินอำนาจของประเทศใดประเทศหนึ่งในการควบคุม โดยองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกพัฒนากฎหมายประเทศเพื่อควบคุมการโฆษณาและกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงหรือครอบคลุมมิติต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด โดยใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย อาทิ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการสื่อต่าง ๆ การกำหนดเงื่อนไขของใบอนุญาตจำหน่าย/บริหาร มาตรการทางภาษี กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว ในขณะที่ประชาคมโลกควรสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการพิจารณากฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุม ดังความสำเร็จกรณีของอนุสัญญากรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Convention on Tobacco Control) และ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes) ดร.ภญ.อรทัย กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง