ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรม เดินหน้าผลิตยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ล่าสุดได้ทะเบียนการผลิตจาก อย.
เหลือขั้นตอนทดสอบมาตรฐานการผลิต พร้อมใช้จริงคาดเดือน ต.ค. 2565 ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยา   ส่วนราคาเท่าไหร่อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดราคาเหมาะสม ชี้ประหยัดค่ารักษาภาครัฐจากเดิมคอร์สละ 2 หมื่นบาท

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีแผนดำเนินการให้โรคไวรัสตับอักเสบซีหมดไปภายในปี 2573 ตามหลักสากล เนื่องจากโรคไวรัสตับอักเสบซี  ก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับได้นั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องตรวจวินิจฉัยเร็ว และได้รับการรักษาด้วยยาโดยเร็วที่สุด   ซึ่งปัจจุบันการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นสิทธิประโยชน์การรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งตามมาตรฐานการรักษา มียาสูตรรวมเม็ด (Sofosbuvir+Velpatasvir) รับประทาน 12 สัปดาห์ สามารถรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมรับหน้าที่ผลิตยาดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2565  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)  กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ ว่า  ที่ผ่านมาการจัดหายาไวรัสตับอักเสบซีให้แก่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม(สปส.) นั้นจะมีราคาต่อคอร์สการรักษาอยู่ที่ประมาณกว่า 20,000 บาท โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาติดต่อกันต่อคอร์สประมาณ 3 ขวด ขวดละ 28 เม็ด  ซึ่งหากทานติดต่อกันจะหายขาดได้ อย่างไรก็ตาม องค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตได้เอง และล่าสุดได้รับทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แล้ว แต่เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนจึงจำเป็นต้องผ่านกระบวนการผลิตตามมาตรฐานที่กำหนด โดยต้องผลิตให้ได้คุณภาพอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถผลิตจำหน่ายได้ คาดพร้อมใช้ภายในเดือนตุลาคม 2565 

“ราคาจะต่ำกว่านำเข้ามาอย่างแน่นอน  แต่เท่าไหร่กำลังพิจารณา ซึ่งตัวนี้จะประหยัดกว่าเดิม โดยเราพยายามหาแหล่งวัตถุดิบที่ดีและต่อรองราคาให้เหมาะสมที่สุด  ทั้งนี้ หากผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้ว คาดว่าจะผลิตพร้อมใช้ภายในเดือนตุลาคม 2565”  ภญ.ศิริกุล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยจำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในประเทศไทยมีประมาณ 400,000 ราย ในจำนวนนี้ เกิดภาวะตับแข็งประมาณ 80,000 ราย และมะเร็งตับประมาณ 3,200 รายต่อปี  กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี (จ2) เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทย และใช้แนวทางการวินิจฉัยด้วยวิธี Test and Treat เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันและได้รับยารักษาเร็วที่สุด โดยให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปดูแลผู้ป่วย และเปิดโอกาสให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถจ่ายยาและติดตามการรักษาผู้ป่วยได้ โดยมีอายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารหรืออายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านระบบทางเดินอาหารเป็นที่ปรึกษา
  
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง