ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นวิกฤติ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ได้ทดสอบและทบทวนความพร้อมขอวประเทศไทยในหลายๆ ด้าน

เนื่องในโอกาส 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดการประชุมวิชาการในหัวข้อ “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 : ร่วมกันวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต” TO THE NEXT DEVADE : ENHANCE RESEARCH FOR LIFE โดยเวทีเสวนาในหัวข้อ “งานวิจัยด้านสุขภาพ เปลี่ยนชีวิตคนไทยยุค Post Covid-19” วิทยากรหลายท่านเห็นตรงกันถึงทิศทางงานวิจัยด้านสุขภาพ จะต้องเน้นในประเด็นการวิจัยด้านเทคโนโลยี การผลิตยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการสุขภาพ ระบบฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องมองไปข้างหน้าเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และแก้ปัญหาได้จริง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการวิจัยระบบสุขภาพหลังโควิด-19 ว่าอาจต้องมุ่งเน้นการพัฒนาการวิจัยในเชิงระบบมากขึ้น พร้อมทำความเข้าใจอย่างจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมานักวิจัยจะคุ้นกับเรื่อง Issue base อยู่เสมอ และต้องหาข้อสรุปที่เกี่ยวข้องกับโจทย์บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ มีความเป็นเหตุเป็นผลกัน ที่สำคัญต้องนำไปใช้ได้จริงและต้องทันสถานการณ์ หลายเรื่องอาจจะดีจริงแต่ถ้าไม่ทันเวลา ตกขบวนก็ไม่มีประโยชน์และมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง

“ถ้าจำได้ซีรีส์เกาหลีที่ออกมามีคนติดกันมากมาย เขาไม่ได้ปล่อยให้ทำกันตามมีตามเกิด เขามีหน่วยงานทำอย่างจริงจัง รัฐบาลสนับสนุนเงินประสานหน่วยงานต่างๆ และเมื่อเกิดโควิดเขาตั้งใจจะเป็นฮับของวัคซีน โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะแล้วบอกว่าจะเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่จะเป็นฮับของวัคซีน ทำนองเดียวกัน ประเทศไทยก็มีการออกตัววิจัยวัคซีนกันไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่นเลย แต่จนบัดนี้เรายังไม่ได้วัคซีนของประเทศไทยมาใช้แม้แต่โดสเดียว เพราะฉะนั้นต้องกลับมาดูว่ารัฐจะต้องลงทุนอะไร เรื่องนี้มันซับซ้อนและไม่ง่ายเพราะผมอยู่ในขบวนการตลอด ต้องมีการสนับสนุนอย่างแท้จริง แค่คิดอย่างเดียวไปไม่รอด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นอกจากนี้ ระบบการดูแลสุขภาพพื้นฐาน การบริการฉุกเฉิน และการรวบรวมข้อมูลสุขภาพของประเทศ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนากการวิจัยเชิงระบบ เพื่อวางแผนรับมือสำหรับการเกิดโรคระบาดขึ้นอีกในอนาคต

ขณะที่ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(สกสว.) มองว่า ต้องทำระบบการวิจัยให้เน้นแก้ปัญหาและทำให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น ซึ่งมีอยู่ 5 เรื่องได้แก่ Health service, Health system, Health care, Health personnels & training และ Medicine & Equipments MED.Products

“ตอนเรามีปัญหาโควิดทำให้เราเรียนรู้ได้หลายอย่าง เราเคยบอกว่าเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ มีการเตรียมจะให้เงินทำเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่าสิ่งที่มีเพียงพอแต่ต้องเข้ามาจัดระบบมากกว่า จะทำอย่างไรให้ทราบอุปกรณ์อยู่ที่ไหน จะส่งต่อได้อย่างไรและมีคุณภาพระดับไหนเหมาะกับผู้ป่วยประเภทใด รวมทั้งระบบฝึกอบรมก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเราเห็นแล้วเมื่อเกิดโควิดบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ต้องมีการออกไปให้บริการนอกพื้นที่ ซึ่งต้องให้อสม. ช่วยด้วย ทำอย่างไรให้พวกเขามีความรู้ความสามารถในระดับหนึ่ง”

นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยนำเข้าเครื่องมือและยาจากต่างประเทศถึง 4 แสนล้าน และเคยพูดถึงการนำสมุนไพรมาทำเป็นยามาหลายปีแล้วแต่ยังไม่สำเร็จออกมาเป็นตัวยาจริงๆสักที นั่นอาจเพราะไม่ได้ทำวิจัยแบบครบวงจร หรือไม่มีคนต่อยอดที่พร้อมจะทำให้เกิดขึ้นจริงซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทำหลังจากนี้ และปีนี้ถือว่าโชคดีที่สกสว. ได้ระดมทุนจากภาคเอกชน ลงเงินกับมูลนิธิธนาคารกสิกรไทย คนละ 1,000 ล้านบาทรวมเป็น 2,000 ล้านบาท ทำการวิจัยภายใน 5 ปี ต้องมีพืชสมุนไพรที่นำมาผลิตเป็นยาอย่างน้อย 5 ตัว ขณะที่เดิมทีไม่เคยมีการบอกว่าจะให้เงินวิจัยด้านสุขภาพเท่าไหร่ แต่ปีนี้ 17,000 ล้านบาทสำหรับการวิจัยทั้งหมดและเป็นวงเงินด้านสุขภาพ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านยุทธศาสตร์ แผนและงบประมาณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์สวรส. ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์ สวรส. ปี 2565-2569 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1.สร้างและจัดการองค์ความรู้การวิจัยด้านสุขภาพ 2.พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 3.สร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัยและเครือข่ายวิจัย 4.พัฒนากลไกสนับสนุนการบริหารจัดการองค์กร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

ประธานอนุยุทธศาสตร์สวรส. กล่าวว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำเอาสถานการณ์โควิดมาเป็นโมเดลในการพัฒนาหลายอย่าง ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบ เชื่อมโยงกับหลายหน่วยงานทุกภาคส่วน และไม่สามารถละเลยการเชื่อมโยงกับโลก การพัฒนาการวิจัยจำเป็นต้องคิดล่วงหน้าเพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก อาจจะไม่ใช่ปัญหาเฉพาะโควิด อาจเป็นโรคอุบัติใหม่เกือบทุกโรค จะพัฒนาอย่างไรให้ตอบโจทย์ความพร้อม การตอบสนองเต็มรูปแบบเมื่อเกิดเหตุการณ์และระยะฟื้นฟู ซึ่งหากมองทั้ง 3 เรื่องนี้ได้จะมีความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้

สำหรับการวิจัยโควิด-19 ในประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ สวรว. ปี 2565-2569 คือ 1.การวิจัยด้านบทบาทของระบบบริการสุขภาพ 2.การวิจัยเชิงพื้นที่และการเชื่อมโยงทั้งระดับชาติและนานาชาติ 3.การวิจัยเชิงประเด็นที่สอดคล้องตามระยะ การแพร่ระบาดของโควิด-19 4.การวิจัยด้านการเตรียมการเพื่อการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ 5.การวิจัยด้านบทบาทของสังคมและการบูรณาการศาสตร์

ด้านชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มองว่า โลกหลังโควิดเป็นโลกของการแสวงหา ความหวัง โอกาส อนาคต และสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วจะไม่เปลี่ยนกลับมาอีก ซึ่งการจะแสวงหาอนาคตที่ดีก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันทั้งในระดับโลกและสังคม เพื่อสังคมที่ดีกว่า โดยการทำสัญญาประชาคมใหม่ สัญญาประชาคมเก่าเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังโควิดทุกคนต้องการสัญญาประชาคมใหม่

“สัญญาประชาคมในระบบสุขภาพทั้งในระดับโลก ภูมิภาคและสังคมไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร คำตอบคือต้องจัดลำดับความสำคัญในแต่ละสังคมให้เจอแล้วไปด้วยกัน ต้องสร้างนโยบายสาธารณที่ชัดเจนและมีทางเลือกที่หลากหลาย ต้องหาผู้กำหนดนโยบายสาธารณะที่ชัดเจน หลากหลายและถูกต้องรวมทั้งมีความรับผิดชอบ รวมถึงกระบวนการนโยบายสาธารณะที่มีส่วนร่วมเพื่อทั้งสองอย่างมุ่งไปสู่ประเด็นที่เป็นวาระแห่งชาติที่เป็นวาระที่เราทุกคนเชื่อมั่น ไว้ใจซึ่งกันและกันและเดินไปด้วยกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมของแต่ละสังคม นี่คือสัญญาประชาคมใหม่ที่เราต้องการ” ชาญเชาวน์ กล่าวพร้อมเสริมว่า ภายใต้สัญญาประชาคมของระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองจะส่งผลให้ได้คำตอบระบบสุขภาพที่เป็นธรรมในอนาคตได้อย่างไรเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบ

อย่างที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว เพราะฉะนั้นทิศทางงานวิจัยไม่อาจมองข้ามกลุ่มนี้ได้ ซึ่ง รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  กล่าวว่า การวิจัยสำหรบผู้สูงอายุจะต้องไม่ใช่งานวิจัยที่ลากยาวหลายปีเหมือนที่ผ่านมา เพราะอาจจะไม่ได้แก้ปัญหา (Pain Point) ได้ตามต้องการเพราะถึงเวลาสถานการณ์อาจเปลี่ยนไปแล้ว ต้องเป็นกระบวนการวิจัยแบบทำไปแก้ไปได้ เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น

นอกจากนี้ช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุหลายที่อยู่บนเกาะหรือพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางมารักษาได้ ต้องพัฒนาระบบให้มีพยาบาลของรพ.สต.ไปเยี่ยมบ้าน ทำเทเลเมดิซีนกับแพทย์โดยตรง หรือแทนที่จะไปสำรวจและทิ้งคำแนะนำไว้ ควรแก้ปัญหาไปเลยแบบทันท่วงทีโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“ในช่วงวิกฤตโควิดเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เราแทบไม่รู้เลยว่าหลายเรื่องที่คนไทยปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันมาจากผลลัพท์งานวิจัยเดี่ยวหรือการสังเคราะห์งานวิจัยทั้งสิ้น ทั้งการใช้หน้ากาก การใช้แอลกอฮอล์แบบไหนดีที่สุด อย่างการทดสอบหน้ากากแต่ละประเภทป้องกันสุขภาพได้อย่างไร เป็นตัวอย่างงานวิจัยง่ายๆ ไม่ซับซ้อนแต่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ช่วยให้ทุกคนเดินต่อได้แบบสบายใจ อยากให้ทิศทางงานวิจัยหลังจากนี้เป็นแบบ Meta ดู คือ ดูให้กว้าง ดูให้หลักที่เป็นจริง และดูในสิ่งที่เป็นไปได้ งานวิจัยแบบนี้จึงจะตอบโจทย์ได้จริง แก้ปัญหาได้จริงและทำให้นักวิจัยเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้สนับสนุนการวิจัย ผู้กำหนดนโยบายและประชาชนทั้งประเทศ”

อย่างไรก็ตาม นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ย้ำว่าสวรส.มีหน้าที่ที่ชัดเจนคือ เอาสิ่งที่เป็น evidence-based policy ไปเสนอให้ผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ผู้มีอำนาจจะดำเนินการหรือไม่นั้นอีกเรื่องนั้น  ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3 ตัวแปรหลักๆ ในเชิงนโยบาย คือ May – มิติกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลในสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ Can- สมมุติมีอำนาจแต่ทำได้หรือไม่ และ Choose สามารถทำได้ตามกฎหมายและมีปัญญาจะทำ แต่ควรจะทำหรือป่าว ซึ่งเป็นเหตุตั้งต้นของสวรส.

“ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ ส่วนใหญ่สิ่งที่พูดเป็นความเห็น ไม่ใช่เอาความจริงมาตั้งต้น เราถูกโน้มน้าวด้วยความเห็นจนน่าตกใจ หลังจากนี้เราจะทำอย่างไรในการนำบทเรียนจากโควิด-19 ไปใช้ สิ่งที่เราทำและเชื่อว่าดี คือ ระบบรับใบสั่งยาแล้วกลับบ้านและจะส่งยาตามไป สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้อยู่ต่อให้ได้ นี่คือบทเรียนในเชิงบวกที่ได้จากโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก”

อีกตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาของสวรส. คือการถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ. เป็นการกระจายอำนวจไปสู่ภูมิภาค ซึ่งผอ.สวรส. ยืนยันว่า เหล่านี้คือสิ่งสวรส.จะต้องศึกษาและไปนำผลลัพธ์กลับมา อาจมีคำถามว่าทำไมบางคนส่งงานวิจัยแล้วไม่ได้รับการสนับสนุน บางคนได้รับการสนับสนุน เพราะที่ผ่านเสียจุดเสียของงานวิจัยท่านั้นสนใจอะไรก็มุ่งทำเรื่องนั้น แต่บางครั้งมันไม่ตอบโจทย์ เพราะสวรสตั้งเป้าวิจัยเพื่อการแก้ปัญหา

ปิดท้าย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ สรุปหัวใจสำคัญของงานวิจัยด้านสุขภาพไทยในอนาคตจะต้องตีโจทย์ให้แตก โดยการวิจัยสุขภาพ ต้องวิจัยระบบสุขภาพ  สร้างผลลัพธ์และนวัตกรรมที่เอาไปใช้ได้และสร้างความแปลกใหม่ สามารถตอบโจทย์และตั้งโจทย์ให้สามารถใช้ได้นานเพื่อรองรับอนาคต รวมทั้งสร้างนักวิจัยและระบบวิจัยที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญนอกจากจะทำวิจัยเพื่อสนองฝ่ายนโยบายแล้ว ต้องเสนอด้วย เพราะนโยบายมักจะเป็นเรื่องเร่งด่วนและไม่รองรับอนาคตมากพอในบางอย่าง