ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิถีชีวิตของผู้คนในศตวรรษที่ 21 แม้จะมีความทันสมัย แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายต่อประเด็นด้านสุขภาพในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต การประกอบอาชีพ อาหารการกิน สภาพสังคม การเข้าสู่สังคมสูงวัย สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบระบบสุขภาพที่สอดคล้องและเกื้อกูลวิถีชีวิตผู้คน การปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นงานที่ไม่เพียงแต่ต้องขับเคลื่อนวาระการทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

เวทีเสวนา“ปฏิรูประบบสุขภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ” ในการประชุมวิชาการครบรอบ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านต่างชี้ทิศทางฉายภาพให้เห็นว่า แผนการดำเนินการเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพต้องคำนึงถึงข้อมูลเชิงลึกของปัญหาด้านต่าง ๆ อันเป็นเสมือนหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่จะถูกนำมาใช้ออกแบบแนวทางในการปฏิรูปประเด็นต่างๆ ให้เท่าทันกับปัญหาที่มีอยู่อย่างรอบด้าน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข มองว่า การปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นการดำเนินการ วางแผนการทำงาน ด้านสาธารณสุข ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยพุ่งเป้าไปยังสถานการณ์ ท้าทายรอบด้าน อาทิ การเกิดโรคระบาดที่มีความถี่มากขึ้นโดยเฉพาะโควิด -19 และโรคอุบัติใหม่ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และโรคในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือ กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ ซึ่งมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตจนเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย ปฏิรูประบบบริการ เน้นพัฒนาระบบ บริการปฐมภูมิ เชื่อมกับระบบบริการระดับอำเภอ และ ระบบบริการสุขภาพระยะยาว จัดวางแผนระบบบริการ สุขภาพของประเทศที่ครอบคลุมทั้งรัฐ เอกชน และ ภาคส่วนอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังจำเป็นจะต้องวางยุทธศาสตร์ ในการดูแลสุขภาพ ก่อนเกิดโรค ในกรณีต่างๆ อย่างครอบคลุม และเจาะกลุ่มเสี่ยงโรคต่างๆ จัดรูปแบบ การบริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงการรักษาและสร้างความร่วมมือ กับหน่วยงานอื่นในการผลักดันมาตรการดูแลสุขภาพ อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับการดูแลสุขภาพเช่นมาตรการ ด้านภาษีและกฎหมายที่สอดคล้องกับการดูแลสุขภาพ ระบบบริการที่จะผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานแบบองค์รวมส่งเสริมกิจกรรมดูแลสุขภาพในรูปแบบต่างๆ และปฏิรูประบบสารสนเทศ โดยมีการคิดรูปแบบแอพพลิเคชั่น มาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น มีระบบจัดการข้อมูลดูแลผู้ป่วย ที่เข้ามารักษา และนำการรักษาที่เป็นข้อมูลการวิจัยด้านสุขภาพมาวางแผนการทำงานในอนาคต

ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า การดูแลโรคในกลุ่ม NCDs ต้องการ ความเปลี่ยนแปลงหลายด้านเพื่อรับมือกับโรคต่างๆ ด้วยการสร้างสุขภาพที่ดี โดยเริ่มจากการพิจารณาถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยต้องผลักดันให้ทุกภาคส่วน และสถานประกอบการ ช่วยกันออกแบบแนวทางที่สามารถสร้างระบบ การดูแลสุขภาพที่ช่วยดูแลกลุ่มคนทำงาน ให้มีสุขภาพที่มีความพร้อมสำหรับการทำงานเพื่อเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

ปัจจุบัน แม้จะมีสถานประกอบการในหลายหน่วยงาน จะคำนึงถึงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในที่ทำงาน เเต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อย โดยพบว่า มีสถานประกอบการเพียงสิบเปอร์เซ็นต์ ที่ให้ความร่วมมือ การรณรงค์เรื่องนี้ จึงยังเป็นประเด็นที่ท้าทายการทำงานให้ต้องเร่งสร้างแรงจูงใจให้เกิดความตระหนักและความร่วมมือเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การปฏิรูประบบสุขภาพ ยังต้องการงานวิจัยที่ทำให้เห็นแนวทางหรือกิจกรรมที่สามารถสร้างความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วม การทำงานยังต้องการความคิดเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำมาพัฒนาการทำงาน ด้านนี้ให้ครบถ้วนและครอบคลุมปัญหาต่อไป

ดร.ศิริอร สินธุ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายในการทำงานให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี เช่นมาตรการในการดูแล ผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงโรคในกลุ่ม NCDs ที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปพยาบาลให้มีหลักสูตรการเรียนพยาบาลที่มีความรู้ ด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ อย่างครบวงจร

รวมถึงแนวทางที่สามารถสร้างสื่อการเรียนรู้การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุด้านต่างๆ เช่น การทำคลิป ที่ช่วยให้เรียนรู้การดูแลผู้สูงอายุที่ดูแล้วเข้าใจง่าย หรือสร้างนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ ให้ครอบคลุมแผนการดูแลผู้สูงอายุ และสร้างกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หรือหน่วยงานที่สามารถสื่อสารการทำงานดูแลผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ ออกแบบระบบการจัดการข้อมูล ที่นำไปดูแลผู้สูงอายุได้ตรงกับปัญหาด้านสุขภาพที่มี และสร้างระบบประเมินการดูแลผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อส่งข้อมูลให้ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง นำไปประกอบการทำงานดูแลผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุด

นพ.ยงยุทธ พงษ์สุภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ และการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า Big Rock ที่ 4 ของการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายในการสร้าง ความเป็นเอกภาพ บูรณาการการดูแลประชาชนอย่างเป็นธรรม เพียงพอและยั่งยืน  ดูแลประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม รวมถึงนอกจากดูแลคนไทยแล้ว ยังดูแลชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพัฒนาแนวทาง มาตรการดูแล ตามสิทธิต่างๆ เช่นบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการและภาครัฐอื่นๆได้อย่างเสมอภาคและมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน พัฒนาและบูรณาการระบบมาตรฐานการเบิกจ่าย ที่สามารถอำนวยความสะดวก ให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยใช้พื้นที่เป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง รองผู้อำนวยการมูลนิธิวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า Big Rock 5 ของการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ คือ การปฏิรูปเขตสุขภาพให้มีระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการ คล่องตัว และการร่วมรับผิดชอบด้านสุขภาพระหว่างหน่วยงานและท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการสร้างระบบ ดูแลสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ ที่มีประสิทธิภาพที่สุด ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันให้ได้มากที่สุด

“การปฏิรูปด้านนี้ ค่อนข้างล่าช้า เพราะมีกฎระเบียบเก่าที่ใช้มานาน แต่การสร้างระเบียบใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ว่า สามารถเปลี่ยนกฎระเบียบเก่าให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ เพื่อสร้างความคล่องตัวในการทำงานให้มากขึ้นได้ โดยต้องใช้การนำร่องด้วย แนวคิดแซนด์บ็อกซ์ มาช่วยออกแบบการทำงานขึ้น และนำไปทดลองใช้ มีระบบประเมิน และพัฒนา จนมั่นใจมั่นใจ ว่า เป็นแนวทางที่สร้างระบบการทำงานในพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการได้จริง” ดร.รพีสุภากล่าว

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่าการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ ได้พุ่งเป้า ไปที่ผู้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุ ที่ต้องได้รับการดูแล ที่ได้ออกแบบกันมาเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ การกระจายทรัพยากร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการบริการและ สามารถใช้งานได้จริง และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่

“ ที่ผ่านมา การระบาดของโควิด -19 ทำให้เกิดนิวนอร์มอลด้านสุขภาพ เกิดการบริหารจัดการที่สามารถนำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด มีการออกแบบแนวทางการดูแลสุขภาพ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่สามารถสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายปฏิบัติงานได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะระบบดิจิตอลที่ไม่เพียงแต่เข้ามามีบทบาทมาก แต่ยังแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีกำลังมีบทบาทสำคัญในการสร้างแนวทางในการช่วยดูแลสุขภาพให้เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่โดยไม่มีข้อจำกัด ทำให้มั่นใจได้ว่า การปฏิรูปด้านนี้ เดินมาถูกทาง แต่ก็ยังต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างกระบวนการดูแลผู้ป่วยอันเป็นประโยชน์ และสร้างหลักประกันเชิงประจักษ์ได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดมกล่าว