ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จับตานโยบาย “ชลน่าน” ปฏิรูประบบบริการรูปแบบใหม่ใช้ Telemedicine  และให้คำปรึกษาสุขภาพผ่านคอนแทคเซ็นเตอร์แก่คนไทยในต่างประเทศทุกมุมโลก สปสช.ชี้คนไทยทุกคน ทุกกลุ่มไม่ว่าอยู่ที่ไหนต้องมีสิทธิรับคำปรึกษาสุขภาพพื้นฐาน สามารถซื้อยาผ่าน OTC Drugs ลดปัญหาป่วยหนักถูกนำส่งกลับประเทศ พร้อมปรับระบบคอนแทคเซ็นเตอร์ใหม่ ให้พยาบาลวัยเกษียณทำงานที่บ้านสะดวกมากขึ้น สร้างงานสร้างอาชีพ

ตามที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผยมติที่ประชุมเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่คนไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีประเด็นการบริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพแก่คนไทยในต่างประเทศทั่วโลกผ่านระบบ Telemedicine  ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำ คำปรึกษาและคัดกรองอาการป่วยเบื้องต้น และยังตอกย้ำว่า คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพภายใต้สิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลจัดให้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดคำถามว่า แนวทางการให้คำปรึกษาทางสุขภาพแก่คนไทยในต่างแดนจะมีความพิเศษอย่างไร...

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงเรื่องดังกล่าว  ในปี 2567 ระบบการบริการจะเปลี่ยนไปมาก คือ การบริการที่ใช้ไอทีเข้ามาช่วย อย่างล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ที่มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานบอร์ดฯ ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบว่าจะมีการเปิดระบบบริการให้คำปรึกษาคนไทยจากทั่วโลก ซึ่งมีเป็นล้านๆคนที่อาจเดินทางไปยังต่างประเทศ  ล้วนสามารถเข้ามาปรึกษาด้านสุขภาพกับทางสปสช.ได้

“ท่านรัฐมนตรีผลักดันเรื่องนี้ และกำลังประสานกับสถานทูตทั่วโลกเกี่ยวกับการประสานผู้ป่วยที่สามารถซื้อยาโอทีซี หรือ OTC Drugs ซึ่งเป็นยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์(Over-the-counter drugs) แต่ละประเทศจะมีกลุ่มยาที่สามารถจำหน่ายได้ไม่เหมือนกัน โดยเมื่อทางสปสช.ทราบว่าประเทศไหนจำหน่ายยาชนิดใดได้ เมื่อมีข้อมูลและคนไทยที่ไปอยู่ประเทศนั้นๆ เจ็บป่วยต้องการความช่วยเหลือเบื้องต้น เราก็จะสามารถแนะนำเขาได้ ตรงนี้เป็นการใช้ระบบไอที เทเลเมดิซีน เข้ามาช่วยคนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงในอนาคตไทยก็จะมีระบบการปรึกษาแบบโฮมวอร์ด(Home Ward)  การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน” เลขาฯสปสช.กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในปี2567 ระบบนัดหมายออนไลน์จะมีการรองรับมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในสังกัดไหนก็ตาม ซึ่งการใช้ระบบไอทีจะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันไหนก็ตาม ทั้งRama App  Siriraj Connect  แอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือแอปฯเป๋าตัง จะเชื่อมโยงกันหมด การบริการจะเปลี่ยนแปลงใหม่

สปสช.รื้อระบบคอนแทคเซ็นเตอร์ใหม่ ให้พยาบาลวัยเกษียณทำงาน

“ที่สำคัญ สปสช.จะปรับรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ หรือสายด่วนสปสช. 1330 ใหม่ โดยจะรื้อระบบ ปรับเป็นคอนแทคเซ็นเตอร์ (Contact Center) ทั้งสายด่วน และช่องทางติดต่ออื่นๆ อย่างไลน์สปสช.  @nhso  เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องมานั่งทำงานที่ออฟฟิศ สามารถทำที่บ้านได้ อย่างพยาบาลเกษียณอายุราชการก็จะมาทำงาน สร้างรายได้วัยเกษียณได้อีกทาง” เลขาธิการสปสช.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการให้คำปรึกษาคนไทยในต่างแดนจะเน้นกลุ่มไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ทุกคนที่เป็นคนไทยต้องได้สิทธิรับคำปรึกษาด้านสุขภาพพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมาคนไทยในต่างแดนบางส่วนป่วย  ไม่สบายไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ อาจด้วยปัจจัยต่างๆ  สิ่งสำคัญพวกเขาต้องได้รับการดูแล  เหมือนแรงงานต่างชาติมาประเทศไทยก็ยังได้รับการดูแลสุขภาพ ในขณะที่คนไทยอยู่ต่างบ้านต่างเมือง หลายคนต้องทนทุกข์กับสภาพร่างกาย เจ็บไข้ได้ป่วย  ซึ่งคนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหน ควรมีสิทธิได้รับการดูแลสุขภาพเช่นกัน

“ที่ผ่านมาเคยมีคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ  เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่สามารถไปรักษาที่ไหนได้ สุดท้ายป่วยหนัก จนไปถึงสถานทูตและประสานมายังประเทศไทยว่า จะส่งตัวกลับ ซึ่งไม่พอ กลายเป็นว่าต้องประสานว่าจะส่งคนไข้ไปที่ไหนเพราะอาการหนักมากแล้ว  กลายเป็นปัญหามาตลอด ดังนั้น จากการหารือกับทางกงสุล จึงคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องการดูแลคนไทย เราเน้นเรื่องสุขภาพ ปัญหาเหล่านี้ซุกอยู่ใต้พรม เราต้องช่วยเหลือด้านสุขภาพกับพวกเขา ซึ่งเริ่มแรกคนไทยที่โน้นอาจไม่มั่นใจกลัวถูกจับไม่กล้าปรึกษา เราก็จะเปิดช่องทางผ่านแอปฯไลน์ก่อน” นพ.จเด็จ กล่าว

ดูแลคนไทยในต่างประเทศทุกกลุ่ม

ผู้สื่อข่าวถามว่าการดูแลคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ จะรวมกรณีกลุ่มไปทำงานที่เรียกว่า ผีน้อย หรือไม่   นพ.จเด็จ กล่าวว่า เราเน้นดูแลด้านสุขภาพเป็นหลัก ต้องยืนยันตรงนี้ เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน  อย่างไรก็ตาม  เรื่องการดูแลสุขภาพคนไทยในต่างแดน ทางสปสช. มีการตรวจสอบแล้วว่า  ไม่ขัดระเบียบหรือกฎหมายใดๆ  

เมื่อถามถึงกรณีโครงการนี้จะเริ่มประเทศใดก่อน นพ.จเด็จกล่าวว่า จากการหารือในบอร์ดสปสช. คาดว่าจะกระจายไปประเทศต่างๆให้มากที่สุด เริ่มแรกอาจเป็นเกาหลีใต้  อิสราเอล สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเปิดตัวโครงการดังกล่าวเป็นของขวัญปีใหม่ในเร็วๆนี้ 

ปี 67 มุ่งหน้าดิจิทัลสุขภาพ เบิกจ่ายเงินหน่วยบริการรวดเร็วขึ้น

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2567 เรื่องดิจิทัลสุขภาพนั้น สปสช.เตรียมเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ คือ 1.ปรับระบบเซิร์ฟเวอร์เดิมเป็นระบบคราวด์  2.เปลี่ยนระบบไอที ที่มีการเชื่อมข้อมูลเพื่อประโยชน์การเบิกจ่าย ดังนั้น ทิศทางปี 2567 จะเป็นการทำงานควบคู่การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค  และใช้ระบบไอทีเชื่อมข้อมูลมากยิ่งขึ้น  3.พัฒนาระบบเบิกจ่ายให้หน่วยบริการต่างๆทั้งรัฐและเอกชนรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเชื่อมข้อมูลแล้วต้องรวดเร็ว และ4 จะมีการจัดระบบตรวจสอบ (Audit)  ที่กำหนดชัดเจนว่า  หากทุกคนทำตามกติกา การเบิกจ่ายเงินจะต้องรวดเร็วมากขึ้น เพราะหากจะต้องส่งข้อมูลกันใหม่ คีย์ข้อมูลตลอดคงไม่ได้ ดังนั้น ในปี 2567 จึงหวังว่าจะเปลี่ยนผ่านจากปี 2566 ด้วยระบบไอทีให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูล จ่ายเงินรวดเร็วขึ้น มีระบบตรวจสอบใช้ AI มาช่วย เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยไอที

รอติดตามสกู๊ปประเด็นปฏิรูประบบเบิกจ่ายรวดเร็วขึ้นเร็วๆนี้....