ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. “ดูแลสุขภาพคนไทยสิทธิบัตรทองในต่างประเทศ” ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล เป็นของขวัญปีใหม่  ไม่เสียค่าใช้จ่าย สร้างความอุ่นใจด้านสุขภาพ  เริ่ม 15 ม.ค. 67 พร้อมแจงวิธีรับบริการ

วันที่ 29 ธ.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบ “แนวทางการจัดระบบบริการเพื่อดูแลคนไทยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในต่างประเทศผ่านระบบบริการการแพทย์ทางไกล” นำเสนอโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชนชาวไทยที่อาศัยหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศ 

(ข่าว: ลุ้นของขวัญปีใหม่ "ชลน่าน" จัดสิทธิสุขภาพคนไทยในต่างแดน)

สำหรับที่มาของการจัดระบบบริการฯ นี้ เนื่องจากมีคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ หรือคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ มีส่วนหนึ่งที่เกิดภาวะเจ็บป่วยและต้องเข้ารับบริการสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ แต่ด้วยปัญหาด้านภาษาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์และการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ถูกพัฒนาและมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยมีระบบบริการที่อำนวยความสะดวกต่อการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ และในส่วนของ สปสช. เองก็มีสิทธิประโยชน์นวัตกรรมบริการที่ช่วยเพิ่มการเข้ารับบริการให้ประชาชน อย่างสิทธิประโยชน์บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในกรณีที่ผู้มีสิทธิบัตรทองมีอาการเจ็บป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illness)

สามารถรับบริการการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชันด้านสุขภาพของผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกล 4 แห่ง ที่เป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช. ได้ โดยบริการการแพทย์ทางไกลนี้ เป็นการให้บริการผู้ป่วยได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด ดังนั้นจึงสามารถที่จะขยายความครอบคลุมเพื่อให้บริการคนไทยในต่างประเทศได้ด้วย สอดคล้องกับมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดไว้ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด ซึ่งรวมถึงคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ 

ที่ผ่านมาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ สปสช. ได้หารือกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถทำได้ โดยขณะนี้ สปสช. ได้ดำเนินการประสานกับผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกลทั้ง 4 แห่งของ สปสช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้บริการด้านสุขภาพกับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศในรูปแบบบริการการแพทย์ที่ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ประเมินอาการเจ็บป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับคนไทยในต่างประเทศโดยแพทย์ไทย นอกจากนี้ สปสช.ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องความร่วมมือด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางเพื่อให้คนไทยที่อยู่ในประเทศต่างๆ ได้รับทราบสิทธิประโยชน์บริการการแพทย์ทางไกลต่อไป 

“ขณะนี้ระบบการแพทย์ทางไกลเพื่อให้บริการสุขภาพสำหรับคนไทยสิทธิบัตรทองที่ทำงานในต่างประเทศพร้อมแล้ว ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของนโยบาย 30 บาทอัปเกรด” นพ.ชลน่าน กล่าว
   

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนของขั้นตอนการรับบริการนั้นไม่ยุ่งยาก คนไทยที่มีสิทธิบัตรทองซึ่งอยู่ในต่างประเทศสามารถเลือกรับบริการการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการที่ สปสช. กำหนดได้ โดยรับบริการแอปใดแอปหนึ่ง ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการใช้สิทธิรับบริการจะใช้เพียงหนังสือเดินทาง (Passport) หรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อยืนยันตัวตนการใช้สิทธิ และจะได้พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่อยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันมี 4 แอปพลิเคชันที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. ประกอบด้วย 

1.แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @Sooksabaiclinic ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ https://telemed.salubermdthai.com/

2.แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) โดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @clicknic 

3.แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) โดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @mordeeapp ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ https://form.typeform.com/to/qKY8gV4X

และ 4.โททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) โดยเดอะโททอลเล่คลินิก สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @totale

“ย้ำว่าบริการนี้จะเป็นการพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อขอรับคำปรึกษาในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความอุ่นใจด้านสุขภาพให้กับคนไทยที่อยู่ในต่างแดนได้ ส่วนเรื่องยานั้น การส่งยาไปจากประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดขัดในด้านกฎหมาย ดังนั้นผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนอาจออกใบสรุปอาการและยาที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ป่วยที่ต้องไปพบบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศนั้นๆ เพื่อรับการดูแลต่อไป" เลขาธิการ สปสช. กล่าว