ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์มหิดล เผยข้อมูลทีมวิจัย Imperial College London  วิเคราะห์ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด19 ช่วย Save ชีวิตคนทั่วโลกได้ 19.8 ล้านคนจาก 185 ประเทศ มีประเทศไทยรวมในนั้นช่วยชีวิตได้ 1.7 แสนคน ล่าสุดทีมวิจัยรวบรวมข้อมูลต่อจากนั้นตั้งแต่ 9 ธ.ค.64-3 ก.ค.65 พบข้อมูลเพิ่มการช่วยชีวิตคนไทยได้อีก 382,600 คน  รวมแล้วตั้งแต่ 8 ธ.ค.64- 3 ก.ค.65 ช่วยชีวิตคนในประเทศกว่า 4.9 แสนคน

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 รศ.ดร. ชรินทร์ โหมดชัง  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  และผู้เชี่ยวชาญด้าน  Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ  ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงประสิทธิภาพงานวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด19 ว่า  ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 กรณีป้องกันการเสียชีวิตนั้น ได้มีการศึกษาและเป็นผลงานตีพิมพ์จากกลุ่มวิจัย Imperial College London ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยใหญ่ที่ทำวิเคราะห์ข้อมูลการระบาด โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนโควิด 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.2563- 8 ธ.ค.2564 ใน 185 ประเทศทั่วโลก พบว่าวัคซีนสามารถช่วยชีวิต หรือเซฟชีวิตมนุษย์ได้ประมาณ 19.8 ล้านคน 

รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวอีกว่า ใน 185 ประเทศมีประเทศไทยรวมอยู่ในนั้นด้วย ข้อมูลเฉพาะประเทศไทยพบว่าสามารถเซฟชีวิตคนได้ถึง 382,600 คน แต่ทีมวิจัยได้หยุดวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2564  ซึ่งหลังจากนั้นประเทศไทยเพิ่งเจอการระบาดหนักจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 BA.4 และ BA.5 ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางกรมควบคุมโรคจึงประสานเพื่อทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของไทย

"ทีมวิจัยจึงได้ใช้แบบจำลองเดียวกันกับทีม Imperial College London  มาศึกษาเพิ่มเติมว่า จนถึงปัจจุบันวัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนในประเทศไทยจากโควิด-19 ไว้ได้แล้วเท่าไหร่ พบว่าหลังจากวันที่ 8 ธ.ค. 64 เป็นต้นมา ข้อมูลตั้งแต่วันที่ะ 9 ธ.ค.2564 จนถึงวันที่ 3 ก.ค.2565 วัคซีนโควิดสามารถช่วยรักษาชีวิตคนในประเทศไทยจากโควิด-19 ไว้ได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 107,400 คน  โดยถ้านับรวมข้อมูลจากทีมวิจัยของลอนดอนก่อนหน้านี้ รวมกับข้อมูลล่าสุด พบว่า วัคซีนป้องกันโควิดสามารถช่วยชีวิตคนในประเทศไทยตั้งแต่ 8 ธ.ค.63 - 3 ก.ค.65 แล้ว  490,000 คน" รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าว

 

รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเรื่องการลดอัตราการเสียชีวิตนั้น ก่อนจะมีการฉีดวัคซีนพบว่า อัตราการเสียชีวิตของคนติดโควิดเฉลี่ย 1.15% ของทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะยิ่งอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังจากฉีดวัคซีนแล้วลดน้อยลงเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าการวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลมาจากแหล่งใด รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า วิเคราะห์ข้อมูลจากฐานดาตาเบสจอห์นฮอปกินส์ ร่วมกับข้อมูลการฉีดวัคซีนที่มีการใช้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมูลที่เปิดเผยสาธารณะ 

เมื่อถามว่ามีการแยกเฉพาะหรือไม่ว่า วัคซีนชนิดไหนป้องกันการเสียชีวิต หรือต้องฉีดกี่เข็ม เข็ม 1 เข็ม 2 หรือบูสเตอร์จะเซฟชีวิตได้มาก รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า ไม่ได้วิเคราะห์แยก เนื่องจากมีตัวเลขงานวิจัยเรื่อยๆว่า ประสิทธิภาพป้องกันเสียชีวิตหลังเข็ม 1 เข็ม 2 หรือกระตุ้น จากวัคซ๊นแต่ละชนิดเป็นอย่างไร ซึ่งความเป็นจริงวัคซีนแต่ละชนิดในการป้องกันเสียชีวิตไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่การฉีดวัคซีนแต่ละชนิดจะแตกต่างกันตามช่วงเวลาของสายพันธุ์ แต่ไม่ว่ายี่ห้อใดสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้
 
 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org