ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยข้อมูลกลุ่มเสี่ยง 608 แม้ฉีดวัคซีน 3 เข็มแล้วยังเสียชีวิต เหตุทิ้งช่วงหลังเข็ม 3 นานเกิน!   ล่าสุดอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะต้องบูสเตอร์ห่างจากเข็มล่าสุดประมาณ 3-4 เดือน   พร้อมจัดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB)  ให้กลุ่มป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เข้ามาล็อตแรกสัปดาห์หน้า 7,000 ชุด

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  แถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 ว่า ผู้ป่วยในรพ.รายใหม่วันนี้อยู่ที่ 1,814 ราย ปอดอักเสบ 794 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 369 ราย ส่วนเสียชีวิตจำนวน 17 ราย  อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเน้นผู้ป่วยนอนในรพ. แต่ยังมีข้อมูลอื่นๆอีก  คือ กรณีรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีจำนวน 143,827 คน  อีกข้อมูลประชาชนรายงาน ATK  และข้อมูลสอบสวนโรคเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งใช้ 4 ข้อมูลประกอบกัน แต่ข้อมูลที่ให้ความสนใจมากที่สุด คือ ผู้ป่วยอาการรุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต แนวโน้มเพิ่มเล็กน้อย สิ่งที่ต้องจับตาคือ หลังหยุดยาวจะเป็นอย่างไร

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ในจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต ส่วนใหญ่ยังเป็นกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จังหวัดใหญ่ ซึ่งในช่วงเทศกาลมีประชาชนทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล เดินทางกลับภูมิลำเนา อาจมีเหตุการณ์ติดเชื้อต่างจังหวัดได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังจับตา รวมทั้งช่วงนี้นักเรียนเปิดเทอมอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตโอมิครอน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค รวมคนท้อง ทั้งหมด 98% และยังเป็นกลุ่มไม่ได้รับวัคซีน หรือได้ไม่ครบ

“ที่น่าสนใจ คือ ระยะหลังพบว่ากลุ่ม 608  แม้ฉีดวัคซีน 3 เข็มแล้วยังเสียชีวิต โดยเฉพาะหลังฉีดเข็ม 3 แล้ว 3-4 เดือน ดังนั้น อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแนะนำว่าการฉีดเข็มกระตุ้นเข็มต่อไปควรห่างจากเข็มล่าสุดประมาณ 3-4 เดือน  อีกกลุ่มหนึ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยโรคไต ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่พบการเสียชีวิตมากสุด ถึง 36 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต 152 ราย” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า  ขณะนี้การลดการเสียชีวิตในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ สำคัญมากเพราะที่เสียชีวิตขณะนี้พบว่าเกือบ 100 % เป็นกลุ่มนี้ จึงต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้น ตามที่สธ. ส่วนกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปแล้วภูมิต้านทานขึ้นไม่ดี ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ทางศบค. และ สธ.ได้จัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) มาให้ในกลุ่มป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ซึ่งจะเข้ามาล็อตแรกสัปดาห์หน้า 7 พันชุด 1ชุดมายา 2 ตัว ฉีดสะโพก 2 ข้าง อยู่ได้นาน 6  เดือน กลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้นด้วยไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์กุมารแพทย์แพทย์เจ้าของไข้โดยคำนึงถึงความเสมอภาคและความเป็นไปได้ ส่วนยาที่เหลือจะทยอยเข้ามาจนครบ 2.5 แสนชุด

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : อัตราครองเตียงเริ่มหนัก! พบเพิ่มในพื้นที่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี)

 

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดข้อมูลวัคซีนโควิด19 เซฟชีวิตคนไทย 490,000 คน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.or