ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไขข้อสงสัยกรณีถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ. ยังต้องวัดมาตรฐานคุณภาพบริการหรือไม่...เพื่อการันตีความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ ชี้คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่(กสพ.) กลไกสำคัญขับเคลื่อนงานช่วงเปลี่ยนผ่าน

 

เป็นอีกประเด็นที่มีข้อสงสัยกรณีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป เกิดคำถามว่า ยังจำเป็นต้องมีการประเมินคุณภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิที่ถ่ายโอนไปอบจ. ซึ่งไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีก ทั้งนี้ เพื่อการันตีมาตรฐานการบริการแก่ประชาชน

เรื่องนี้  นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) ให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าว Hfocus ว่า  จากการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ หรือบอร์ดปฐมภูมิ ตามพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ให้รวมหน่วยบริการปฐมภูมิ อย่าง รพ.สต. และรูปแบบต่างๆ ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ รพ.สต.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมถึงการถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ. คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ฯลฯ   

ในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางบอร์ดปฐมภูมิ ได้มีการพิจารณาและเตรียมการเรื่องการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข โดยมีมติและได้ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการกระจายอำนาจว่า รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไป ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ประมาณ 50% จากประมาณกว่า 3,300 แห่งที่จะถ่ายโอนไปในเดือน ต.ค. นี้ จะมีประมาณ 1,600 แห่งที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายแล้ว เช่น มีแพทย์ พยาบาล มีนักวิชาการ มีระบบส่งต่อ และมาตรฐานระบบข้อมูล  ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการได้ เนื่องจากตามกฎหมายการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการจะเป็นการการันตีคุณภาพมาตรฐานให้ประชาชนว่า จะได้รับบริการตามที่ควรจะเป็น

"ในหนังสือที่ส่งให้คณะกรรมการกระจายอำนาจได้ระบุว่า กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนแล้วต้องรันระบบให้ต่อเนื่อง เช่น การมีบุคลากรตามสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งในที่ประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา มีคณะกรรมการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า กรณีแพทย์ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในโรงพยาบาลชุมชน ไปปฏิบัติหน้าที่ใน รพ.สต. แต่ต่อไปหากถ่ายโอนไป อบจ.แล้ว อยู่คนละสังกัดจะทำอย่างไร ซึ่งบอร์ดฯ ระบุว่า สำหรับหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องจัดบริการต่อเนื่องต่อไป  ทั้งแพทย์ บุคลากร ระบบบริการ ระบบส่งต่อ อยากให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่” นพ.สุวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเชื่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดต้องมีการตกลงในพื้นที่ โดยผ่านคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่(กสพ.) มีนายก อบจ.เป็นประธาน มีนพ.สสจ.เป็นรองประธาน โดยกลไกแบบนี้จะช่วยได้ ส่วนส่วนกลางจะออกกติกาใหญ่ๆ อย่างสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะมีอนุกรรมการชุดหนึ่งว่าด้วยคุณภาพมาตรฐาน ระบุว่า หน่วยบริการที่ผ่านเกณฑ์ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานแบบไหน อย่างไร เราออกกติกา แต่การหารือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ในช่วงรอยต่ออย่าไปคิดว่า ใครอยู่สังกัดไหน ให้คิดว่าเราจะบริการชาวบ้านอย่างไร อย่างน้อยคุณภาพต้องเท่าเดิมหรือมากขึ้น และมีงบประมาณเพิ่มขึ้น การบริการก็ต้องดีขึ้น

ส่วนหน่วยบริการที่ยังขึ้นทะเบียนไม่ได้นั้น จะมีกลไกของ กสพ.ที่มีหน้าที่สนับสนุน เพราะท้ายที่สุด รพ.สต.ต้องขึ้นทะเบียนได้ เพราะอย่างน้อยเมื่อขึ้นทะเบียนก็จะการันตีกับประชาชนได้ว่า มีคุณภาพเทียบเท่ารพ.สต.ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เรื่องนี้จึงต้องมีการเตรียมพร้อม เตรียมการต่างๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเพราะอะไร รพ.สต.ส่วนหนึ่งยังไม่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ  นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า  บางส่วนที่ยังขึ้นทะเบียนไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ดังนี้ 1. โครงสร้าง 2.กำลังคน 3.ระบบ ยกตัวอย่าง เรื่องกำลังคน ประชาชนประมาณ 10,000 คน อย่างน้อยต้องมีหมอ 1 คน มีพยาบาล 2 คน มีนักวิชาการสาธารณสุข หรือเจ้าพนักงาน 2 คน แต่บางพื้นที่ไม่มีหมอปฏิบัติงาน ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์ ดังนั้น หากท้องถิ่นมีความพร้อมก็สามารถจ้างแพทย์เองได้ ซึ่งในบอร์ดมีการยกตัวอย่าง อบจ.ภูเก็ตมีความพร้อม

เมื่อถามว่า ในพ.ร.บ.ปฐมภูมิฯ บังคับหรือไม่ว่า รพ.สต.ต้องขึ้นทะเบียนทุกแห่งหรือไม่ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า กฎหมายระบุว่า  การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการต้องทำตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขเหล่านี้ แต่หากยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ แต่บางส่วนอาจไม่ได้รับการสนับสนุน ตัวอย่างระบบข้อมูลสารสนเทศ หรือโทรเวชกรรม หรือดิจิทัลเฮทธ์ ก็จะได้รับการสนับสนุนก่อน เพราะเขามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมกว่า ซึ่งหลักๆกฎหมายเราเน้นการสนันบสนุนเป็นหลัก ไม่ใช่กฎหมายที่ลงโทษ

เมื่อถามต่อว่า กลไกการกำหนดให้ รพ.สต. ขึ้นทะเบียนเพื่อให้ได้มาตรฐานมีลักษณะคล้ายๆ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) หรือไม่ ที่มีการประเมินคุณภาพหน่วยบริการ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ในกลไกการทำงานของบอร์ดปฐมภูมิ จะมีอนุกรรมการ 8 ชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะอนุกรรมการว่าด้วยคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งมี นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี อดีตผอ.สรพ. มานั่งเป็นประธานอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ เราทราบดีว่า หน่วยบริการปฐมภูมิทั้งประเทศ 1 หมื่นแห่ง มีต้นทุนไม่เท่ากัน ดังนั้น หากออกมาตรฐานเชิงบังคับย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงต้องออกเป็นเกณฑ์เพื่อการพัฒนามากกว่า ในการเตรียมคน เตรียมพี่เลี้ยง ให้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วต่อไปต้องประเมินคุณภาพเหมือน รพ.สต.ติดดาวอีกหรือไม่ หรือใช้กลไกของบอร์ดปฐมภูมิ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า  หากเป็นไปพ.ร.บ.ฯ การทำคุณภาพต้องเป็นไปตามเกณฑ์ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเกณฑ์การดำเนินการของ รพ.สต. โดยเกณฑ์เหล่านี้อิงตามเดิมเหมือนที่เคยทำ เช่น รพ.สต.ติดดาว ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ไม่ได้บังคับ แต่เน้นเพื่อการพัฒนา โดยหากที่ไหนผ่านได้ก็เป็นพี่เลี้ยงให้แก่รพ.สต.ที่ยังไม่ได้ผ่าน โดยหลักการต้องมีการประเมินคุณภาพ

เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้ว สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) จะเป็นผู้มาดูแลเรื่องคุณภาพของ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนใช่หรือไม่ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า  คงไม่สามารถระบุว่า เป็น สสป. ดูแลเรื่องนี้ แต่เป็นคณะกรรมการปฐมภูมิ ที่มีอนุกรรมการดูแลเรื่องคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการ

ผู้สื่อข่าวย้ำว่าการทำคุณภาพการบริการ รพ.สต.ต้องมีค่าใช้จ่าย หรืองบประมาณเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า   ในคู่มือเล่มการถ่ายโอนได้เขียนเรื่องการติดตามประเมินผล ซึ่งส่วนตัวแม้จะมาทำงานเป็นผอ.สปป.  แต่ยังทำงานในพื้นที่ในอำเภอนาทวี จึงทราบว่า ยิ่งช่วงเปลี่ยนผ่าน การประเมินผลและติดตาม คือหัวใจของการทำให้วงล้อของการพัฒนาดีขึ้น หากทิ้งไปเลยจะน่ากลัว จะเป็นจุดอ่อนของระบบ แต่ต้องตั้งหลักว่า การประเมินเป็นการช่วยพัฒนา เป็นการเสริมพลัง ซึ่งส่วนตัวไม่ได้คิดว่า อยู่สังกัดไหน สิ่งสำคัญต้องให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์ เจ้าหน้าที่มีความสุข

กลไกที่วางไว้ บอร์ดสุขภาพปฐมภูมิ ไม่ได้ดูเฉพาะหน่วยงานปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข แต่เราดูทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ร่มของกฎหมาย ซึ่งรวมถึงกระทรวงกลาโหม หรือหน่วยบริการสังกัดมหาวิทยาลัย หรือในกทม. ในอบจ.จะอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ มติที่ประชุมบอร์ด วันที่ 11 ส.ค.ยังเห็นชอบกฎหมาย 2 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นที่ 1 เมื่อมีประเด็นการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไป อบจ. กฎหมายเดิมไม่ได้เขียนถึงคณะกรรมการระดับพื้นที่ หรือกสพ. เราจึงต้องแก้กฎหมายให้มีคณะกรรมการชุดนี้อยู่ใน พ.ร.บ.ฯ ด้วย และประเด็นที่ 2  ให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงมีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหา เรื่อง ลักษณะของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการที่จะขึ้นทะเบียน การขึ้นทะเบียน และการแบ่งเขตพื้นที่ เพื่อเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เพื่อให้การบริการสุขภาพปฐมภูมิมีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถามทิ้งท้ายว่า การดำเนินการให้ได้เกณฑ์คุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ นพ.สุวัฒน์ ย้ำว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรื่องนี้

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org