ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข หมายถึงการขับเคลื่อนระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบบริการ อันหมายถึงการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ตติยภูมิ ระบบกำลังคนด้านสุขภาพ ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ระบบเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ได้แก่ ยา และเวชภัณฑ์เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยโรค และเครื่องมือในการรักษา และระบบการจัดการงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายในอนาคต ประสบการณ์จากการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้พบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ มากมาย ซึ่งทำให้ต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อรองนรับความเปลี่ยนแปลง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ระบบบริการสุขภาพ ความคาดหวังในทศวรรษหน้า” ในการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ภายใต้แนวคิด “ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ก้าวไปด้วยกันเพื่อสร้างระบบบริการวิถีใหม่” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็ฯเตอร์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมว่า งานของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จำเป็นต้องมุ่งเน้นการบูรณาการส่วนต่างๆ ให้มีทิศทางเดียวกัน และมีการประเมินการทำงานทุกปีว่า หน่วยบริการสาธารณสุข แต่ละแห่งประสบความสำเร็จในการบริการประชาชนให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน หรือเป็นไปตามแผนที่วางไว้ในระดับไหน

“ ระบบบริการสาธารณสุข จะต้องมีการพัฒนาอย่างมีทิศทาง ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ อยู่แล้วอย่างชัดเจน เช่นมีระบบบริการสุขภาพ ที่มีศักยภาพที่เข้มแข็ง แต่ประเด็นนี้ ก็ถูกท้าทายความสามารถ โดยอุปสรรคต่างๆมาอย่างยาวนาน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่มองในแง่บวกได้ ว่า ประชาชนเริ่มสนใจการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น และทำให้ทราบว่า เราต้องปรับปรุงการทำงานด้านไหนบ้าง การระบาดของโควิด -19 สอนให้เราต้องหาวิธีการทำงานใหม่ๆ ให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  โควิด -19 สอนให้เรารู้ว่า วิธีการทำงานในอดีต หรือแม้กระทั่งวิธีการรักษา ที่บันทึกกันไว้ในประวัติศาสตร์ อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับ ไวรัส ที่กลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ในอนาคต โรคอุบัติใหม่ อาจจะถี่ขึ้น แปลกขึ้น รุนแรงขึ้น และคาดการณ์ได้ยากขึ้น ต้องมีระบบการจัดการ ที่รวดเร็ว มีกระบวนการทำงานด้วยข้อมูลพื้นฐานที่นำวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์และทำงานสอดคล้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไร” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุด้วยว่า ในอนาคต ระบบบริการสาธารณสุข จะต้องพัฒนาขึ้น โดยมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นปัจจัยสำคัญ ในการเปลี่ยนโฉม ระบบสาธารณสุข ในทศวรรษหน้า

“เมื่อก่อนรถที่ไปดูแลประชาชนเรื่องหลอดเลือดที่มีเครื่อง CT scan ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเป็นรถขนาดใหญ่เข้าไปถึงบางพื้นที่ยาก สมัยนี้ อุปกรณ์ต่างๆ มีขนาดเล็กลง จนสามารถเข้าไปบริการในพื้นที่ต่างๆ ได้สะดวกขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ พัฒนาอยู่ตลอดเวลา เราต้องตามให้ทันเพื่อนำมาใช้กับการดูแลรักษาประช่าชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ”ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

 นพ.เกียรติภูมิระบุอีกว่า ในอนาคต จำเป็นต้องมีแผนผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับปัญหาหรือนโยบายใหม่ ๆ ด้านสุขภาพ วางยุทธศาสตร์ ในการดูแลสุขภาพเพื่อระวังไม่ให้เกิดโรค โดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือ กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ ซึ่งลดลงได้จากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน ในอนาคต ต้องวางแผนเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนการเกิดโรคมากขึ้น ผลักดันมาตรการดูแลสุขภาพที่ช่วยลดโรคลงได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยซึ่งกำลังเป็นสังคมสูงวัยจำเป็นต้องออกแบบเป้าหมายในการทำงานให้พร้อมรับมือกับการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี ด้วยความรู้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้สูงอายุยังมีโอกาสเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า รวมถึงมั่นใจว่าได้สร้างระบบการบริการสุขภาพ ที่ลดผู้ป่วยลงได้จริง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงเติบโตไปในทิศทางที่เหมาะสม