ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ.ประชุมอัปเดตข้อมูล "วัคซีนอาเซียน" ไทยแกนนำหลัก ด้านผอ.สถาบันฯ เผยติดตามข้อมูลวัคซีนโควิดรุ่น 2 ต้องพิจารณาข้อมูลใกล้ชิด เพราะเมื่อวัคซีนจำเพาะสายพันธุ์อาจเปลี่ยนแปลงจากการกลายพันธุ์ในอนาคตได้ ย้ำ! ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีเพียงพอ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขอกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุมาฉีดลดป่วยหนัก เสียชีวิตได้จริง

เมื่อเวลา 09.35 น. วันที่ 14 กันยายน  ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดแถลงข่าว ASEAN Vaccine Network Consultation Meeting on Regional Vaccine Manufacturing Development  หัวข้อ: ภาพรวมของการจัดประชุม และโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนของอาเซียนในระยะต่อไป โดย นายสาธิต  ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.)  กล่าวว่า ประเทศไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ผลักดันแนวคิดการยกระดับวัคซีนสู่เวทีสากล ก่อนจะมีการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่รัฐบาลยังยกระดับให้สถาบันวัคซีนฯ เป็นความมั่นคงแห่งชาติในเรื่องของวัคซีน และมีการทำภารกิจต่อเนื่อง จนถึงปี 2562 โดยท่านนายกฯ ในฐานะผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ได้แถลงต่อทุกประเทศว่า ต้องเห็นความสำคัญของวัคซีน และได้มีการประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีน ก่อนการระบาดโควิด

นายสาธิต กล่าวว่า  ต้องขอแสดงความขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน และท่านเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนทางด้านวิชาการและงบประมาณ จนเกิดการผลักดันการจัดประชุมนี้ คือ การประชุมอาเซียน+1 ซึ่งเป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันของผู้กำหนดนโยบายด้านวัคซีนประเทศต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ  ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ไทยเป็นแกนนำ และประเทศจีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญ โดยวัตถุประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และสร้างความเป็นหนึ่งเดียว 

นพ. นคร  เปรมศรี  ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ  กล่าวว่า  ความมั่นคงทางด้านวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอ และใช้ยามฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 แม้จะผ่านช่วงต่างๆ จนมาถึงการผ่อนคลายแล้ว แต่เราอาจเจอโรคอุบัติใหม่อื่นๆได้ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม และความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ อย่างประเทศในแถบภูมิภาคนี้ การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ดูว่าใครมีอะไร เพื่อให้เกิดความร่วมมือขึ้น ซึ่งความร่วมมือที่ผ่านมามีการทำมาก่อนแล้วตั้งแต่ปฏิญญาอาเซียนฯ ปี 2562 และเมื่อเกิดโควิดก็มีการประชุมหารือผ่านออนไลน์ จนออกมาสู่แผนดำเนินงาน 5 ปี และในวันนี้จะเป็นการคิกออฟที่ทุกคนจะเอาศักยภาพมาวาง และดูว่าจะร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ ฯลฯ รวมทั้งจีน ก็จะเอาเทคโนโลยีมาช่วยและร่วมมือกัน

นพ.นคร กล่าวอีกว่า  ส่วนการจัดหาวัคซีนรุ่นที่ 2 นั้น อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล ซึ่งวัคซีนที่ใช้อยู่ยังใช้ได้อยู่ และวัคซีนรุ่น 2 เพิ่งจะออกมาก็ต้องติดตามต่อไป เพราะหากเราใช้วัคซีนที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ ก็ยิ่งต้องพิจารณา เพราะหากไวรัสกลายพันธุ์อีก และวัคซีนที่จำเพาะจะใช้ได้หรือไม่ จึงต้องรวบรวมข้อมูล และใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาก่อน แต่จำนวนวัคซีนที่เราใช้ทุกวันนี้ยังมีพอใช้ถึงปี 2566 อย่างไรก็ตาม วัคซีนกระตุ้นสำคัญมาก สามารถป้องกันการป่วยหนักได้ ไม่ต้องรอวัคซีนชนิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม และจะขับเคลื่อนในปีหน้าอย่างต่อเนื่อง 

"ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลาย และข่าวดีของวัคซีนชนิดอื่นๆ คือ ประเทศจีนมีการผลิตวัคซีนเอชพีวีและได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก 1 ตัว และได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ของไทย" นพ.นคร กล่าว

เมื่อถามถึงวัคซีนเอชพีวีที่ขาดแคลน จนทำให้เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5 เราไม่ได้ฉีด 2 ปี  นพ.นครกล่าวว่า สถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลาย และมีซัพพลายเข้ามามากขึ้น และข่าวดีคือ ประเทศจีนมีการผลิตวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนและได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลกแล้ว 1 ตัว ก็ผ่านการขึ้นะทเบียของ อย.ไทย ก็จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มถัดไปจากนี้ สภาวะขาดแคลนจะค่อยๆ คลี่คลาย เราจะทำความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเอชพีวีของจีน ระยะยาวจะลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนลงได้มาก ส่วนกรณีที่ฉีดวัคซีนเอชพีวีไปแล้วแต่ยังไม่ครบโดสนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะมีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์พบว่า แม้ผ่านไป 3 ปี การฉีดเข็มสองก็ยังได้ผลดี 

นพ.มานิตกล่าวว่า ความมั่นคงต้องผลิตได้เองหรือมีสต๊อก ฉุกเฉินก็ต้องร่วมมือสต๊อกวัคซีนร่วมกัน ถ้าไม่ร่วมมือกัน เราผลิตขายตะวันตกไม่มีทางขายได้ คิดว่าถ้าร่วมมือในอาเซียนใครผลิตได้ช่วยกันซื้อ ทำให้การผลิตวัคซีนมีโอกาสเดินหน้าไปได้ จนถึงขณะนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งมาจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มในอาเซียน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org