ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนและมาตรการรองรับ "โควิด" เป็นโรคเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ต.ค.นี้  พร้อมปรับมาตรการแยกกักผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่แสดงอาการ ให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน  แนะนำประชาชนตรวจ ATK เมื่อมีอาการ  ขณะเดียวกันยกเลิกแสดงเอกสารรับวัคซีน  

 

เมื่อวันที่ 21 กันยายน  ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีมติเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรก คือ เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 - กันยายน 2566)  เนื่องจากมีการประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค 2. ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล 3.ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ และ 4. ด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความพร้อมทุกด้าน โดยจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจประกาศพื้นที่โรคระบาดตามความจำเป็น

 

นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องที่ 2 ได้เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยก่อนเข้าประเทศ ยกเลิกแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจ ATK โรคโควิด 19 ยกเว้นโรคไข้เหลืองที่ยังดำเนินการตามปกติ  นอกจากนี้ ยังปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่แสดงอาการ ให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน และให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการ  

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าหากป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อยสามารถไปทำงานได้ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ต้องปฏิบัติตาม DMHT 

ถามต่อว่าจะต้องเสนอ ศบค.หรือไม่และเริ่มเมื่อไร นายอนุทินกล่าวว่า ก็จะรายงานให้ ศบค.รับทราบ โดยแผนปฏิบัติการและมาตรการจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.
 

เมื่อถามว่าต้องยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ยังควรสวมหน้ากาก แต่ให้ประเมินตามความเสี่ยงเช่นเดิม  

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าเรื่องสิทธิการรักษาหลังวันที่ 1 ต.ค.เป็นอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ยังเข้ารักษาฟรีตามสิทธิดังเดิม ส่วนกลุ่มที่วิกฤตก็ใช้สิทธิยูเซปพลัสได้

“ ที่ประชุมยังรับทราบอีก 4 เรื่อง คือ 1.แผนบริหารจัดการวัคซีนและการให้วัคซีนโควิด 19 (วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม) ในเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี คาดว่าเริ่มให้บริการได้ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 2.แนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ของประเทศไทย ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม ในประชาชนกว่า 3.5 พันคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับวัคซีนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด 19 ต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

3.แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด 19 หลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ทั้งการเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงการแยกกักผู้ป่วยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระยะต่อไป และ 4.โครงการการใช้ยาคลอโรควินเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ในพื้นที่ที่มีการระบาดบริเวณชายแดนไทย - เมียนมา

เมื่อถามถึงกรณีการใช้ LAAB มีบางส่วนเข้าใจว่าต้องเสียค่าใช้จ่าย นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเป็นของภาครัฐ จัดสรรให้กลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์ ตามดุลยพินิจแพทย์ 

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึงสิทธิการรักษาเพิ่มเติม ว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดง เช่น หายใจล้มเหลว หรือความดันตก  ยังคงมีสิทธิของUCEP Plus คือเข้ารักษาได้ทุกสถานพยาบาล และให้รับรักษาจนหาย ซึ่งจะต่างจากUCEP ทั่วไปที่จะรักษาจนพ้นภาวะวิกฤติและส่งกลับสถานพยาบาลตามสิทธิใน 72 ชั่วโมง