ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เปิดข้อมูลปัญหาการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น มาจากโรคจิตเวช ร่วมยาเสพติด ทั้งเหล้า ยาบ้า กัญชา กระท่อม  พร้อมเปิดสัญญาณกลุ่มจิตเวชเสี่ยงสูงมี 4 ปัจจัยต้องระวังก่อความรุนแรง  ขณะที่ผู้สูงอายุติดเตียง ไร้ญาติ เสี่ยงทำร้ายตัวเองสูงสุด รองลงมากลุ่มสูงวัยไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน พร้อมเดินหน้าจับมือเครือข่ายชุมชนจับสัญญาณเตือนก่อนก่อเหตุ ตั้งเป้าเขตสุขภาพ 3 ทั้ง 5 จังหวัดอัตราฆ่าตัวตายต้องไม่เกินเกณฑ์ 8 ต่อแสนประชากร

ประเด็นปัญหาที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมกรณีผู้ป่วยจิตเวชก่อความรุนแรง ทั้งทำร้ายตนเอง และทำร้ายผู้อื่น จนเกิดข้อกังวลว่า จะมีแนวทางหรือวิธีอะไรที่จะป้องกันปัญหาเหล่านี้...

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช  รวมทั้งส่งเสริมและกำกับติดตามการดำเนินงานของเครือข่ายในเขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย  5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท พิจิตร และกำแพงเพชร  ดูแลพื้นที่ 54 อำเภอกว่า 1 ล้านหลังคาเรือน ครอบคลุมประชากรกว่า 2.9 ล้านคน

พญ.มันฑนา กิตติพีรชล รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 3  โรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ อธิบายว่า  รพ. มีภารกิจสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงร่วมกับมีปัญหาเชิงสังคมที่ซับซ้อน ซึ่งมักแสดงออกในลักษณะของการมีพฤติกรรมก้าวร้าว การทำร้ายผู้อื่น หรือการทำร้ายตนเอง  โดยปี 2564 มีผู้รับบริการแผนกผู้ป่วยนอกจำนวน 37,605 ราย และ ปี 2565 จำนวน 39,876  ราย (ข้อมูล 11 เดือนรวบรวบ ณ วันที่ 22 ก.ย.65)  ส่วนผู้รับบริการที่แผนกผู้ป่วยในจำนวน 673 ราย และ 650 ราย ของปี 2564 และ2565 ตามลำดับ   

สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ตามเกณฑ์ของกรมสุขภาพจิตประกอบด้วย 1.มีประวัติทำร้ายตัวเองด้วยวิธีรุนแรงมุ่งหวังให้เสียชีวิต 2.มีประวัติทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง/ก่อเหตุรุนแรงทำให้หวาดกลัว สะเทือนขวัญในชุมชน 3.มีอาการหลงผิด มีความคิดทำร้ายตนเอง/ผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิต หรือมุ่งร้ายผู้อื่นแบบเฉพาะเจาะจง และ4.มีประวัติก่อคดีอาญารุนแรง 

"ส่วนใหญ่การทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น จะมีการเชื่อมโยงกับโรคทางจิตเวชเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นเรื่องความผิดปกติทางอารมณ์ และสารเสพติดทุกชนิด ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบ้า กัญชา กระท่อม ฯลฯ โดยแนวทางการรักษาจะทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ นอกจากรักษาจนสามารถกลับคืนสู่สังคมแล้ว เราจะยังติดตามต่อเนื่องอีก 1 ปี เพื่อป้องกันการก่อความรุนแรงซ้ำ  โดยเราเตรียมความพร้อมในชุมชน ด้วยมี อสม. มีนักสังคมสงเคราะห์คอยติดตามช่วยเหลือ" พญ.มันฑนา กล่าว

 

ปัญหาคือ บางชุมชนไม่ยอมรับผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาแล้ว และต้องการกลับคืนสังคม เนื่องจากยังมีความหวาดกลัว ทงทีมต้องร่วมกับเครือข่ายในชุมชนช่วยกัน ว่า เราไม่ได้ทอดทิ้ง มีการติดตามต่อเนื่อง ซึ่งหลายคนกลับคืนสู่สังคมได้ แต่กรณีที่ไม่ได้จริงๆ ก็จะมีสถานสงเคราะห์ในการช่วยเหลือ  

ส่วนสถานการณ์การฆ่าตัวตายปีงบประมาณ 2565 พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในเขตสุขภาพที่ 3 เท่ากับ 6.59 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งตามเกณฑ์ต้องไม่เกิน 8.0 ต่อแสนประชากร   อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ วัยทำงานอายุ 20-59 ปี ส่วนปัจจัยเสี่ยงพบว่า มีโรคประจำตัว ทั้งทางกาย และจิตเวช ขณะที่บางส่วนพบว่าเคยทำร้ายตนเองมาก่อน ส่วนปัจจัยกระตุ้น อันดับ 1 มาจากปัญหาความสัมพันธ์ อันดับ 2 พิษจากสุรา และสารเสพติด และอันดับ 3 อาการทางจิตกำเริบ

"ปัญหาการทำร้ายตนเอง จนถึงการฆ่าตัวตาย พบว่าจะมีเรื่องทางจิตเวชเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญแม้จะมีปัจจัยเสี่ยง แต่หากไม่มีเหตุกระตุ้น ก็จะไม่ทำร้ายตัวเอง สิ่งสำคัญคือ ครอบครัว หากดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด ไม่มีสิ่งเร้า หรือสิ่งกระตุ้นก็จะช่วยป้องกันได้" พญ.มันฑนา กล่าว

 

ทีมจิตเวช รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์

ทีมจิตเวช ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยหลักผู้ป่วยที่มารับบริการที่ รพ.จิตเวชนครสวรรค์ฯ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจิตเวชที่มีอาการ สาเหตุหลัก คือ ขาดยา ทำให้มีอาการทางจิต ถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น ส่วนอีกกลุ่ม เป็นการใช้สารเสพติดทุกประเภท ทั้งสุรา กัญชา ยาบ้า จนมีอาการทางจิต  ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะมา รพ.เพราะเกิดเหตุก่อความรุนแรงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องเข้าสู่การรักษาแผนกผู้ป่วยใน เมื่อรักษาแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการส่งคืนชุมชน ซึ่งจะมีกระบวนการติดตามต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามว่า ตัวเลขการทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายในเขตสุขภาพที่ 3 ถึงแม้ภาพรวมทุกจังหวัดในเขตสุขภาพจะไม่เกินเกณฑ์ 8 ต่อแสนประชากรตามเป้าหมายกรมสุขภาพจิต แต่พบว่า จ.อุทัยธานี กลับมีตัวเลขสูงเกินเกณฑ์ดังกล่าว  

ทีมจิตเวช  อธิบายว่า เป็นเรื่องของจำนวนประชากรที่สูง จนทำให้สัดส่วนผู้เข้ารับบริการก็สูงตาม ซึ่งกรณีก่อความรุนแรงที่พบมากที่สุด คือ การทำร้ายตัวเอง รองลงมาคือ ทำร้ายผู้อื่น โดยการทำร้ายตัวเองนั้น พบว่า มีโรคทางจิตเวชเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการใช้ยาเสพติด ทั้งสุรา ยาบ้า ส่วนกัญชา กระท่อม ก็มีเช่นกัน  

 

"จากข้อมูลดังกล่าวทีมจิตเวชของ รพ.จิตเวชนครสวรรค์ฯ จะโฟกัสไปที่จ.อุทัยธานี โดยจะจัดโครงการ 3 หมอของกระทรวงสาธารณสุขในการทำงานร่วมกับเครือข่าย ทั้งการบำบัดรักษา การส่งเสริมป้องกัน โดยกลุ่มที่ทำร้ายตัวเองมีทั้งในระบบและนอกระบบสาธารณสุข ส่วนใหญ่ที่เจอ คือ ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ปัญหาคือ หลายครั้งเราดักจับสัญญาณเตือนไม่ทันก็มี แต่เราก็พยายามให้ความรู้กับทางญาติ กับทางครอบครัวในการช่วยระวัง" ทีมจิตเวช กล่าว

ข้อมูลจากรพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์

เกิดคำถามว่าการดักจับสัญญาณเตือนในกลุ่มผู้สูงอายุ มีวิธีสังเกตอย่างไร ทีมจิตเวชฯ บอกว่า ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะมีโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย ก็จะบ่นกับคนใกล้ชิด คนดูแล ลูกหลานว่า เบื่อแล้ว ท้อแท้ มีการแสดงออกทางสีหน้า คำพูด ที่ได้ยินบ่อยสุด คือ "ไม่อยากเป็นภาระ" และที่พบคือ เขาทรมานกับการเจ็บป่วย และส่วนหนึ่งผู้สูงอายุอยู่คนเดียว หรือญาติให้ความสนใจไม่เต็มที่ก็มี  

ที่ผ่านมารพ.จะให้ข้อมูล อบรมข้อมูลแก่เครือข่ายในชุมชน ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เครือข่ายในพื้นที่มาช่วยตรงนี้ โดยหลักๆ จะให้เช็กสัญญาณเตือน 10 ข้อตามที่กรมสุขภาพจิตกำหนด คือ 1. ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย สูญเสียกระทันหัน 2. ใช้สุราหรือยาเสพติด  3. มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย  4. แยกตัว ไม่พูดกับใคร  5. นอนไม่หลับเป็นเวลานาน  6. พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หน้าตาเศร้าหมอง  7. มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน กลับสบายใจอย่างผิดหูผิดตา  8. ชอบพูดว่าอยากตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่   9. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน  และ 10. มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า

ทีมจิตเวช ยังกล่าวทิ้งท้าย ว่า   เรื่องการฆ่าตัวตาย การจะอาศัยแต่กระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวไม่ไหวแน่นอน เพราะยังมีปัญหาเศรษฐกิจ การตกงาน ยังต้องบูรณาการกับกระทรวงอื่นๆ เพราะสาธารณสุขให้คำแนะนำอย่างเดียวไม่ได้ อย่างคนมีหนี้เป็นล้านๆ ก็จำเป็นต้องมีทางออก หรือบรรเทาทุกข์ให้พวกเขาได้บ้าง  

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมสุขภาพจิต รุกหาทางออกป้องกันฆ่าตัวตาย! หลังตัวเลขพุ่งช่วงโควิด 10 ต่อแสนประชากร

 

 **สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org