ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านยังมีความเชื่อที่ว่า ฟันน้ำนมอีกไม่นานก็หลุด ไม่ช้าฟันแท้ก็ขึ้นมาทดแทน ทำให้ขาดการดูแลเอาใจใส่ รู้อีกทีฟันน้ำนมของลูกก็ผุไปหลายซี่ ก่อให้เกิดอันตรายตามมา กรณีนี้ ทพญ.ศรัณยา กลัดแก้ว ทันตแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมสำหรับเด็ก ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวกับ Hfocus ว่า ความเชื่อที่ว่า ฟันน้ำนมจะหลุดแล้วมีฟันแท้ขึ้นนั้นไม่ผิด เป็นเรื่องจริง แต่ผู้ปกครองต้องการให้ฟันน้ำนมอยู่ในสภาพแบบไหน เพราะกว่าที่ฟันแท้จะขึ้นซี่แรกที่ขึ้นทดแทนฟันน้ำนม เด็กจะอายุ 6-7 ปี ถ้าฟันน้ำนม ไม่ได้ดูแลปล่อยให้ผุหรือถอนไป ก็จะไม่มีฟันใช้ไปจนกว่าฟันแท้จะขึ้น ทั้งนี้ หน้าที่หลักของฟันน้ำนม คือ ใช้ในการบดเคี้ยว เก็บเนื้อที่ให้ฟันแท้ขึ้นได้ตรงตำแหน่ง ช่วยในการพูดออกเสียงให้ชัด และยังทำให้รอยยิ้มดูสวยงาม

"สำหรับฟันน้ำนมซี่แรกจะขึ้นในช่วง 6-8 เดือน โดยขึ้นที่ฟันหน้าข้างล่างก่อน จะเป็นฟันหน้าบน ถัดไปจะเป็นฟันเขี้ยว ฟันหลัง จนครบฟันน้ำนมทั้งหมด 20 ซี่ ช่วงอายุ 2 ขวบครึ่ง-3 ขวบ หลังจากนั้นจน 6-7 ขวบ จะเริ่มมีฟันแท้ขึ้นมา ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฟันน้ำนมมีทั้งหมด 20 ซี่ ส่วนฟันแท้มีทั้งหมด 32 ซี่ ที่บอกว่า ฟันแท้จะขึ้นทดแทนจะมีแค่ 20 ซี่เท่านั้น ส่วนฟันที่เหลือจะไปต่อท้ายในแต่ละตำแหน่งบนล่างซ้ายขวา ซึ่งฟันแท้ที่ขึ้นถัดจากฟันน้ำนมจะเป็นฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง ขึ้นช่วงอายุ 6-7 ขวบ ผู้ปกครองบางท่านไม่รู้ว่าเป็นฟันแท้ ถ้าไม่ได้เน้นย้ำเรื่องการแปรงฟัน อาจทำให้แปรงฟันได้ไม่ทั่วถึงซี่ในสุด เกิดเป็นฟันแท้ผุได้" ทพญ.ศรัณยา กล่าว

สำหรับอันตรายของเด็กที่ฟันน้ำนมผุนั้น ทพญ.ศรัณยา กล่าวว่า ฟันผุจะมีอยู่หลายระดับ ถ้าแค่อยู่บนเนื้อฟันจะยังไม่มีการติดเชื้อจนถึงปลายราก ก็สามารถบูรณะก่อนได้ แต่เมื่อลงลึกถึงเส้นประสาทแล้วจะลงถึงปลายราก ซึ่งฟันน้ำนมต่างจากฟันแท้ จะมีเนื้อฟัน มีเคลือบฟันที่บาง ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ทะลุถึงเส้นประสาทได้ แตกต่างจากฟันแท้ที่เนื้อฟันหนากว่าใช้เวลาหลักปี หากฟันน้ำนมผุมากถึงขั้นติดเชื้อไปที่ปลายราก จะเห็นได้จากการถ่ายภาพรังสีหรือเอ็กซเรย์เป็นเงาดำ คือ เชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการอักเสบและติดเชื้อ ใต้ของฟันน้ำนมจะเป็นฟันแท้ ถ้าเชื้อโรคนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ฟันแท้กำลังสะสมแร่ธาตุอยู่ในขากรรไกร จะรบกวนกันจนเกิดการผิดปกติ ฟันแท้ที่ขึ้นมาสีอาจไม่สม่ำเสมอ ไม่ขาวเสมอกันทั้งซี่ อาจมีรอยด่าง สีเหลืองบนฟัน 

ทพญ.ศรัณยา ย้ำอีกว่า หากปล่อยให้ฟันน้ำนมผุ เด็กจะไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ ขณะที่เด็กรับประทานอาหารเข้าไปแล้วติดอยู่ในซอกฟันหรือรูที่ผุก็จะปวดฟัน จนไม่อยากเคี้ยว ทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก ส่งผลให้ขาดสารอาหาร มีผลต่อสุขภาพเด็กและการเจริญเติบโตได้ในอนาคต อีกทั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก เมื่อปล่อยให้ฟันน้ำนมผุจนทะลุเส้นประสาท เด็กจะเจ็บปวดมาก โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ส่งผลต่อการนอนหลับไม่ดี เด็กจะรู้สึกอารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดได้ง่าย พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องมาดูแลอาการปวดฟันของลูก จนทำให้ไม่ได้หลับได้นอน อีกทั้งยังหาหมอลำบาก  ยิ่งถ้าปล่อยให้ฟันผุทิ้งไว้นาน อาจเกิดอาการบวม หน้าบวม แก้มบวม ต้องนอนโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เด็กที่นอนหลับไม่ดีจากอาการปวดฟัน จะรู้สึกอารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดได้ง่าย ถ้าปวดฟันตอนเรียนหนังสือยังส่งผลให้การรับรู้ การเรียนตกอีกด้วย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org