ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงรายละเอียดหากป่วยโควิด-19 ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 ต้องทำอย่างไร…ย้ำ! รักษาฟรีตามสิทธิแต่ละกองทุน ส่วนบัตรทองยกเลิกแจก ATK ร้านยา ขณะที่การจ่ายค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีนในส่วนของ สปสช. จะใช้มาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  จ่ายชดเชยเบื้องต้น  ส่วนบุคลากรสาธารณสุขได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข หรือฉีดวัคซีนโควิดยื่นเรื่องขอชดเชยได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ม.41

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 27 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปที่โควิด-19 จะเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งสอบถามเข้ามาเรื่องสิทธิการรักษาว่า จะเป็นอย่างไร ขอยืนยันว่า ประชาชนยังสามารถรับบริการรักษาโควิด-19 ได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายในสิทธิการรักษาของตน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งแต่ละกองทุนจะดำเนินการจ่ายค่ารักษาให้ อย่างไรก็ตาม แต่จะมีการปรับเปลี่ยนบางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดที่ป่วยแล้วอาการไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัดใหญ่

“สำหรับผู้ป่วยโควิดยังรักษาฟรีได้ตามสิทธิของแต่ละกองทุน  โดยหากติดเชื้อสามารถไปรับยาแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ เรื่องจ่ายค่าวัคซีนโควิดก็จะเป็นสิทธิของแต่ละกองทุน ส่วนที่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องการแจก ATK ที่สามารถมารับได้ที่ร้านยา  โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมจะยุติการแจก ATK แต่หากมีความจำเป็นและแพทย์วินิจฉัยสั่งให้ตรวจหาเชื้อ ATK หรือ RT-PCR ก็สามารถตรวจได้ฟรีเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม กรณีหากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตยังเข้าเกณฑ์ยูเซปพลัส หรือหากมีข้อสงสัยให้สอบถามมาที่สปสช.1330” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังคงการให้บริการรักษาโรคโควิดทางระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีบริการส่งยาฟรีถึงบ้าน ประกอบด้วย 1.แอป Clicknic 2.แอป Totale Telemed 3.แอป MorDee และ 4.แอป Good Doctor ทั้งนี้ หากตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดเลือกลงทะเบียนผ่านแอปฯเหล่านี้ได้

 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับการจ่ายค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีนในส่วนของ สปสช.นั้น จะใช้มาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการจ่ายชดเชยเบื้องต้นแทน ทั้งนี้ ค่าบริการกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปลี่ยนเป็นค่าบริการผู้ป่วยนอกและค่าบริการผู้ป่วยในตามระบบปกติ ยาIVIG จ่ายตามระบบ VMI

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้ง อสม. หากติดเชื้อโควิด ยังสามารถยื่นเรื่องจ่ายชดเชยมาตรา 41 กรณีความเสียหายทางการแพทย์จากการให้บริการสาธารณสุขหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ยังสามารถทำได้ แต่งบประมาณจะเปลี่ยนไป โดยใช้งบกองทุนบัตรทอง แต่รายละเอียดต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขจริงๆ ซึ่งก็จะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอยู่

อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยในจากเดิมที่จ่าย On Top จากระบบ DRG ได้แก่ ค่าห้องตามระดับความรุนแรงของโรค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการ/อุปกรณืเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และค่ายารักษาโควิด เปลี่ยนเป็นจ่ายตามระบบ DRG จากกองทุนผู้ป่วยในระดับเขต ยกเลิกการจ่าย On Top ค่าห้องและค่าอุปกรณืป้องกัน ส่วนยารักษาโรคโควิด ยังสามารถเบิกจากกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ขณะที่ค่ายานพาหนะส่งต่อตามระยะทาง จากเดิมที่รวมค่าทำความสะอาดอุปกรณ์ PPE จ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็นจ่ายเฉพาะค่าส่งต่อตามระยะทางกรมทางหลวงตามเดิม ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ

ค่าบริการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากเดิมจ่ายค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อครั้ง และค่ายานพาหนะส่งต่อรวมค่าทำความสะอาดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็นจ่ายเฉพาะค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่ารถส่งต่อกรณีผู้ป่วยนอก