ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากวิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่าระบบสาธารณสุขมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยในชีวิต แต่รวมถึงการส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นหน้าด่านซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีและทันท่วงที

วันนี้สถานการณ์กำลังกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ถือเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทบทวนและถอดบทเรียน เพื่อพัฒนาศักยภาพความพร้อมให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่เฉพาะแค่โรคระบาดแต่รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ป้องกันความสูญเสียและผลกระทบในหลายๆ ด้าน  

คำถามคือระบบสาธารณสุขที่ว่าควรจะเป็นอย่าง? เพื่อตอบโจทย์สถานการณ์เช่นนี้ในอนาคต

Hfocus มีโอกาสได้พูดคุยกับ ธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต วิชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา รวมทั้ง นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.)และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการภูเก็ต ถึงมุมมองเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ควรจะเป็น และทิศทางในการพัฒนา

 

** บริหารจัดการด้วย Big Data

“ต้องมีความตื่นตัวฉับไวและตอบสนองต่อสถานการณ์โลกได้ดี” ธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงระบบสาธารณสุขที่ดี

นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตคนล่าสุด เชื่อว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต่างมีบทเรียนและความเข้าใจมากขึ้นในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร ระบบการคัดกรอง ความพร้อมทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตถือว่ามีความพร้อมและความร่วมมือที่ดีพอสมควร แต่สิ่งที่อยากให้ความสำคัญคือการใช้ Big Data ในการบริหารจัดการในระบบสาธารณสุข เพื่อความสะดวกรวดเร็วและประเมินเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์

ยกตัวอย่างจังหวัดภูเก็ตสามารถเข้าถึงได้ 3 ทาง คือ ทางบก อากาศและทางน้ำ หากต้นทางเกิดจากต่างประเทศก็ต้องโฟกัสที่ทางอากาศและน้ำ ตม.มีการเก็บข้อมูลการเดินทางเข้ามาของกลุ่มเสี่ยงอย่างชัดเจนตั้งแต่จำนวนนักท่องเที่ยว การเข้าพื้นที่ปลายทาง ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีข้อมูลการเข้าพัก ต้องมีการเฝ้าระวัง ซึ่งหน่วยงานราชการกับเอกชน ต้องมีการแชร์ดาต้ากัน โดยสาธารณสุขจะต้องมีข้อมูลชุดนี้และใช้เป็น Data Dashboard (การนำข้อมูลที่สำคัญมาสรุปให้เห็นภาพในหน้าเดียว มักเป็นข้อมูลที่อ้พเดทสม่ำเสมอจนไปถึง real-time)ในการประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ล่าสุดสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ททท. สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) กรมอุตุนิยมวิทยา ตม. ได้เซ็น MOU จะทำเป็น Data Dashboard แล้วจะใช้พื้นที่ภูเก็ตเป็นแซนบ็อกซ์ พื้นที่แรกในการทดลองทำดาต้าทั้งหมดของทุกประเภทมารวมกัน โดยมี GBDi บริหารจัดการดาต้า

จากที่เราทำเรื่องแซนด์บ็อกและสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ มาจากการใช้บิ๊กดาต้า”

 

** ต่อยอดเทคโนโลยี

ขณะที่ทวีโรจน์ มองว่าช่วงวิกฤตโควิด-19 มีหลายอย่างเกิดขึ้นและสามารถนำมาต่อยอดได้อีก เช่น ระบบแอพลิเคชันหมอพร้อมที่สามารถเชื่อมได้กับทุกโรงพยาบาล มีดาต้าอยู่แล้วถ้าสะสมข้อมูลต่อ จะยกระดับสาธารณสุขได้ดีมากยิ่งขึ้น และหากเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคตก็ไม่ต้องเสียเวลางมเข็มในมหาสมุทรกันใหม่ เพราะทุกคนมีแอพลิเคชันในมือถืออยู่แล้ว

“ไม่อยากให้ทิ้งไปเลย ผมเชื่อว่าหากมีการพัฒนาต่อไปจะยกระดับมาตรฐานให้เมืองไทยเป็นเมืองที่ใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้นและน่าจะช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและง่ายขึ้น เช่น เรื่องการฉีดวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งทุกคนต้องฉีดกันตั้งแต่เด็ก มีกี่ตัว ต้องฉีดอะไรบ้าง วัคซีนเสริมที่ควรฉีด เรื่องพวกนี้หากนำเข้ามาอยู่ในระบบเหมือนกัน ก็สามารถพัฒนาเรื่องสุขภาพของคนไทยยิ่งขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับช่องทางการสื่อสาร ช่วยเหลือต่างๆ หากมีการพัฒนาให้ดีจะง่ายต่อการบริหารจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมาก”

นอกจากนี้การทำงานควรมีความตื่นตัวมากขึ้น การดำเนินการรวดเร็วไม่ล่าช้าและประชาชนสามารถเข้าถึงระบบได้ง่ายๆ มีการประสานงาน ทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆอย่างคล่องตัว  ซึ่งอุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวพังงา มองว่าที่ผ่านมาค่อนข้างล่าช้าและเข้าถึงได้ยาก เช่น หน้ากากอนามัย กว่าจะหากว่าจะแจกได้ค่อนข้างใช้เวลา หรือบางอย่างก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจริง เป็นต้น

“ที่ผ่านมาต้องขอบคุณคนในพื้นที่ อย่างเช่นผู้ใหญ่บ้าน บางคนแทบจะไม่ได้นอนเลย หลายๆ คนขับมอไซด์ไปเยี่ยม ขับรถเอาอาหารไปให้คนในหมู่บ้าน จริงๆ ที่ผ่านมาได้เกิดจากคนเล็กๆ ทุกคนช่วยกันให้ผ่านมาได้”

 

** ยกระดับรพ.รัฐ พัฒนาบุคลากร

หากไม่นับรวมภูเก็ต ความพร้อมของโรงพยาบาลและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ก็เป็นอีกอย่างที่คนในภาพท่องเที่ยวพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เพียงพอและควรเพิ่มขีดความสามารถ

“หากเราจะชูการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ยังไม่มีโรงพยาบาลที่ครอบคลุมมากพอในพื้นที่ตัวเอง มันก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเรื่องความปลอดภัย การช่วยเหลือได้เต็มที่เมื่อเกิดอะไรขึ้น มันถึงเวลาแล้วที่การแพทย์จะต้องดีกว่านี้” ทวีโรจน์ กล่าวพร้อมเสริมว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะถูกส่งไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ภูเก็ต

เช่นเดียวกับ วิชุพรรณ ที่ยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้ทำให้ทุกคนตระหนักและมีความตื่นตัวมากขึ้นในภาคสาธารณสุข แต่ยังเห็นความขาดแคลนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงพยาบาลรัฐ เช่น จังหวัดกระบี่ ที่ถือเป็นเมืองหลักของการท่องเที่ยวแต่ความพร้อมทางด้านนี้ยังถือว่าไม่เพียงพอสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

“รพ.เอกชนที่มีก็ยังไม่มีขนาดใหญ่เหมือนในภูเก็ตหรือกรุงเทพ เพราะฉะนั้น รพ.ของรัฐต้องยกระดับเป็นรพ.ที่มีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์” นายกสมาคมโรงแรมกระบี่ กล่าวโดยไม่ได้มองแค่เรื่องโรคระบาด แต่ยังรวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การให้ความสำคัญเรื่องการทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมการฝึกซ้อมเพื่อความปลอดภัยและรับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรที่สามารถช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งภาครัฐ ภาคท้องถิ่นอาจะต้องเข้ามาดูแลเตรียมความพร้อมของแต่ละพื้นที่

นายกสมาคมโรงแรมกระบี่ ยกตัวอย่างโครงการอาสาสมัครท่องเที่ยวของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาที่กำลังทำอยู่อาจเสริมด้านสาธารณสุขเข้าไปด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้น่าจะเป็นตัวแทนที่มีความคุ้นชินกับพื้นที่ ควรจะได้รับฝึกอบรมทั้งโรคระบาด ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และหากเกิดเหตุแบบนี้แล้วจะรับมือกับสถานการณ์อย่างไร สามารถช่วยแบ่งภาระบุคลการทางการแพทย์ได้อีกทาง

 

** สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพจากรากฐาน

อย่างไรก็ตาม การพึ่งรัฐอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของระบบสาธารณสุขต่อจากนี้สำหรับหมอบัญชา หลังช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักแสดงให้เห็นแล้วว่าต่อให้มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมากมายเหมือนในกรุงเทพก็เอาไม่อยู่เมื่อทุกอย่างมาพร้อมกัน

“ผมมองว่าต่อให้รัฐมีอีก 5 เท่า 10 เท่าก็ไม่ไหว เพราะถูกจำกัดด้วยงบประมาณและกำลังคน ไม่ใช่ระบบสาธารณสุขบ้านเราไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนจัดการตนเอง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น นั่นคือทางเลือกคำตอบใหม่ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีรายได้ดีๆ อย่างเมืองท่องเที่ยวอย่างเช่นภูเก็ต มีงบอยู่ในท้องถิ่นก็ยกให้เขาไปบริหารจัดการตัวเอง ผลักดันให้เป็นรูปแบบพิเศษด้านการท่องเที่ยว Andaman Wellness Economic Corridor (AWC) หรือเขตปกครองพิเศษก็ตาม เพื่อเป็นต้นแบบและเลี้ยงตัวเองได้”

อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เสนอแนวคิดว่าอันดับแรกควรมีนโยบายในการสร้างประชาชนให้มี Self-Care ดูแลจัดการตนเองเป็นภายใต้คอนเซปต์ “มีความรอบรู้และปรับพฤติกรรมตัวเองเป็น” ทุกวันนี้ข้อเสียอย่างหนึ่งคือการพึ่งรัฐไปหมด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ติดบทบาทอะไรก็กำหนดหมด ทำเองได้ บอกว่ามีศักยภาพสูง มีทั้งอสม. รพ.สต. โรงพยาบาลอำเภอ จังหวัด

“แต่นั่นสู้ได้เฉพาะอู่ฮั่น วันที่เดลต้า โอมิครอนมากระจุยเลย เพราะฉะนั้นวันนี้การกระจายอำนาจให้ประชาชนถึ่งตนเองได้ โดยสร้างเครื่องมือให้เขาดูแลตัวเองที่บ้าน หรือเครื่องมือที่ให้ความรู้ น่าเชื่อถือทำให้ตัดสินใจด้วยตัวเองได้ ต้องทำก่อน”

อย่างที่สองคือการกระจายอำนาจให้ภูมิภาคท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสวนสุขภาพชุมชนตามหมู่บ้าน หรือการโอน รพ.สต. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พัฒนาต่อยอดซึ่งปัจจุบันเริ่มไปแล้ว สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวอาจพัฒนาไปเป็น wellness ครบวงจรหรือมีแพทย์เข้ามาดูแล อย่างเช่น อบจ.ภูเก็ต จัดตั้งโรงพยาบาลเองโดยไม่ต้องมีแพทย์ประจำสักคน แต่ใช้ Outsource จากเอกชนลงทั้งหมดโดยมีอัตราเทียบเท่าราคากลางของเอกชน ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณท้องถิ่นเข้าไปช่วยให้ระบบสุขภาพของไทยดีขึ้นได้

หมอบัญชาได้ยกตัวอย่างโครงการ Phuket Health Sandbox วางรากฐานระบบสุขภาพของคนในจังหวัดให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงพยาบาลประจำตัวบุคคลอยู่บนออนไลน์ 1 ล้านห้อง และตั้งสถานีสุขภาพชุมชนบริการด้วยดิจิทัล 24 ชม. ทั่วเกาะ 157 แห่งโดยให้ อบต. และเทศบาลดูแลรับผิดชอบ ประชาชนสามารถใช้มือถือลงทะเบียนเข้าไปใช้เครื่องมือทันสมัยที่ไม่ได้มีแต่วัดน้ำหนักส่วนสูง แต่ยังตรวจเบาหวานโดยไม่เจาะเลือดได้ เอ็กซเรย์ได้ ทำอัลตราซาวด์ได้ ตรวจคลื่นหัวใจได้ พบแพทย์ทาง Telemedicine ซึ่งเชื่อมกับรพ.สต. กับรพ.ตามปกติ ทั้ง 2 อย่างนี้คือการสร้างประชาชนให้มี Self-Care

ทั้งนี้ช่องทางการสื่อสารมีความสำคัญมากในการเกิดโรคระบาด ที่ผ่านมาเกิดปัญหาเพราะประชาชนสับสน บางคนแพนิคขอนอนรพ. ตรวจ RT-PCR อย่างเดียว ซึ่งภูเก็ตนำร่องเรียบร้อยแล้ว เรียกว่า Phuket Organizations COVID Care (POCC) เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาอยู่ที่บ้าน มีคนเข้ามาลงทะเบียนกว่า 1 หมื่นคน ประมาณ 1 ใน 3 ลดภาระรพ.และค่าใช้จ่ายได้จริง

“แต่การจัดการด้วยเทคโนโลยีอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงแบบมีคุณภาพ คงเส้นคงวา กระทรวงสาธารณสุขไม่ใช่เป้าหมายเดียวที่จะจัดการสุขภาพได้ ต้องมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เอกชน เหมือนกับเรื่อง AWC ที่จะเปิดช่องให้ระบบสุขภาพในภูมิภาคนี้แข็งแรงขึ้น” หมอบัญชา กล่าว