ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยไทยพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง อายุ 20-30 ปี มีประวัติใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตทุกวันประมาณ 6 เดือน ห่วงเด็กประถมซื้อพอตแบบใช้แล้วทิ้งโดยไม่รู้ว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว เรื่อง “ไทยพบป่วยปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) อีก!! จากบุหรี่ไฟฟ้า หวั่นคนไม่รู้อันตราย” ณ ห้องประชุม 910B ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า EVALI (E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury) คือ ปอดอักเสบที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นโรคที่เกิดก่อนโควิด-19 แต่เมื่อเกิดโควิด ทำให้โรคนี้เงียบหายไป แต่ช่วงนี้ทางภาควิชาได้พบกับคนไข้ที่เกิดโรคนี้อีกครั้ง และสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโรคดังกล่าว โดยแรก ๆ เชื่อกันว่า อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้านั้นน้อยกว่าบุหรี่มวน ซึ่งคนทั่วไปโดยเฉพาะวัยรุ่นจะคิดว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นปลอดภัย ไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงละอองน้ำ ไอน้ำมีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม และบางยี่ห้อยังอ้างว่าไม่มีนิโคติน ในความเป็นจริง ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้ามีฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM 2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว ซึ่งที่มาของโลหะหนักอาจจะมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา ขณะที่สารปรุงแต่งกลิ่นรสที่มีนับพันชนิดที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหย มีผลกระทบต่อสุขภาพคือทำให้มีภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน และโรคอื่นได้ จากข้อมูลของเมื่อปี พ.ศ. 2562 แพทยสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากไม่ปลอดภัย มีผลกระทบต่อการเกิดโรคปอดซึ่งเป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยในตอนนั้นมีผู้ป่วยรายงานปอดอักเสบที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 450 ราย ในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 และพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวนมาก และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 7 รายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน จากนั้นศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC, Center of disease control and Prevention) ได้มีการประกาศและเฝ้าระวังโรค มีรายงานโรคจากทั่วประเทศ 50 รัฐ รวมถึงเขตโคลัมเบีย และเขตปกครองของสหรัฐอเมริกา 2 แห่งคือเปอร์โตริโกและหมู่เกาะเวอร์จิน ยอดผู้ป่วยจนถึงวันที่ 18 ก.พ. 2564 พบผู้ป่วย EVALI ที่ต้องนอนโรงพยาบาลทั้งสิ้น 2,807 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 68 ราย 

"ก่อนหน้านี้จะพบผู้ป่วย EVALI แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ซึ่งอาการของโรคเรียกได้ว่าเป็นภาวะกึ่งเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นกับปอดโดยมีสาเหตุจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอันตรายนั้นเกิดจากความเข้มข้น การเผาไหม้ และปริมาณที่สูดเข้าไปในร่างกายโดยตรง ส่วนโรคมะเร็งนั้นเป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะพบ แต่บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งจะมีมาได้ไม่นาน ตอนนี้เชื่อว่าแนวโน้มพบผู้ป่วยได้เรื่อย ๆ แต่อยากให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กประถมและมัธยม ที่ความเข้าใจผิดร้ายแรงว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย อยากย้ำอีกครั้งว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่ปลอดภัย " ศ.นพ.วินัย กล่าวและว่า ระยะหลังพบการแพร่หลายของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสังคม วัยเยาวชน วัยผู้ใหญ่ วัยทำงาน มีมากขึ้น ในประเทศไทยเคยมีการรายงานพบผู้ป่วย EVALI ประปราย แต่อาจจะไม่ได้ส่งตรวจยืนยันวินิจฉัยทุกราย จึงอยากตอกย้ำถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้คนอาจไม่ทราบ มองข้ามหรือละเลยไป

อ.พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามักจะโฆษณาว่า ปราศจากสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น tar และ carbon monoxide ต่างจากบุหรี่มวน แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสาร Nicotine ยิ่งสูบยิ่งเสพย์ก็ยังติดอยู่ จึงไม่ได้ช่วยการสูบลดบุหรี่มวนลง บางรายก็หันมาสูบบุหรี่มวน หรือสูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า และยังมีสารปรุงแต่งกลิ่น, Propylene glycol, vegetable glycerin และสารที่มีอยู่ในกัญชา เช่น Δ-9-tetrahydrocannabinol (THC), cannabidiol (CBD), butane hash oil (BHO) การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดและหลอดลมอักเสบ มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด มีโลหะหนักปนเปื้อน และโรคปอด EVALI ทั้งนี้ มักจะมีคนพูดว่า เกิดมะเร็งได้น้อยกว่า แต่ที่จริงแล้วโรคมะเร็งนั้นเกิดช้าใช้เวลาหลาย 10 ปี ทำให้ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มวนแม้จะเลิกสูบไปแล้ว ก็สามารถพบโรคมะเร็งได้ อีกทั้งการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้อัตราการสูบบุหรี่มวนลดลง นอกจากนี้ จากรายงานที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร New England Journal of Medicine เรื่อง Pulmonary illness related to e-cigarette use in Illinois and Wisconsin preliminary report ซึ่งรายงานกรณีศึกษาผู้ป่วยจำนวน 53 คนในช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2019 พบว่าผู้ป่วยส่วนมากอายุเฉลี่ยเพียง 19 ปี และมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสาร THC ประกอบประมาณ 80% แต่มี 20% ที่ไม่ได้ใช้ THC ก็สามารถเกิด EVALI ได้ โดย 95% ของผู้ป่วยมีอาการ ไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่พบว่า 77% ของผู้ป่วยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีภาพ x-ray และ CT scan ปอดที่ผิดปกติ และถ้าเอาน้ำล้างปอดไปตรวจจะพบ น้ำล้างปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวกินอนุภาคไขมัน โดยตรวจไม่พบหลักฐานการติดเชื้อ จึงเกิดได้จากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วมีอนุภาคไขมันทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวจับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม หากสังเกตได้จากผลเอกซเรย์ ปอดจะเป็นฝ้าขาว อาการของคนไข้มักจะหายใจไม่ไหว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด EVALI ในตอนแรก สมมติฐานว่าเกิดจากสาร propylene glycol, vegetable glycerin (glycerol), สารปรุงแต่งกลิ่น สารสกัดจากน้ำมันกัญชาหลายชนิด เช่น vitamin E acetate และมีสารอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยสาร vegeteble glycerine เป็นสารที่มีรสหวาน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สกัดจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เมื่อโดนความร้อนจากอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะระเหยเป็นไอน้ำ และถูกสูบเข้าปอด

อ.พญ.นภารัตน์ เพิ่มเติมว่า การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ปีค.ศ. 2020 พบว่ามี vitamin E acetate ในน้ำล้างปอดของผู้ป่วย EVALI ถึง 94% ซึ่ง vitamin E acetate ถูกใส่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าหลาย ๆ ยี่ห้อตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 เป็นไปได้ว่าการสูดสาร vitamin E acetate ที่โดนความร้อนจนระเหย ทำให้เกิดการบาดเจ็บของปอดและทำให้การทำงานของปอดผิดปกติไป ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในยอดผู้ป่วยที่รายงาน 2,807 รายจนถึงก.พ. 2564 นั้น มีอายุเฉลี่ยเพียง 24 ปี (13-85 ปี) ผู้ป่วยที่ปอดอักเสบเฉียบพลันจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 2,022 ราย 14% สูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉพาะที่มีสารนิโคติน 33% สูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉพาะที่มีสารกัญชา 53% สูบบุหรี่ไฟฟ้าหลายประเภท ดังนั้น จึงอาจไม่ใช่วิตามินอะซีเตตในสารกัญชาเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้านั้นสูบเพียงไม่นานก็พบอาการของปอดจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะที่บุหรี่มวนต้องใช้เวลานานกว่าที่โรคถุงลมโป่งพองต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

ส่วนกรณีได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองนั้น อ.พญ.นภารัตน์ กล่าวว่า ผู้ที่ได้สูดดมควันบุหรี่ไฟฟ้า จะได้รับฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM 2.5 รวมถึงนิโคติน หากอยู่ในพื้นที่ปิดอาจส่งผลต่อความดันและชีพจรของผู้ที่ได้สูดดมควัน นอกจากนั้น สิ่งที่น่ากังวลคือ พบเด็กประถมซื้อบุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตมาใช้ เพราะพอตมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย แล้วบอกผู้ใหญ่ว่าไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากไม่ได้ชาร์จไฟ สามารถใช้แล้วทิ้งได้เลย 

ขณะที่ อ.นพ.ธนัญชัย เพชรนาค อาจารย์สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีผู้ป่วย EVALI ว่า ผู้ป่วยอายุระหว่าง 20-30 ปี ว่า เดิมทีผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งรักษาและควบคุมอาการได้ดี เดิมไม่มีอาการผิดปกติ แข็งแรง สามารถทำงาน ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติเหมือนคนทั่วไป ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการ เหนื่อย ไอ และมีไข้ โดยเริ่มมีอาการไอ และรู้สึกเหนื่อยง่ายมาประมาณ 1 เดือน อาการเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ ไอมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น ออกแรงได้ลดลง ทำงานได้ลดลง ต้องนั่งพักบ่อยขึ้น โดย 3 วันก่อนที่จะมาโรงพยาบาลผู้ป่วยเริ่มเหนื่อยมากขึ้น มีอาการเหนื่อยถึงแม้จะไม่ได้ออกแรง ยังมีไข้และไอ มีอาการเหนื่อยมากจึงมาตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แรกรับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ป่วยมีไข้ และหายใจเร็วมาก มีปัญหาเรื่องออกซิเจนในเลือดต่ำมาก ต้องได้รับการรักษาเบื้องต้นด้วยออกซิเจนชนิด high flow nasal canula เอกซเรย์ปอดพบว่าผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง ทีมแพทย์จึงรีบทำการตรวจหาสาเหตุของปอดอักเสบด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด และซักประวัติเพิ่มเติม ในตอนแรกผู้ป่วยให้การปฏิเสธการสัมผัสสารเคมี การสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ต่อมาทางทีมแพทย์พบว่าผู้ป่วยเคยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน พบลักษณะความผิดปกติของปอดที่พบในผู้ป่วยสูบบุหรี่ (respiratory bronchiolitis interstitial lung disease) จึงกลับไปซักประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ใหม่ ผู้ป่วยจึงให้ประวัติว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตแบบใช้แล้วทิ้งมาประมาณ 6 เดือน โดยใช้ทุกวัน ซื้อทางกรุ๊ปไลน์ ใช้ประมาณ 2 หลอดต่อสัปดาห์ ไม่ได้สูบบุหรี่ปกติ ไม่ได้ใช้กัญชา หรือสารเสพติดชนิดอื่นร่วมด้วย จึงได้ทำการส่องกล้องหลอดลมผู้ป่วยและตรวจทางพยาธิวิทยา พบว่าผลตรวจทางพยาธิวิทยา และผลตรวจทางเซลล์วิทยาเข้าได้กับภาวะ EVALI ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ลดการอักเสบ โดยอาการดีขึ้นตามลำดับ พักอยู่ภายในโรงพยาบาล 4 วัน จนสามารถกลับบ้านได้และให้รับประทานยาต่อไป ปัจจุบันผู้ป่วยรับประทานยามา 1 เดือนแล้ว ตอนนี้อาการผู้ป่วยกลับสู่ปกติ จึงค่อย ๆ ลดยาลง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของร่างกายจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ความเร็วในการรักษา หากรักษาอย่างรวดเร็วจะยังไม่เกิดพังผืดในปอดและปอดจะกลับมาเป็นปกติได้ กรณีเคสหนัก ได้รับการวินิจฉัยช้า ในรายงานของต่างประเทศอย่างอเมริกา มีเคสที่อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต บางรายไม่สามารถนำเครื่องช่วยหายใจออกได้ เพราะการอักเสบของปอดเกิดเป็นพังผืดแล้ว

"ระยะเวลาของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเกิด EVALI จะใช้เวลา 3 เดือนขึ้นไป คนไข้แต่ละคนจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ความรุนแรงของโรคจะเกิดได้หลายรูปแบบ แต่ยิ่งเกิดเร็วอาการจะรุนแรง หากเกิดภายใน 1-2 สัปดาห์อาการจะรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยที่อาการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นคือ การสูบสิ่งแปลกปลอมเข้าไปที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบโดยตรง เพราะมีสารมากมายผสมเข้าไป เช่นเดียวกับที่คนเคยนิยมสูบบารากุ มีรายงานของปอดอักเสบรุนแรงเช่นกัน" อ.นพ.ธนัญชัย กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org