ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” มอบสธ.เดินหน้าเต็มสูบเพิ่มค่าตอบแทน  ด้าน  รองปลัด สธ. เผยรายละเอียดเพิ่มค่าโอทีทุกวิชาชีพร้อยละ 8   และค่าเวรผลัดบ่าย-ดึกอีกร้อยละ 50 ใช้งบประมาณราว 3 พันล้านบาท ชี้ภาพรวมไม่กระทบเงินบำรุง มีการบริหารจัดการได้ ส่วนขั้นตอนจากนี้ในส่วนกระทรวงฯ จะมีขั้นตอนดำเนินการ คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน จากนั้นเสนอกรมบัญชีกลางพิจารณาออกประกาศต่อไป

 

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมเรื่องการปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ  ซึ่งเป็นไปตามที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. เสนอเรื่องมา ซึ่งตนสอบถามว่า ต้องของบประมาณกลางหรือไม่ อย่างไร ซึ่งท่านปลัดสธ.บอกว่าไม่ต้อง เพราะเป็นงบบริหารจัดการในกระทรวงฯ อย่างเงินบำรุง ดังนั้น ตนจึงบอกว่า ลุยได้เต็มสูบ เพราะนี่เป็นประโยชน์ เงินบำรุงที่มีไว้ต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่โชว์ยอดในบัญชีธนาคารเท่านั้น

 

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ.  กล่าวถึงการปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ว่า เรื่องนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายว่าหากอยู่ในงบประมาณที่ดำเนินการได้หรือให้ได้ก็จะดำเนินการ โดยดูแลทุกวิชาชีพ ซึ่งวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2565 โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งมอบหมายให้ตนเป็นประธาน ซึ่งมีวาระการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นการปรับค่าตอบแทนและเงินเพิ่มเติมพิเศษของบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล สถานีอนามัย และหน่วยบริการสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ เนื่องจากบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการเพิ่มค่าตอบแทนหรือปรับค่าตอบแทนตั้งแต่ ปี 2555

 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า การพิจารณาได้คำนึงถึงสถานการณ์การเงินการคลังและรายรับรายจ่ายของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับข้อเสนอแนวทางการเพิ่มค่าตอบแทน และการคาดการณ์สถานการณ์หลังเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งจากข้อมูลพบว่ารายได้รวมของกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยข้อมูลปี 2560 - 2566 พบมีรายรับภาพรวมโดยเฉลี่ยสูงกว่ารายจ่ายโดยตลอด เช่น ปี 2566 มีรายได้รวมเท่ากับ 396,029 ล้านบาท และมีรายจ่ายเท่ากับ 339,609 ล้านบาท

ส่วนข้อเสนอปรับค่าตอบแทนหลักการคือ ปรับอัตราค่าตอบแทนการปฏิบัติงานลักษณะเป็นเวรหรือเป็นผลัด (OT) ขึ้นร้อยละ 8 และเมื่อได้ปฏิบัติงานเฉพาะผลัดบ่ายหรือผลัดดึก เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการในเวลาราชการปกติ ไม่ใช่กรณีปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ โดยปรับขึ้นร้อยละ 50 จึงมีการเสนอปรับค่าตอบแทนแต่ละวิชาชีพ ได้แก่

*** แพทย์ ทันตแพทย์ จากเดิม 1,100 บาท เป็น 1,200 บาทต่อผลัด , เภสัชกร จากเดิม 720 บาท เป็น 780 บาทต่อผลัด , นักวิทยาศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข จาก 600 บาทเป็น 650 บาทต่อผลัด โดยพยาบาลผลัดบ่าย/ผลัดดึกที่จากเดิมได้รับเพิ่ม 240 บาทก็ปรับเพิ่มเป็น 360 บาทต่อผลัด , พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเทคนิค จากเดิม 480 บาท เป็น 520 บาทต่อผลัด

โดยพยาบาลเทคนิคผลัดบ่าย/ผลัดดึกจากเดิมได้รับเพิ่ม 180 บาทปรับเพิ่มเป็น 270 บาทต่อผลัด , เจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่เทคนิค จากเดิม 360 บาท เป็น 390 บาทต่อผลัด โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลผลัดบ่าย/ผลัดดึกจากเดิมได้รับเพิ่ม 145 บาทปรับเพิ่มเป็น 255 บาทต่อผลัด , เจ้าหน้าที่อื่นๆ ตามวุฒิ จากเดิม 360-600 บาท เป็น 650 บาท และลูกจ้างตำแหน่งอื่นๆ จากเดิม 300 บาท เป็น 330 บาท  ทั้งนี้ ลูกจ้างตำแหน่งอื่นๆ จะมีการเขียนรายละเอียดเพื่อให้ชัดเจนต่อไป

 

"การเพิ่มค่าตอบแทนในบุคลากรดังกล่าวทำให้ระบบต้องใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น ด้านการเงินการคลังยังพอมีเงินชดเชยในส่วนดังกล่าวได้ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญในการเพิ่มค่าตอบแทนเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงาน เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างดีและต่อเนื่อง มีคุณภาพในทุกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั่วประเทศไทย ซึ่งหลังจากมีมติผ่านคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ และต้องผ่านขั้นตอนต่างๆของกระทรวงฯ คาดว่าใช้เวลาอีก 1 เดือน และจะมีการส่งข้อมูลให้กับกรมบัญชีกลางในการพิจารณา เพื่อออกประกาศและดำเนินการให้กับบุคลากรต่อไป" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนี่เป็นเงินบำรุง เรามั่นใจว่าในอนาคตสามารถบริหารจัดการได้ใช่หรือไม่ และหากใช้คือ กำหนดว่าต้องเพิ่มขั้นต่ำตามที่ระบุหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การบริหารจัดการปีละ 3 พันล้านบาท คาดว่าสามารถบริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เงินบำรุงเรามีเพิ่มขึ้นจากช่วงโควิดแสนกว่าล้านบาท หักลบหนี้แล้วก็เหลือระดับหลายหมื่นล้านบาท และอนาคตก็มองว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะแต่ละวิชาชีพไม่ได้เพิ่มมานานมากแล้ว

ทั้งนี้ ส่วนที่ระบุว่าค่าโอทีต้องเพิ่ม 8% กับค่าเวรผลัดบ่ายดึกอีก 50% เป็นตัวเลขขั้นต่ำ แต่ยังมีกลไกระดับจังหวัดในการพิจารณาว่าสามารถเพิ่มได้อีก ตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ

 

ดูคลิป : https://www.facebook.com/Hfocus.org/videos/3262816817317633