ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทยเตรียมรวมพลหลังปีใหม่ ขอความเห็นใจ “อนุทิน” ช่วยเหลือหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 ได้แค่ 1-2 เดือน บางคนได้แค่หลักร้อยบาท  ขณะที่ทำงานเสี่ยงโควิดมาตลอด  ล่าสุดบุคลากรร้องเรียนเซ็นรับเงินค่าเสี่ยงภัยก่อนล่วงหน้า แต่ยังไม่ได้เงิน หวั่นเงินหาย

 

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.  นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.)  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว Hfocus  ว่า  สหภาพฯ ได้มีการหารือร่วมกันและมีมติว่า ถึงเวลาต้องขอความเป็นธรรมกับท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เกี่ยวกับความทุกข์ในการทำงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ (รายวัน-รายเดือน) สายสนับสนุนบริการ 56 สายงาน  เพราะที่ผ่านมาได้มีการยื่นหนังสือต่อรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ ไม่มีความก้าวหน้า ความมั่นคงในสายงานสนับสนุนบริการเลย เรียกว่า เหมือนไม่เห็นตัวตนของลูกจ้างเลย

นายโอสถ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เคยประชุมองค์กรวิชาชีพ และลูกจ้างที่ทำงานในกระทรวงฯ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนางานด้านสาธารณสุข และบอกว่า จะมีการติดตามความก้าวหน้า สวัสดิการต่างๆ และจะเรียกประชุมเรื่องนี้ในรายละเอียดต่างๆ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีผลใดๆ ไม่มีการเรียกประชุมกลุ่มลูกจ้างทำงานสายสนับสนุน แม้แต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา สหภาพลูกจ้างฯ นำเครือข่ายพนักงานและลูกจ้างสายสนับสนุนบริการ Back Office ยื่นหนังสือถึงปลัด สธ. เรียกร้องความเป็นธรรม  ทั้งการจ้างงานที่ไม่ใช้เงินบำรุง การยกเลิกสัญญาจ้างระยะสั้น  ขอความมั่นคงในอาชีพ และค่าเสี่ยงภัย 3 จ.ชายแดนใต้ รวมทั้งค่าเสี่ยงภัยโควิด แต่จนบัดนี้ไม่มีการตอบรับใดๆเลย

“ ล่าสุดที่ดูจะไม่เป็นธรรม คือ เรื่องเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดที่บอกว่า เอาเงินกู้ยืมให้สายวิชาชีพ ส่วนสายสนับสนุนต้องหางบฯกลางมา การจ่ายเงินให้สายวิชาชีพ 7 เดือน แต่สายสนับสนุนได้กัน 1-2 เดือน บางคนไม่ได้ ตรงนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่ จริงๆ เงินตรงนี้ควรเอามาเฉลี่ยกันให้หมด อย่าแบ่งสาย ตอนทำงานไม่เห็นจะแบ่งให้ช่วยเหลือกันหมด ที่ผ่านมาลูกจ้างอยู่ด่านหน้าตลอด พอมีเงินค่าเสี่ยงภัยเรากลับได้น้อยสุด ได้ช้าสุด บางคนยังไม่ได้ด้วยซ้ำ” ประธานสหภาพฯ กล่าว

 

แฟ้มภาพ

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ. ร่วม 64 ชมรม สมาคม วิชาชีพต่างๆ แถลงการณ์ 7 ข้อ แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข)                   

นายโอสถ กล่าวอีกว่า เงินค่าเสี่ยงภัยโควิดสายวิชาชีพได้รับหลายหมื่นกว่าบาท แต่ลูกจ้างได้รับค่าเสี่ยงภัยประมาณเดือนละ 2-3 พันบาท แต่กลับได้แค่ 1-2 เดือน แบบนี้คืออะไร แทนที่จะได้ตรงนี้มาเจือจุนครอบครัวกลับมีปัญหาล่าช้าไปเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าการจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดแบ่งเป็นงบเงินกู้และงบกลาง ไม่ได้มาจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ตัดสิน นายโอสถ กล่าวว่า  เงินกู้ยืมขอถามว่าไปทำข้อตกลงอย่างไร ยืมให้สายวิชาชีพอย่างเดียวหรืออย่างไร จริงๆ ยืมมาเพื่อใช้จ่ายในเรื่องโรคโควิด-19 ไม่ใช่หรืออย่างไร จริงๆ ตรงนี้ได้มาควรนำมาเฉลี่ยให้ทุกคนที่ทำงาน ไม่ควรมาแบ่งแยกด้วยซ้ำ

เมื่อถามว่าบุคลากรที่ทำงานสายสนับสนุนบริการในกระทรวงฯ กว่า 1 แสนคนทำงานโควิดเท่าไหร่ นายโอสถ กล่าวว่า ทำกันหมด เสี่ยงมากน้อยแตกต่างกัน ช่วงระบาดหนักไม่มีใครไม่ทำงานโควิดเลย ก็ควรได้รับหมด “อย่างของตัวเองได้รับค่าเสี่ยงภัยโควิด วันนี้เข้าบัญชีมา 54 บาทในครึ่งเดือน คิดเป็นเดือนละ 108 บาท พอหรือไม่ เงินไม่มากยังได้ไม่ครบเลย” นายโอสถ กล่าว

นายโอสถ กล่าวว่า ทางสหภาพฯ มีมติแล้วว่า ต้องไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้พวกเราสายสนับสนุนบริการอีกครั้ง โดยต้องขอพบท่านอนุทิน ให้ได้ เพื่อให้ท่านได้ทราบความทุกข์ของคนทำงานจริงๆ โดยจะขอเดินทางช่วงหลังปีใหม่ เพราะช่วงปีใหม่ 7 วันอันตรายเราทิ้งคนไข้ไม่ได้ เราต้องอยู่ทำงานที่โรงพยาบาล

ผู้สื่อข่าว Hfocus แจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคลากรปฏิบัติงานสถานพยาบาลทั้งในกระทรวงฯ และนอกสังกัด หลายคน ระบุใจความว่า  รพ.หลายแห่งให้บุคลากรเซ็นชื่อได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดก่อนได้รับเงินจริง เนื่องจากระบุว่าต้องนำส่งข้อมูลหลักฐานก่อน  เช่น ให้เซ็นว่าอยู่เวรวันไหน และให้เซ็นรับว่าจะได้รับเงินเท่าไหร่ ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกรอบ และให้เซ็นล่วงหน้าก่อนส่งเบิกไม่เกิน 1 สัปดาห์ เรียกว่า ไม่มีเวลาเช็กอะไรเลย หลายรพ.บอกว่า ให้บุคลากรไปเอาหลักฐานการตรวจผู้ป่วยโควิดมาด้วย ซึ่งหลายคนหาไม่ได้ ณ ตอนนั้นใครจะไปเก็บข้อมูลละเอียดขนาดนั้น กลายเป็นต้องสละสิทธิ์

“ปัญหาที่กังวลคือ การเซ็นรับเงินค่าเสี่ยงภัยก่อน แบบนี้ถ้าไม่ได้รับก็ทำอะไรไม่ได้หรือไม่ เรื่องนี้จึงอยากให้ทางผู้บริหารสธ.รับทราบปัญหา และลงมาช่วยเหลือพวกเราบ้าง” บุคลากรฯ กล่าว

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

 - สหภาพลูกจ้างฯ บุก สธ. ร้องความก้าวหน้าสายแบคออฟฟิศกว่า 1.4 แสนคน ลั่นจะกลับมาทวงถามอีก 1 เดือน

 -  “บุคลากรสาธารณสุข” ชี้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท แม้ทำได้จริง แต่ สธ.ไม่ปรับขึ้น! มีตัวอย่างสมัย “ทักษิณ”

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org