ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ”  สู่หน้าที่ประธานบอร์ดสถาบันรับรองคุณภาพฯ หรือ สรพ. เดินหน้างานประเมินคุณภาพสถานพยาบาลรูปแบบใหม่  พร้อมเสนอรัฐบาล ควรจัดงบประมาณเฉพาะให้ รพ. พัฒนาคุณภาพอย่างเหมาะสม ลดปัญหาบางแห่งทรัพยากรไม่เพียงพอ

 

“ รัฐบาล  ควรกำหนดเป็นนโยบาย ว่า  คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ  และการไปเยี่ยมสำรวจเพื่อประเมินรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นหนึ่งในกระบวนการตามนโยบายดังกล่าว   รัฐจึงควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมส่วนนี้ให้แก่โรงพยาบาลนำไปพัฒนาเพื่อได้รับมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาล...” .... หนึ่งในตัวอย่างคำสัมภาษณ์ของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง ศ.นพ.ประสิทธิ์  อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล  มีผลตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

ล่าสุดผู้สื่อข่าว Hfocus มีโอกาสสัมภาษณ์ “ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา”  ในฐานะประธานกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน)   หรือ สรพ.  หน่วยงานที่มีหน้าที่กําหนดมาตรฐานและการรับรองคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาล  เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน 

ศ.นพ.ประสิทธิ์   เล่าถึงรูปแบบการดำเนินงานภายใต้บอร์ด สรพ.ชุดใหม่ ที่จะต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ว่า  นับจากนี้ สรพ.ควรการปรับรูปแบบการทำงาน โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆที่ได้รับการประเมินคุณภาพไปแล้วนั้น ใกล้พ้นระยะเวลาการรับรองคุณภาพ และจำเป็นต้องส่งเรื่องเข้ามาให้ทาง สรพ. ทำการประเมินและรับรองอีกครั้ง เพื่อเป็นการต่ออายุมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาล

ปรากฎว่า  มีรายชื่อโรงพยาบาลที่อยู่ในลิสต์รอการประเมินยาวมาก และหาก สรพ. ยังใช้รูปแบบเดิม คือ การลงพื้นที่เยี่ยมสำรวจ และประเมินคุณภาพเหมือนในอดีตที่ผ่านมาอาจไม่ทัน ยกตัวอย่าง มีโรงพยาบาลส่วนหนึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาล และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม  2566 แต่ขณะนี้ สรพ.ยังส่งทีมไปทำการประเมินไม่ครบ  หากเกินกำหนดเวลาการรับรองมาตรฐานของเดิม แสดงว่า โรงพยาบาลนั้นๆจะไม่สามารถใช้มาตรฐานการรับรองอันเดิมได้ หรือเรียกว่า ไม่ได้รับการรับรองคุณภาพ   ก็อาจมีประเด็นข้อกฎหมาย และอื่นๆตามมาได้

ด้วยเหตุนี้  สรพ.ควรมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยประเมินคุณภาพสถานพยาบาล  เพราะในต่างประเทศมีการใช้รูปแบบดังกล่าว อย่าง มาตรฐาน  JCI (Joint Commission International) ของต่างประเทศมีการปรับตัวด้วยการสำรวจและประเมินมาตรฐานทางไกลด้วยการใช้เทคโนโลยี  พบว่า ในแง่ผลของคุณภาพไม่ได้ด้อยลง แต่ควรมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม  

“ดังนั้น  สรพ. ควรปรับรูปแบบการเยี่ยมสำรวจทางไกลผ่านเทคโนโลยี เพื่อให้การประเมินคุณภาพทันตามกำหนดเวลาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง  เรื่องนี้ควรทำ เพราะโรงพยาบาลที่มีการพัฒนาและได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจะต้องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การรอให้สรพ.ส่งทีมไปสำรวจคุณภาพอย่างเดียวอาจไม่ทัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ประธานบอร์ด สรพ. อธิบายเพิ่มเติมว่า   ในเรื่องของบทบาทหน้าที่ของ สรพ.นั้น ลองนึกภาพ เป็นรูปสามเหลี่ยมรูปหนึ่ง บนยอดของสามเหลี่ยม คือ ผู้กำหนดนโยบายการดูแลการบริการสุขภาพ  ส่วนฐานด้านล่างสองจุด จุดหนึ่ง คือ ผู้รับนโยบายมาดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง และจุดที่สามมุมสุดท้าย คือ ผู้ได้รับผลจากนโยบาย

ทั้งนี้  สามเหลี่ยมทั้งสามมุม ต้องทำงานประสานงานกันทั้งหมด  เริ่มจากผู้กำหนดนโยบาย คือ รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงกระทรวงอื่นๆ ที่มีสถานพยาบาลทั้งหมด  ส่วนผู้รับนโยบายมาดำเนินงาน คือ สถานพยาบาล สถานที่ให้การบริการสุขภาพ ซึ่งนิยามตรงนี้ไม่ได้หมายถึงโรงพยาบาลอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมีเตียง แต่ยังขยายรวมไปถึงระดับปฐมภูมิ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล หรือ รพ.สต.  ดังนั้น ผู้ที่รับนโยบายมาดำเนินการ ยังรวมถึง สรพ. ที่รับนโยบายมาและดำเนินการด้วยการกำกับดูแลให้สถานพยาบาลที่เข้าข่ายดำเนินการอย่างมีคุณภาพที่ดี

“ในเรื่องคุณภาพนั้น ที่รู้จักกันดีคือ คำว่า สามเหลี่ยมเหล็ก หรือ   Iron triangle of healthcare ออกแบบโดย William Kissick มีคำที่ชัดๆคือ ระบบบริการสุขภาพของประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องทำให้คนเข้าถึงระบบได้ภายใต้คุณภาพที่เป็นที่ยอมรับ และค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม...”

ศ.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายต่ออีกว่า จากข้อความข้างต้นนำไปสู่ข้อขัดแย้ง 2 เรื่อง คือ ผู้รับบริการไม่เคยรู้สึกพอเพียงกับการบริการที่ได้รับ ซึ่งเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของชีวิต ย่อมต้องการการได้รับบริการมากขึ้น  แต่ทรัพยากรที่มีกลับไม่เพียงพอ ดังนั้น 2 อย่างนี้หากไม่ตรงกัน ความต้องการจะมากกว่าความสามารถในการให้บริการ ย่อมส่งผลให้เกิดประเด็นการบริการไม่มีคุณภาพ เป็นต้น

“จริงๆ Iron triangle of healthcare เกิดขึ้นทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย อย่างไทยมีประเด็นเรื่องงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพของเราแค่ 4% ของGDP ในความเป็นจริง ตัวเลขที่เหมาะสมควรจะประมาณ 6%ของ GDP ดังนั้น ทรัพยากรที่เข้ามาในระบบสุขภาพของเราจึงต่ำกว่าควรจะเป็น ซึ่งทรัพยากรที่เราพูดถึง คือ เงิน ของ คน  เวลา ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณภาพที่ประชาชนคาดหวังจึงเกินศักยภาพของทรัพยากรที่ได้รับ ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่พอจึงสำคัญ ซึ่งมีวิธีบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพได้ แต่ควรปรับรูปแบบการบริหารจัดการให้เหมาะสม รวมทั้งระบบคุณภาพก็ควรปรับรูปแบบเช่นกัน เช่น เทเลเมดิซีน ซึ่งระยะยาวลดค่าใช้จ่ายให้คนไข้ ลดการเดินทางได้ ปรึกษาทางไกลได้ ยาไปส่งได้ และระบบคุณภาพก็ต้องเข้าไปจับตรงนี้”

อย่างกรณี รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปแล้วนั้น เมื่ออยู่ภายใต้คนละกระทรวง ก็จะเกิดคำถามว่า  ผู้กำกับมาตรฐานคุณภาพ จะสามารถกำกับสั่งการได้หรือไม่ เพราะอยู่คนละกระทรวง ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ในการประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องมาหารือร่วมกัน  เพื่อให้เกิดกลไกเรื่องมาตรฐานคุณภาพของ รพ.สต. 

**ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมี รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับการต้องมาประเมินคุณภาพสถานพยาบาล คล้ายๆ รพ.สต.ติดดาวของกระทรวงสาธารณสุขแต่เดิม...  ประธานบอร์ด สรพ. ให้ข้อคิดเห็นเรื่องนี้ ว่า  ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า รพ.สต. เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร ซึ่งข้อเท็จจริง รพ.สต. เกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบสุขภาพที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ ระบบสุขภาพเกี่ยวข้องกับชีวิต สิ่งเหล่านี้คือ หน้าที่ คือ กลไกในการทำงานของ รพ.สต. หน้าที่ตรงนี้มีค่าใช้จ่าย มีการใช้ทรัพยากร คน เวลา ฯลฯ ดังนั้น สายการบังคับบัญชาต้องจัดสรรสิ่งเหล่านี้ให้สถานพยาบาล  

**เมื่อถามถึงการพัฒนาคุณภาพ หรือการจะผ่านการรับรองคุณภาพต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ  ส่งผลให้สถานพยาบาล รวมไปถึง รพ.สต. หลายแห่งไม่มีงบประมาณ และบางส่วนอาจมองว่า เป็นภาระหรือไม่   ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า   รัฐบาล เป็นผู้กำกับนโยบาย ซึ่งควรกำหนดเป็นนโยบายว่า  คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ  และการไปเยี่ยมสำรวจเพื่อประเมินและให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นหนึ่งในกระบวนการตามนโยบายดังกล่าว  ดังนั้น ผู้รับผิดชอบควรเป็นของรัฐ  เช่น การจัดสรรงบประมาณไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ควรมีการกำหนดและเติมเข้าไป เพื่อให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปดำเนินการพัฒนาคุณภาพได้

“หากนำเงินที่เขาได้รับอยู่แล้ว อย่าง งบค่าหัวประชากรจาก สปสช. และต้องนำเงินส่วนนี้มาทำการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล ย่อมมีรพ.ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ กลายเป็นเรื่องของภาระ จริงๆ เรื่องการพัฒนาคุณภาพไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหน้าที่ เพื่อให้คนไทยได้รับสิ่งที่ดี...” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ขอบคุณภาพจาก สรพ.

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org