ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. สานพลัง มูลนิธิสังคมและสุขภาพ – คณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม MOU หลักสูตรจากวิจัยโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด พัฒนานวัตกรรมความรู้ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม รับสังคมสูงวัย ประชาชนทั่วไปเรียนได้ ลดเครียด -ปัญหาพฤติกรรม –อารมณ์ พร้อมผลักดันต้นแบบผู้ดูแลในเขต กทม.

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 ที่ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสังคมและสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงนามบันทึกข้อความตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เรื่อง การพัฒนาหลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สสส. กล่าวว่า สสส. วางทิศทาง ThaiHealth Academy ออกแบบหลักสูตร ให้ตรงสถานการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพปัจจุบัน ซึ่งปี 2566 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ จึงพัฒนาหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยโปรแกรม Reducing Disability in Alzheimer ( RDAD) เพราะข้อมูล สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2555 ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8.1% ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยผู้ดูแลมักมีปัญหาสุขภาพกาย และจิตใจ 

“การพัฒนาหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม ถูกพัฒนาให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย นำไปปฏิบัติได้จริง เหมาะทั้งกับญาติ ผู้ดูแล และ อสม. ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรด้านสุขภาพอย่างเดียว นอกจากเป็นหลักสูตรแล้ว Thaihealth Academy มีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมภาคเอกชนและภาครัฐในเขต กทม.” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว

ผศ.นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการสานพลังพัฒนาหลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดัน ให้หลักสูตรถูกพัฒนาขึ้นจริง ในเนื้อหาการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป หรือหลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับ นิสิต/นักศึกษา ร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะด้านสุขภาพชุมชน ดังวิสัยทัศน์ และอัตลักษณ์จิตอาสาเพื่อสังคม ของคณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชนต่อไปในอนาคต

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการสร้างความร่วมมือเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ กล่าวว่า มูลนิธิสังคมและสุขภาพ ร่วมกับ โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่องการสร้างความร่วมมือเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ พัฒนาเป็นหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยโปรแกรม Reducing Disability in Alzheimer (RDAD) เป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับพฤติกรรมทางกายที่ผิดปกติ และลดภาวะความพิการในผู้ป่วย ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความเครียดของญาติ หรือผู้ที่ดูแลไปพร้อม ๆ กัน

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org