ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.ประเวศ วะสี” ชี้ไทยยังขาดความคิดเชิงระบบและการจัดการ ชูทางออกผนึกกำลังตระกูล ส. 8 องค์กร  แนะประชุมทุกสัปดาห์ เรียกเป็น คณะมนตรีสุขภาพ ให้เป็นฟันเฟือนพัฒนาประเทศ เพื่อ สุขภาวะ สมบูรณ์ทั้งแผ่นดิน

 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม  ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษ “Synergy for Safety and Well-being” ภายในการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 23 ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2566  ว่า  โควิดที่ระบาดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า สถานพยาบาล เต็มพื้นที่ไปหมด การดูแลรักษาไม่ได้จำกัดในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้น คำว่า คุณภาพสถานพยาบาล จึงเป็นคุณภาพของประเทศไทยทั้งประเทศ นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นสุขภาวะของคนทั้งแผ่นดิน ความเป็นองค์รวมสำคัญมาก หากมีความคิดองค์รวมจะพ้นวิกฤตต่างๆ ได้

 

สุขภาวะที่สมบูรณ์ เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศไทย

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ  กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถา ว่า ความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนทั้งแผ่นดิน ควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศไทย  ซึ่งไทยไม่ได้มีเป้าหมายตัวนี้ ทั้งโลกก็ไม่มี แต่เป็นเป้าหมายแยกย่อย ทั้งความมั่นคั่ง เรื่องวิชาการบ้าง แต่หากเราพูดถึงองค์รวม ต้องดูเป้าหมายทุกส่วน ทุกคน ทุกองค์กร เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดร่วมกัน จึงเกิดความเป็นองค์รวมได้

 

เรื่องสุขภาพ ไม่ใช่แค่หมอ ยา โรงพยาบาลเท่านั้น แต่สุขภาพรวมบูรณาการในการพัฒนามนุษย์ และสังคมทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเป็นทั้งหมด จึงต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา หากจับตรงนี้ได้ และทุกองค์ประกอบของประเทศมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดเดียวกัน ประเทศก็จะลงตัว หากเรามีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน ประเทศก็จะมีบูรณภาพและดุลยภาพ  โดยดุลยภาพ คือ สุขภาวะ การเจ็บป่วยทุกชนิด คือการเสียสมดุล ดังนั้น สุขภาวะ จึงเป็นทั้งบูรณภาพและดุลยภาพ หากนำตรงนี้เข้ามาจะออกแบบและโครงสร้างได้

 

"ศ.นพ.ประเวศ วะสี"

ขาดความคิดเชิงระบบและการจัดการ

“เราขาดความคิดเชิงระบบและการจัดการ อย่างมหาวิทยาลัยทั้งหมด เป็นทรัพยากรทางวิชาการมโหฬาร เรามี 140 มหาวิทยาลัย แต่ทั้งหมดคิดเชิงเทคนิค ขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ จึงได้ผลเพียงเล็กๆน้อยๆ หากเราสามารถออกแบบระบบและโครงสร้าง จะเกิดองค์รวมที่มีคุณสมบัติใหม่ที่มหัศจรรย์” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าว

อย่าง สุขภาวะของคนทั้งปวง จากออตตาวา ชาร์เตอร์ ออกแบบขึ้นอยู่กับ 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.พฤติกรรมสุขภาพ 2.สิ่งแวดล้อมดี 3.ชุมชนเข้มแข็ง 4.ระบบบริการสุขภาพดี 5.นโยบายสาธารณะดี   โดยระบบสุขภาพ ที่ประกอบด้วยองค์กรตระกูล ส.ทั้ง 8 องค์กร ตั้งแต่ สธ.   สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยทำทุกอย่างทั้ง 5 เรื่องแล้ว แต่การจะทำให้สมบูรณ์ ต้องอยู่ที่การออกแบบเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ

 

ทั้งนี้ การมีระบบบริการสุขภาพที่ดี ใช้คำว่า EQE คือ Equity ทั่วถึงเป็นประธรรม  Quality คุณภาพดี และEfficiency ประสิทธิภาพ  โดยสรพ.จะเกี่ยวข้องกับคำว่า Quality ซึ่งกินความกว้าง ไม่ได้หมายถึงเทคนิคถูกต้อง แต่หากระบบนี้ไม่ทั่วถึงเป็นธรรมก็จะมีคุณภาพได้อย่างไร ดังนั้น จึงกินความมาถึงทั่วถึงเป็นธรรมด้วย และต้องมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น คำว่า คุณภาพ ครอบคลุมทั้งหมด

ต้องออกแบบระบบและโครงสร้างให้ถูกต้อง 

ส่วนการออกแบบระบบและโครงสร้างนั้น หากเราสามารถเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบร่วมกันเป็นองค์รวมจะทำให้มีคุณสมบัติใหม่ที่มหัศจรรย์ได้ โดยระบบและโครงสร้างของสุขภาวะที่สมบูรณ์นั้น ประกอบด้วย 1.ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง  และ 2.ต้องพัฒนาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่แยกส่วน  เหมือนกับการสร้างบ้าน ให้คนไทยเข้าอยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัย โครงสร้างของบ้านมี 3 อย่าง คือ พื้นล่างต้องแข็งแรง ผนังบ้านที่มาประกอบได้แก่ 8 ระบบ   และหลังคา คือ ระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ร่างกายของเราแม้มีภายนอกดี แต่ระบบภูมิคุ้มกันก็สำคัญ   

 

อย่างโครงสร้างพื้นล่าง คือ ประเทศไทยทั้งประเทศ โดยพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย ทั้งหมดจะมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ หากมีครบ ทุกอย่างลงตัว

 

ขณะเดียวกันผนัง 8 ด้าน คือ ระบบสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบศาสนา ระบบรัฐ ระบบการสื่อสาร ระบบการเมือง และประชาสังคม

 

 

ผนึก 8 องค์กรกลุ่ม ส. ฟันเฟืองพัฒนาประเทศ

ต้องมีการผนึกกำลัง 8 ส. เป็นคีย์สำคัญ โดย ส.แรก คือกระทรวงสาธารณสุข สปสช. สวรส. สช. สสส. สรพ. สพฉ. และมสช. โดยทั้ง 8 องค์กรจะเป็นฟันเฟืองกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยอย่างบูรณาการ ทั้งระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ ศึกษา ศาสนา การเมือง ฯลฯ จะมีคณะทำงานในการทำงานเชื่อมโยงกันทุกภาค และต้องเลือกคนที่เหมาะมาเป็นคณะทำงานประสานพลัง  

 

“กลุ่ม ส.8 มีการประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ผมเสนอว่า ทั้ง 8 องค์กรควรกินข้าวกลางวันด้วยกันทุกสัปดาห์ ผมเรียกเล่นๆ ว่า คณะมนตรีสุขภาพ  โดยอาจให้แต่ละองค์กรเวียนกันเป็นเจ้าภาพนัดประชุม อันนี้เป็นคำขอร้อง และสั่งเสียของผม”

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า  หากเราทำได้ก็จะเกิดธรรมะเพื่อความเจริญ โดยหมั่นประชุมเป็นเนืองนิจ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ ดังนั้น ตระกูล ส. ทั้ง 8 ควรเริ่ม  เพราะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดเรื่องดีๆได้ และยังมีคณะทำงานประสานพลัง 8 คณะ หรือจะมากกว่าก็ได้ อย่างคำพระ มรรคสมังคี อย่างที่เสนอมาการผนึกกำลังเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนทั้งแผ่นดิน ก็คือ มรรคสมังคี 888  คือ

 

1.มรรค 8 พัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ 8 มิติ

2.มรรค 8 องค์กรตระกูล ส.ทั้ง 8

3.มรรค 8 ผนึกระบบทั้ง 8

 

“ทั้งหมดที่ออกแบบ เมื่อมารวมกันก็จะลงตัวกันหมด นี่เป็นพลังประเทศไทย ทุกคนทุกองค์กรมีบทบาทได้หมด ซึ่งจะสร้างความปลอดภัย และสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนไทยทั้งประเทศ” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าว

(สามารถฟังคลิปผ่านไลฟ์ของเพจ HAได้ที่นี่)

ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอประสิทธิ์” เผย 8 องค์ประกอบสู่ สุขภาวะ ที่ดี