ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"เลอพงศ์ ลิ้มรัตน์" ทำจดหมายเปิดผนึกถึง "ประธานกรรมการกระจายอำนาจฯ" กรณีการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการถ่ายโอนรพ.สต. ชี้ สํานักงบไม่ได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่อบจ. อย่างเต็มที่ และไม่ได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการและประกาศ ก.ก.ถ. อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566  นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำจดหมายเปิดผนึกถึง  "ประธานกรรมการกระจายอำนาจฯ" ทุกฝ่าย เรื่อง การไม่ปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการถ่ายโอนรพ.สต. โดยระบุใจความสำคัญดังนี้ 

ตามที่สมาชิกวุฒิสภาบางท่านและกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามผลักดันให้ ก.ก.ถ. ทบทวน หรือชะลอการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และได้กล่าวอ้างว่า การถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนนั้น ขอเรียนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค ดังนี้ 

1. ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. เป็นไปตามแผนปฏิบัติการกําหนดขั้นตอนการกระจาย อํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) ด้านการถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งเป็นกฎหมายลําดับรองที่ผ่าน ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและได้รายงานต่อรัฐสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2551 เพื่อใช้บังคับตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ตลอดจนประกาศ ก.ก.ถ. เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลให้แก่องค์การบริหารส่วน จังหวัด ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ซึ่ง ก.ก.ถ. ประกาศกําหนดโดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 12 (4) แห่ง พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

อย่างไรก็ตาม ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สํานักงานปลัดกระทรวง สาธารณสุข สํานักงบประมาณ และสํานักงานคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น ไม่ได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการและประกาศ ก.ก.ถ. อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1.1 สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ซักซ้อมความเข้าใจอย่างชัดเจนให้แก่สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด สํานักงานสาธารณสุขอําเภอ และโรงพยาบาล อย่างมีประสิทธิภาพ ทําให้ราชการ ส่วนภูมิภาคในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่เข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะ “พี่เลี้ยง” ที่จะต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้ อบจ. ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับการถ่ายโอนตามแผนปฏิบัติการ แต่กลับพยายามผลักดัน และเร่งรัดให้ อบจ. รับผิดชอบการบริหารภารกิจด้านสุขภาพปฐมภูมิทั้งหมดโดยออก “แบบสํารวจความพร้อม ของ อบจ.” ผ่านสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ บริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทําให้เกิดความสับสนและข้อกังวล แก่บุคลากรสังกัด อบจ.และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปแล้ว ตลอดจนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขในสังกัดราชการ ส่วนภูมิภาคที่จํานวนมากตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบของตนเองในการเป็น “พี่เลี้ยง” ให้แก่ อบจ.

1.2 สํานักงบประมาณไม่ได้จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนภารกิจถ่ายโอนให้แก่ อบจ. อย่างเต็มที่ตามที่ระบุไว้ประกาศ ก.ก.ถ. และยังไม่จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่ อบจ. สําหรับจ่ายเป็น สวัสดิการตามสิทธิของข้าราชการถ่ายโอนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งอาจขัดต่อมาตรา 250 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กําหนดให้ “รัฐต้องดําเนินการให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นมีรายได้ของตนเองโดยจัดระบบภาษีหรือการจัดสรรภาษีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการหา รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดําเนินการตามวรรคหนึ่งได้อย่างเพียงพอ ในระหว่างที่ยังไม่อาจดําเนินการได้ ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไป พลางก่อน” รวมทั้งอาจขัดต่อมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่กําหนดให้ “การจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนสําหรับการดําเนินการโดยทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สํานักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

2. การกระทําที่อาจเข้าข่ายละเมิดข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และที่แก้ไข เพิ่มเติมและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 185

ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ฝ่ายเลขานุการมักนําหนังสือทักท้วงการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ซึ่งลงนามโดยสมาชิก วุฒิสภาบางท่าน โดยไม่ใช่หนังสือที่ลงนามโดยประธานวุฒิสภาและผ่านการพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา ตามมาตรา 90 แห่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งแม้สมาชิกวุฒิสภา จะสามารถแสดงความคิดเห็นทางวิชาการต่อนโยบายรัฐบาลและปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมได้

ในฐานะประชาชนชาวไทย แต่ด้วยสถานะทางสังคมของสมาชิกวุฒิสภาบางท่านที่ดํารงตําแหน่งประธาน กรรมาธิการในวุฒิสภา ทําให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเกิด ความหวาดกลัว ความกังวล และความเครียดในการปฏิบัติตามหน้าที่ ดังนั้น การกระทําของสมาชิกวุฒิสภาใน แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ก.ถ. และคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. จึงอาจเข้าข่ายละเมิด บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 185 (1)

ที่ห้ามมิให้ “สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช่สถานะหรือตําแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา กระทําการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของ พรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการปฏิบัติราชการหรือการดําเนินงานในหน้าที่ประจําของ ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น” อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ย่อมก่อให้เกิดความสับสนและความวุ่นวายในช่วงเริ่มต้นเป็นธรรมดา 

แต่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะการปฏิรูปภาครัฐที่ต้องอนุวัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการย่อมก่อให้เกิดความสับสนและความวุ่นวายที่เราจําเป็นต้องยอมรับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การหยุดนิ่งไม่ดําเนินการใด ๆ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศอันเป็นที่รักของเราทุกคนย่อมไม่แตกต่างอะไรจากการทุจริตคอรัปชันและการบ่อน ทําลายความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม ผู้ออกแบบ พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ก็ได้ออกแบบขั้นตอนและหลักการบริหารภารกิจถ่ายโอนไว้ เพื่อรองรับปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น

ปัญหาการถ่ายโอนรพ.สต.

แต่ปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. เกิดจากการที่ส่วนราชการตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายและแผนปฏิบัติการอย่างเคร่งครัดตามวิสัย ของข้าราชการพลเรือนและบุคลากรภาครัฐที่ดี หาก ก.ก.ถ. พิจารณาแล้วเห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวง สาธารณสุข ย่อมเป็นการส่งสัญญาณให้แก่สังคมได้ทราบว่า ก.ก.ถ. ยินดีที่จะปฏิเสธการปฏิรูปในขอบเขตอํานาจหน้าที่ของตนเพียงเพราะห่วงใยในประโยชน์ของส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ซึ่งต่อไปในอนาคตก็จะไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า กระทรวง สาธารณสุขจะไม่ชะลอการใช้บังคับกฎหมายฉบับอื่นด้วย แม้กระทั่งกฎหมายในความรับผิดชอบโดยตรงของ กระทรวง อาทิเช่น พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

"วิษณุ" เผยมติที่ประชุม กรณีถ่ายโอนรพ.สต. เห็นชอบเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนให้ อปท.