ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลวิจัยการจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก พบช่องว่างในการจัดระบบประกันสุขภาพ และการจัดบริการตรวจสุขภาพยังเป็นแบบตั้งรับ ทำให้แรงงานต่างด้าวบางกลุ่มเข้าไม่ถึงบริการ แนะบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

         

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) เปิดเผยว่า การจัดระบบประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยประเทศไทยนอกจากดูแลประชากรไทยแล้ว ยังมีการจัดระบบประกันสุขภาพให้กับกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน

ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาวิจัยสถานการณ์การจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก โดยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวด้านกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน กระบวนการทำงานและระบบสารสนเทศ จากหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง ศึกษาดูงานในหน่วยงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมทั้งสัมภาษณ์เชิงลึกและอภิปรายกลุ่ม รวม 30 คน โดยเป็นผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดน และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าว ทั้งที่เข้ามาโดยใช้ passport และ border pass ในพื้นที่ชายแดนประเทศไทยเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือเข้ามาเช่าที่พักอาศัยทำงาน

         

นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาพบประเด็นสำคัญ 4 เรื่องคือ 1) ระบบข้อมูลสารสนเทศในปัจจุบันยังมีปัญหาทั้งความครบถ้วน ความถูกต้อง และทันเหตุการณ์ ไม่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการระบบประกันสุขภาพตามบทบาทและภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขได้ 2) มีช่องว่างของการจัดระบบประกันสุขภาพของ กระทรวงสาธารณสุข กับระบบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด 19 กรณีแรงงานต่างด้าวมาตรา 64 (พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560) และการขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่รอสิทธิประกันสังคมของบริษัทประกันภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย 3) รูปแบบการจัดบริการตรวจสุขภาพยังเป็นลักษณะตั้งรับ ทำให้นายจ้างมีภาระในการนำแรงงานต่างด้าวไปรับบริการที่โรงพยาบาล และ 4) มีข้อจำกัดในการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสุขภาพในพื้นที่ชายแดน ทำให้ยังมีคนต่างด้าวบางกลุ่มในชุมชนที่เข้าถึงยาก

 

         

จากผลการวิจัยดังกล่าว จึงมีข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 และมาตรการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2563 ใน 3 ประเด็น ได้แก่ เพิ่มกลุ่มแรงงานต่างด้าว มาตรา 64 ที่นำเข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดน ตามประกาศกระทรวงแรงงาน, ปรับปรุงรูปแบบการจัดบริการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่สถานประกอบการหรือชุมชน และระบบติดตามกำกับคุณภาพการตรวจสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเร่งรัดการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้บริหารจัดการและติดตามประเมินผลการจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

 

         

นอกจากนี้ ในระยะสั้น 3 เดือน ควรหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกระทรวงแรงงาน เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงนำร่องศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีความพร้อม ส่วนในระยะยาว ควรศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการเสนอกฎหมายรองรับการจัดระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างชาติ (Health Insurance for non-Thai) ทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประเทศ