ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคคาดสถานการณ์ปี 2566 เป็นไปได้พบระบาดทั้ง “ไข้หวัดใหญ่ - โควิด19”  ขณะที่ทั่วโลกพบหวัดใหญ่มากขึ้นเช่นกัน แนะกลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดป้องกันทั้ง 2 โรค โดย สธ.เดินหน้ารณรงค์ 1 พ.ค. กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด เผยข้อมูลป่วยหวัดใหญ่ 1 ม.ค.-1 เม.ย. 66  ป่วย 38,291ราย   

 

คาดปีนี้ระบาดคู่ "ไข้หวัดใหญ่-โควิด19"

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการคาดการณ์สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ในปีนี้ ว่า สำหรับปีนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่คู่กับโควิด เนื่องจากทั่วโลกเองก็พบการระบาดไข้หวัดใหญ่มากขึ้นแล้ว ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา มีโควิดทำให้การเดินทางน้อยลง แต่ปีนี้มีการเดินทางมากขึ้น ก็มีโอกาสพบการระบาดมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เริ่มพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่แล้ว ถือว่าเร็วกว่าปกติที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน โดยคาดว่าการระบาดจะทำให้พบผู้ป่วยมากกว่าในปีก่อนที่จะมีโควิด อาจจะพบได้หลายหมื่นราย

ดังนั้น จึงเป็นความสำคัญว่า กลุ่มเสี่ยง 608 ควรฉีดวัคซีนป้องกันทั้ง 2 โรค ซึ่งเดือนพฤษภาคม ทางกระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนทั่วไปที่อยากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด รัฐบาลก็ยังจัดหาให้ฟรี ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดเตรียมไว้ 4 ล้านโดส เพื่อฉีดในกลุ่มเสี่ยง

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า  ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่จะปรับมาเป็นการฉีดประจำปีนั้น ทั่วโลกก็เริ่มปรับมาเป็นการฉีดประจำปีเช่นกัน ซึ่งการให้วัคซีน 1 เข็มเป็นวัคซีนประจำปี ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือติดเชื้อ 3 เดือน ถ้าฉีดมา 1-2 เดือนก็ให้รอจนครบ 3 เดือนก่อน กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่ม 607 หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุ 1-5ปี ผู้ที่มีอาชีพสัมผัสให้บริการคนจำนวนมาก สถานที่แออัด ทัณฑสถาน เรือนจำ และบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อสม.

1 พ.ค.รณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิด19

“วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่จะรับวัคซีนประจำปีก็รณรงค์พร้อมกัน ทั้งนี้ วัคซีนโควิดรุ่นเดิมรุ่นใหม่ไม่ว่ายี่ห้อใดใช้เป็นเข็มกระตุ้นประจำปีได้ ตามช่วงอายุที่ขึ้นทะเบียนไว้ เช่น วัคซีนไฟเซอร์ฝาแดง สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ขวบ ฝาส้มสำหรับ 5-11 ขวบ และสีม่วงสำหรับ 12 ปีขึ้นไป” นพ.โสภณ กล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีวัคซีน Bivalent รุ่นใหม่ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา สำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กยังเป็น Monovalent อยู่ ซึ่งกรณีใช้กระตุ้นภูมิสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงกลับมาในระดับป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีอาการป่วยหนักและรุนแรงได้ Bivalent ของเด็กจะจัดหาในระยะต่อไป เรามี Monovalent จัดหามาปีที่แล้วอีกจำนวนหนึ่ง สามารถให้บริการฉีดได้ตามกลุ่มอายุเป้าหมายที่กำหนดบริษัทวัคซีนขึ้นทะเบียนกับ อย.

ตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลกรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 ม.ค.-1 เม.ย.2566  มีรายงานผู้ป่วย 38,291ราย อัตราป่วย 57.87ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดสงขลา อัตราป่วยตาย 0.003 สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A/H1N1

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19ที่เข้ารับการรักษาในรพ.สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 เม.ย. 2566 มีรายงาน 5,4823 ราย เสียชีวิตสะสม 273 คน  กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่พบในกลุ่มอายุ 0–4 ปี เท่ากับ 282.04 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5–14 ปี 219.73ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มอายุ 15–24 ปี 40.18 ต่อประชากรแสนคน

จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ พะเยา อัตราป่วย 209.21 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ แพร่ 205.67 ต่อประชากรแสนคน พัทลุง 191.23ต่อประชากรแสนคนอุบลราชธานี 169.99ต่อประชากรแสนคนเชียงใหม่133.35ต่อประชากรแสนคน ภูเก็ต 125.14 ต่อประชากรแสนคน นครศรีธรรมราช 99.59 ต่อประชากรแสนคน น่าน 98.43 ต่อประชากรแสนคนกรุงเทพมหานคร 97.13ต่อประชากรแสนคน และมุกดาหาร 96.58ต่อประชากรแสนคน

 

 

 

แฟ้มภาพ