ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่เพียงแค่การจัดตั้งศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน (Andaman Health and Wellness Center) แต่ล่าสุดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต ได้จับมือกับโรงพยาบาลเอกชน จัดทำอีกหนึ่งโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ตามนโยบายการพัฒนาประเทศสู่การเป็นเมดิคัล ฮับ

โครงการดังกล่าวคือ การวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ โดยมีศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (AI-TaSI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.อ. เป็นกำลังสำคัญร่วมมือกับ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์

รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การบริการ ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และการบริการเชิงสุขภาพที่เข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้มีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต แต่อาจยังไม่มีตัวกลางที่ดีพอ

“โครงการนี้จะช่วยให้คนใช้บริการสามารถรับรู้ เข้าถึงและได้รับการบริการตามที่ต้องการได้ง่ายขึ้นในรูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ และให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ตั้งแต่ก่อน ระหว่างและหลังการรักษา จะเพิ่มมูลค่าให้การท่องเที่ยวด้านนี้ไม่น้อย เพราะการได้รับความสะดวกจะทำให้คนมุ่งมายังถนนสายนี้”

 

AI-TaSI ศูนย์วิจัยเพื่อการท่องเที่ยว

ศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (Andaman Intelligent Tourism and Service Informatics Center หรือ AI-TaSI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ก่อตั้งเมื่อปี 2563 เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและเทคโนโลยี การฝึกอบรมทางวิชาการและการศึกษา และความร่วมมือด้านการวิจัยกับชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

บริการของ AI-TaSI ได้แก่ การวิจัยด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ศาสตร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูล รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านบริการและท่องเที่ยวฝั่งอันดามันเพื่อให้บริการและความรู้แก่หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการและชุมชนในด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ และพัฒนาระบบอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว

ปัจจุบันมีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการท่องเที่ยวจากหลากหลายภาคส่วน  ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และนักวิจัยจากภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนางานวิจัยด้านท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

พวกเขาจะนำองค์ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ดิจิทัลเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์กับบริการของโรงพยาบาลและบริการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการต่าง ๆ

 

One Stop Service เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“แพลตฟอร์มนี้จะนำเทคโนโลยีด้าน AI มาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยวิเคราะห์ข้อมูลการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของนักท่องเที่ยวในมิติต่างๆ อย่างเป็นระบบครบวงจร” รศ.ดร.พันธ์ กล่าว

แพลตฟอร์มที่ว่านี้จะตอบโจทย์การให้บริการของทางโรงพยาบาลว่ามีบริการอะไรบ้าง ผู้ใช้บริการมีความสะดวกในการเข้าถึง ระบุเกี่ยวกับแพทย์ การบริการ ความต้องการในออปชั่นต่างๆ รวมถึงการติดตามหลังการรักษาและความช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยที่นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อกับแพทย์ได้ตั้งแต่อยู่ที่ประเทศตัวเอง ผ่านเทเลเมดิซีน รวมไปถึงการลดขั้นตอนหลายอย่างออกไป เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

หัวหน้าโครงการฯ เสริมว่า ตอนนี้เบื้องต้นทาง AI-TaSI มีการพัฒนาไปแล้วบางส่วน แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยที่มีความซับซ้อนมากคงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของทางโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนแบบครบวงจร ในรูปแบบ one stop service คำตอบทุกอย่างอยู่บนแพลตฟอร์มนี้หมด

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้บางส่วนอาจเริ่มใช้งานไปบ้างแล้ว เนื่องจากมีการพัฒนามาก่อนหน้านี้ แต่อาจยังไม่สมาร์ทมากพอกับที่อยากเห็น จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา โดยพยายามจะทำให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด

 

สอดรับตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโต

ด้วยศักยภาพทางการแพทย์ บวกกับปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ผ่านมา นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ฮาวรังษี รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 6 บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้อำนวยการ และกรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ เผยว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดภูเก็ตมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทั้งในด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว สอดคล้องกับกระแสด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกที่มีการเติบโตต่อเนื่อง จากพฤติกรรมของผู้คนที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณมากขึ้น แทนที่จะเดินทางมาพักผ่อนอย่างเดียว ก็ถือโอกาสใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานและน่าเชื่อถือ ตั้งแต่การตรวจสุขภาพ รักษาโรค การดูแลผิวพรรณความงาน ทำฟัน รวมไปถึงการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งความงาม และการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น

สำหรับจังหวัดภูเก็ต BDMS PHUKET ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มบริการโรงพยาบาลมาตรฐานระดับสากลที่ได้รับการยอมรับ และตอบโจทย์การท่องเที่ยวทางด้านนี้ โดยเฉพาะศูนย์ดูแลสุขภาพและความงาม “ARTEMES Health and Beauty Destination Phuket” ภายใต้การนำของคณะแพทย์เฉพาะทางจากสถาบันศัลยกรรมตกแต่งความงามภูเก็ต สถาบันผิวหนังและความงาม คลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัย และศูนย์ทันตกรรม ถือว่าครอบคลุมครบจบในที่เดียว

 

 

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

จากข้อมูลในปี 2562 พบว่าภูเก็ตค่อนข้างมีชื่อเสียงในฐานะจุดหมายปลายทางด้านศัลยกรรมตกแต่งความและการชะลอวัยอย่างมาก โดย 70% ของลูกค้าศัลยกรรมตกแต่งความงามคือ นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย ส่วนจีนคือกลุ่มหลักของการบริการด้านการชะลอวัย

ความร่วมมือในครั้งนี้จึงไม่เพียงสอดรับกับการเติบโตของตลาด แต่ยังเพิ่มศักยภาพในการยกระดับภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกที่มีความพร้อมทางด้านการแพทย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การบริการที่สะดวก รวดเร็วและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

“แพลตฟอร์มนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต และเมื่อระบบถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างก็จะใช้งานแพลตฟอร์มในอนาคตต่อไป”