ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา จังหวัดตากเจออากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทยที่ 45.4 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ถูกคลื่นความร้อนเล่นงาน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งค่อนข้างน่ากังวล เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกแล้ว อากาศร้อนยังส่งผลกับสุขภาพในระยะยาวด้วย

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ นักวิจัยทางการแพทย์จึงเริ่มค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสความร้อนอย่างต่อเนื่องกับภาวะสุขภาพเรื้อรัง ตั้งแต่เบาหวาน นิ่วในไต โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่โรคอ้วน

ริชาร์ด เจ. จอห์นสัน ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และนักวิจัยจาก University of Colorado Anschutz Medical Campus เผยว่า อากาศร้อนเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดน้ำซึ่งนำมาสู่การสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้และความจำ ความดันโลหิตสูง และภาวะไตวายเฉียบพลัน

และเมื่อเวลาผ่านไป การขาดน้ำเรื้อรังจะทำให้ร่างกายขับของเสียออกมาได้น้อยลง ส่งผลให้มีเกลือและกลูโคสเข้มข้นตกค้างอยู่ในไตและน้ำเหลืองของเลือด ซึ่งสารเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นเบาหวานและภาวะร่างกายเผาผลาญผิดปกติ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง และอ้วนลงพุง

จอห์นสันยังศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการขาดน้ำกับความอ้วน โดยมีนัยที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ที่อากาศร้อน โดยเขาบอกว่า เมื่อสัตว์เริ่มขาดน้ำจะเกิดการกระตุ้นให้ผลิตน้ำตาลฟรุคโตสจากคาร์โบไฮเดรต ฟรุคโตสจะกระตุ้นการผลิตวาโซเพรสซินซึ่งช่วยกักเก็บน้ำในร่างกาย และยกตัวอย่างว่า อูฐไม่ได้เก็บน้ำไว้ในหนอก แต่มันกักเก็บไขมันไว้ และเมื่อไขมันถูกเผาผลาญก็จะเกิดน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วสัตว์จะใช้ไขมันเพื่อความอยู่รอดหากไม่มีน้ำ การผลิตไขมันเป็นปฏิกิริยาของร่างกายต่อการขาดน้ำ หรือการคาดว่าจะขาดน้ำ ดังนั้นจึงมีความเชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่นระหว่างการขาดน้ำ การเพลียแดด และความอ้วน

อาการป่วยจากความร้อนนั้นค่อนข้างกว้าง โดยเริ่มจากอาการเล็กน้อยอย่างเพลียแดด (heat exhaustion) ไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างฮีทสโตรก และสำหรับอาการฮีทสโตรกนั้นในทางคลินิกจะวัดกันที่อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไปและมีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง

ด้วยเหตุนี้อาการฮีทสโตรกจึงส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพด้วย โดยพบว่าการเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์และสัตว์เป็นเวลาหลายปีหลังจากเกิดภาวะฮีทสโตรก ทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคหัวใจเรื้อรังและโรคไตได้บ่อยขึ้นในภายหลังด้วย

โธมัส แคลนตัน ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ประยุกต์และวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาและผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของความร้อนต่อร่างกายเผยว่า การศึกษาในสัตว์พบการเปลี่ยนแปลงของปริมาณดีเอ็นเอที่สามารถอธิบายถึงผลกระทบระยะยาวนี้

แคลนตันพบสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของปริมาณดีเอ็นเอในหัวใจ เซลล์ภูมิคุ้มกัน และกล้ามเนื้อลายของหนู 1 เดือนหลังจากเกิดอาการฮีทสโตรก โดยหนูก็ปกติดี หัวใจของมันก็ปกติดี แต่ต่อมากลับเกิดภาวะการเผาผลาญอาหารผิดปกติ ซึ่งจะทำให้หนูทดลองทนต่อความเครียดจากสิ่งแวดล้อม หรือต่อสู้กับโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้น้อยลง

นอกจากนี้ วันที่อากาศร้อนๆ ยังเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเกิดอาการอื่นๆ ที่ปกติแล้วจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความร้อน อาทิ การติดเชื้อที่ผิวหนัง และการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า อากาศร้อนเกี่ยวเนื่องกับการทำแบบทดสอบมาตรฐานได้ไม่ดีด้วย

โจชัว กู๊ดแมน ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาและเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตันพบว่า คลื่นความร้อนและสถานการณ์ที่ร้อนจัดมีนัยสำคัญสำหรับนักเรียนที่เข้าเรียนในอาคารที่ไม่มีการระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม และว่า มี "องค์ประกอบที่สำคัญของความแตกต่างในการเรียนรู้ในประเทศต่างๆ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความจริงที่ว่า การเรียนรู้เมื่อคุณอาศัยอยู่ในสถานที่ร้อนนั้นยากกว่า"

 

ภาพ: Shutterstock

https://www.shutterstock.com/th/image-photo/young-man-heat-stroke-1070758418