ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต เตือนอากาศร้อน ส่งผลทั้งทางกาย และจิต โดยเฉพาะ 6 กลุ่มต้องระวัง ทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจทำอาการแย่ลง ผู้ป่วยสมองเสื่อม กลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ ขาดอุปกรณ์บรรเทาความร้อน  ผู้ป่วยจิตเวช อากาศร้อนอาการอาจกำเริบจากการแปรปรวนของสารสื่อประสาท ฯลฯ  แนะ 5 วิธีรับมือปัญหาสู้อากาศร้อน

 

เมื่อวันที่ 11 เมษายน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อากาศร้อนมีผลโดยตรงกับสุขภาพจิตยกตัวอย่างเช่นอากาศที่ร้อนจะทำให้คนเรามีความเครียด เนื่องจากร่างกายต้องใช้พลังการในการปรับตัว  ในช่วงอากาศร้อนกลางวันยาวนานกว่ากลางคืนอาจจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโตนินได้ช้าลง ทำให้ไม่รู้สึกง่วง นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนอาจจะทำให้นอนไม่หลับ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอเกิดอาการหงุดหงิด อ่อนล้าได้ง่าย นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนอาจส่งผลให้เกิดความเครียดหงุดหงิดควบคุมอารมณ์ได้น้อยลงจนเกิดความหุนหันพลันแล่นทำอะไรที่ไม่หยั่งคิดได้

เตือนกลุ่มเสี่ยง รับผลจากอากาศร้อน  

อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางกลุ่มอากาศที่ร้อนอาจจะมีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตได้มากกว่าคนปกติ เช่น

1. คนที่มีโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว อากาศที่ร้อนอาจจะทำให้อาการเจ็บป่วยแย่ลงส่งผล ให้เกิดความเครียดได้

2. กลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อมอาจทำให้อาการแย่ลงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้

3. ผู้ที่มีความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจ อาจจะมีปัญหาที่อยู่อาศัยที่ร้อนอบอ้าวมากเกิน ขาดอุปกรณ์ที่ช่วยบรรเทาอากาศร้อน และขาดโอกาสเข้าถึงการบริการทางการแพทย์

4. ผู้ที่ป่วยทางด้านจิตเวช ยาทางจิตเวชที่รับประทานอยู่อาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนอาจทำให้อาการจิตเวชกำเริบได้จากการแปรปรวนของสารสื่อประสาท

5. ผู้ป่วยตั้งครรภ์อาจจะมีปัญหาแทรกซ้อนทางด้านการตั้งครรภ์ได้

6. ผู้ที่ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์และสารเสพติดอาจจะมีปัญหาการปรับตัวในช่วงอากาศร้อน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงอากาศร้อนอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องการเสียเหงื่อและเกลือแร่ได้เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัวมากเกินไป

แนะ 5 วิธีดูแลสุขภาพกายใจ สู้อากาศร้อน

นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับวิธีรับมือปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจที่เกิดจากสภาพอากาศร้อนสามารถทำได้ ดังนี้ 

1. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดหรืออยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนสูงโดยเฉพาะเวลา 11 โมงถึงบ่ายสามโมงเพราะเป็นช่วงเวลาที่แดดร้อนสุดของวัน  สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมหมวก กางร่มใช้ครีมกันแดดเมื่อออกสู่ที่แจ้ง

2. ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเป็นเวลานานนานควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอต่อวัน

3. รู้วิธีจัดการอารมณ์และความเครียด

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ปรับสภาพห้องนอน ที่นอนให้มีอากาศเย็นหรือโล่งโปร่งสบาย

5.ทานอาหารที่ทำสุกใหม่ๆหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดร้อนหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเพราะยิ่งจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ และหากมีโอกาสให้เวลากับการออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกหรือเดินพักผ่อนตามห้าง ร้านค้าที่ติดแอร์ ซึ่งถือว่าเป็นการได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น

นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะแอลกอฮอล์จะดูดซึมผ่านสู่กระแสเลือดได้เร็วและทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าช่วงที่มีอากาศปกติ  อีกทั้ง แอลกอฮอล์ยังทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำรุนแรงอาจทำให้ช็อคหมดสติและมีโอกาสเสียชีวิตได้