ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากรายงานการวิจัยของสมาคมโรคปอดของสหรัฐอเมริกา พบว่า 1 ใน 4 ของประชากรในสหรัฐ หรือประมาณ 119 ล้านคน กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศและมีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพและ ภาวะการตายก่อนวัยอันควร  โดยเฉพาะกลุ่มคนผิวสีที่อาศัยกันอยู่หนาแน่นในภาคตะวันตกของประเทศ และถึงแม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติอากาศสะอาดในปี พ.ศ 2513 ทีมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน แต่การก้าวออกจากบ้านของชาวอเมริกาในแต่ละครั้ง ก็ยังคงเป็นความเสี่ยงในด้านสุขภาพ

นักวิจัยได้เก็บข้อมูลจากระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศที่มีการติดตามมากกว่า 10,000 ครั้ง โดยมีทั้งแบบวัดค่าปริมาณก๊าซโอโซนทั้งค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง และค่าเฉลี่ยรายวัน 24 ชั่วโมงในช่วงปี พ.ศ 2562-2564 ในแต่ละพื้นที่ โดยมีข้อมูลว่าคุณภาพอากาศดีขึ้นในบางพื้นที่ โดยพบว่าจำนวนประชากรที่หายใจอากาศไม่สะอาดลดลง17.6 ล้านคนเมื่อเทียบกับรายงานของปีที่แล้ว

เนื่องจากปริมาณก๊าซโอโซนที่ลดลงในบางพื้นที่ ซึ่งก๊าซโอโซนเป็นองค์ประกอบหลักของควันพิษ ซึ่งมาจากเชื้อเพลิงจากรถยนต์ โรงงานไฟฟ้า และโรงกลั่นน้ำมัน การสัมผัสก๊าซโอโซนก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้อย่างรุนแรง และถ้ามีการสัมผัสเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจะทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อเทียบกับคนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อากาศสะอาด

ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ

แคทเธอรีน พรุต ผู้อำนวยการอาวุโสด้านนโยบายของสมาคมโรคปอดอเมริกาและผู้เขียนรายงานชิ้นดังกล่าว กล่าวว่ามีจำนวนเขตที่เพิ่มขึ้นกว่า 25%ที่มีรายงานของการลดปริมาณการปล่อยก๊าซโอโซนน้อยลง ซึ่งมาจากการบังคับใช้กฏหมายอากาศสะอาด โดยเฉพาะการควบคุมการปลดปล่อยมลพิษ และการลดการพิงพิงพลังงานถ่านหิน และการทำงานที่บ้าน แต่อย่างไรก็ดี ประชากรมากกว่า 100 ล้านคนยังคงเผชิญกับวิกฤติมลพิษโอโซน โดยในรายงานระบุว่า ภาคตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเขตที่มีปัญหาด้านมลพิษโอโซนมากที่สุด โดย 10 ใน 25 เมืองที่มีมลพิษสูงสุดอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยอันดับหนึ่งคือเมืองลอสแองเจิลลิส

นอกจากปัญหาเรื่องโอโซนแล้ว มลพิษฝุ่นก็ยังเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีอยู่อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นสถานที่ก่อสร้าง โรงงานไฟฟ้า ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการเกษตร และไฟป่า โดยฝุ่นมีขนาดที่เล็กมากจึงสามารถรอดผ่านระบบการป้องกันของร่างกายได้ โดยสามารถหลุดรอดไปสะสมในปอดและระบบทางเดินโลหิตก่อให้เกิดการอักเสบ นำไปสู่ปัญหาระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่ภาวะซึมเศร้า โดยในรายงานระบุว่าจำนวนประชากรที่มากกว่า 64 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตที่มีปัญหาฝุ่นพิษสูงสุด

ปัจจัยจากไฟป่าก็เป็นสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นพิษ

ปัจจัยจากไฟป่าก็เป็นสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นพิษ ในพ.ศ 2564 พบว่า เมืองในเขตตะวันตกมีไฟป่าเกิดขึ้นกว่า 14,407 ครั้ง และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเพราะสถานการณ์ไฟป่าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะช่วงฤดูกาลไฟป่าอีกต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนเขตที่มีปัญหาฝุ่นพิษสูงขึ้นจาก 106 เขตใน 30รัฐ ในปี พ.ศ 2547 เป็น 111 เขตใน 19 รัฐ และเกือบทั้งหมด ยกเว้นแค่ 8 เขตอยู่ในรัฐทางตะวันตก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ถึงแม้ว่าจะมีกฏหมายสะอาดมาควบคุมมลพิษทางอากาศ แต่ยังคงมีปัจจัยที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ก็คือ ภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะปัญหาไฟป่า และใน 25 เมืองที่มีปัญหามลพิษมากที่สุด พบว่าจำนวนวันที่มีสภาพอากาศเลวร้ายจากมลพิษเพิ่มจาก 16.5 วันเมื่อปีที่แล้ว เป็น 18.3 วันในปีนี้

กลุ่มคนผิวสีเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เผชิญปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ โดยในงานวิจัยระบุว่ากลุ่มคนผิวสีเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลุ่มคนผิวสีคิดเป็น 41% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ โดย 54% ของจำนวนประชากรชาวผิวสีกว่า 120 ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตที่คุณภาพอากาศไม่ดี และในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด พบว่า 72% ของจำนวนประชากรกว่า 18 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตดังกล่าว เป็นกลุ่มคนผิวสี และงานวิจัยอื่นๆก็เสนอข้อมูลเป็นไปในทางทิศทางเดียวกัน

“อีกด้านหนึ่งก็คือ เมื่อมีชุมชนของคนผิวสีอาศัยอยู่ตามความสมัครใจ โดยไม่ได้ถูกบังคับให้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และกลุ่มชุมชนดังกล่าวมักจะไม่ค่อยมีปากเสียง ทำให้กิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศมักจะเกิดขึ้นที่นั่น เพราะชาวบ้านไม่ค่อยคัดค้านเมื่อกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างที่กำจัดขยะ พวกเขามีปัญหาในเขตแนวรั้ว ในชุมชนของเขาเอง” เธอกล่าว

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายคริส เทสซัม อาจารย์จากภาควิชาวิศกรรมสิ่งแวดล้อมและโยธา มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ ที่กล่าวว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ชุมชนที่ยากจนมักจะมีสัดส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่มลพิษค่อนข้างสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรวยทุกคนจะสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีอากาศที่ดีกว่า ในความเป็นจริงแล้วชุมชนทุกแห่งต้องร่วมมือกันเพื่ออากาศที่สะอาด ซึ่งในรายงานระบุว่า ทุกความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและประชาชนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาด หรือมาตรการการเก็บภาษีที่สูงขึ้นในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และการสนับสนุนการใช้รถที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็นต้น

 

Source: A quarter of American live with polluted air, with people of color and those in Western states disproportionately affected, report says, CNN

Photo: Open Access Government

เรื่องที่เกี่ยวข้อง