ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จิตแพทย์เผยสังคมสนใจการเมืองเป็นเรื่องดี ความเป็นพลเมืองจะช่วยให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า แต่ต้องระวัง 2 ประเด็น  คือ การสร้างเฟคนิวส์-เฮดสปีด หัวใจสำคัญเราเห็นต่างได้ แต่ควรมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ นำไปสู่ความรุนแรง แนะวิธี “1 เตือน 2 ไม่”

 

ขณะนี้สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมืองภายหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะการฟอร์มทีมรัฐบาลใหม่ ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะอยู่กระทรวงใด บางฝ่ายเห็นด้วย บางฝ่ายไม่เห็นด้วย จนเกิดข้อห่วงใยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดความเครียด จนนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทยหรือไม่

“หมอยงยุทธ” ชี้สังคมสนใจการเมืองเป็นเรื่องดี แต่ต้องระวัง 2 ประเด็น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงข้อห่วงใยดังกล่าว ว่า อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า การตื่นตัว ความสนใจทางการเมืองเป็นเรื่องดี เพราะแสดงว่าคนไทยเราห่วงบ้านเมือง ดังนั้น การสนใจบ้านเมืองคือ ความเป็นพลเมือง จะช่วยให้บ้านเราเดินไปข้างหน้า จากการที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ข้อควรระวังมี 2 ประเด็นคือ

แสดงออกทางการเมืองดี แต่ระวังสร้างเฟคนิวส์-เฮดสปีด

ประเด็นแรก อย่าเครียดมากจนเกินไป จนกระทั่งเสียสุขภาพจิตของตัวเอง และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตคนรอบข้าง ยิ่งหากมีการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ กระจายในสื่อสังคมก็จะยิ่งเกิดความเครียดมากขึ้น  ซึ่งจะสัมพันธ์กับประเด็นที่สอง คือ การสร้างเฟคนิวส์ (Fake news) หรือสร้างความเกลียดชังในสังคม เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น  การห่วงใยบ้านเมืองควรเป็นเรื่องดีแต่ต้องไม่สร้างบรรยากาศความเกลียดชัง หรือเฟคนิวส์

ประเด็นสำคัญ ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดตัวเอง หรือมายเซ็ท(Mindset) ของเรา โดยการมองเรื่องความต่าง เหมือนเป็นต้นทุนของสังคม มากกว่าการมองว่าเป็นเรื่องความดี ไม่ดี ความถูกหรือผิด หากเราเปิดใจเรื่องนี้ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็จะเป็นไปด้วยความมีเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์ เพราะหากใช้อารมณ์มากก็จะเครียดมาก และสร้างความกระทบกระทั่งกันมาก โดยเฉพาะการใช้เฮดสปีด (Hate Speech) ก็จะนำไปสู่ความรุนแรง   ยิ่งหากมองว่าอีกฝ่ายไม่ดีก็จะนำไปสู่ความรุนแรง จากวาจาไปสู่การกระทำ จะนำมาสู่ความยุ่งเหยิง ความปั่นป่วนทางสังคม

คีย์สำคัญให้ประเทศเดินหน้าคือ เห็นต่างอย่างมีเหตุผล ใช้หลัก “1เตือน 2 ไม่”

“หัวใจสำคัญจึงต้องเปิดใจกว้าง ในการยอมรับเหตุผลโดยไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งตัวที่ทำให้เกิดการใช้อารมณ์มาก คือ เฮดสปีด และเฟคนิวส์ มีการระบาดในสื่อสังคมมาก อย่างในกลุ่มคนๆหนึ่งมีวงไลน์ 50 วง หากเราส่งไป ก็จะกระจายไปเรื่อยๆจาก 50 วง อาจเป็น 2,500 วง และเมื่อส่งไปเรื่อยๆก็เป็นล้านๆ”

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า  โดยหลักของสุขภาพจิตจะมีหลักสำคัญ คือ “ 2 ไม่ 1 เตือน” โดย 2 ไม่ ประกอบด้วย ไม่ผลิตข้อมูลสร้างความเกลียดชัง หรือเฮดสปีด คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสร้าง แต่จะเป็นเรื่องส่งต่อ คือ ไม่ควรส่งต่อข้อความเหล่านี้ เพราะจะทำให้สังคมขาดวุฒิภาวะในการยอมรับความเห็นต่างอย่างมีเหตุผล และ 1 เตือน คือ การเตือนคนที่ส่งข้อมูลที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ประเด็นนี้ต้องเตือนเขาไป” ซึ่งเราเคยเตือนไปก็ได้ผล โดยเขาจะขอโทษ และหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น  ดังนั้น อันดับแรก จาก 2 ไม่  1 เตือน เราควรเริ่มจาก 1 เตือน 2 ไม่ เวลานี้ควรเตือนกัน

“การเตือนที่ไม่ทะเลาะกัน คือ เตือนอย่างสุภาพ เช่น ข้อความนี้อาจต้องระวัง อาจทำให้เกิดความเกลียดชัง ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน หากส่งไปอาจสร้างความปั่นป่วนกับสังคม แต่อย่าไปด่ากัน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการทะเลาะกัน” นพ.ยงยุทธ กล่าว

รักชอบใครย่อมได้ แต่ขอถกกันอย่างมีเหตุผล

ผู้สื่อข่าวถามกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การฟอร์มรัฐบาลใหม่ ที่บางส่วนไม่ชอบตัวบุคคลก็จะไม่เห็นด้วย มีการวิจารณ์อย่างรุนแรง รวมไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการเลือก เอาคนนี้ ไม่เอาคนนี้ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นควรเป็นเรื่องของเหตุผล เช่น หากฟอร์มครม. หากเราไม่ชอบ ก็ต้องมีเหตุผล ไม่ใช่เรื่องตำหนิ ด่าว่า ต้องใช้เหตุผล ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็อาจมีเหตุผลที่แตกต่าง เป็นการแสดงเหตุผลซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องความสามารถของคนไทยเข้าใจปัญหา และทางออกของบ้านเมืองดียิ่งขึ้น หากใช้อารมณ์ก็ไม่ก่อประโยชน์อะไร   

เมื่อถามว่าขณะนี้ทัศนคติการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ มีการชื่นชอบตัวบุคคล คล้ายกับคนดัง ดารานักแสดง นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ต้องมองสองด้าน เพราะคนที่พูดด้านดีก็เยอะ คนที่ใช้อารมณ์ รัก ชอบ เกลียดชัง ก็มีพอสมควร ประเด็นต้องเป็นแบบแรกให้เยอะ ลดแบบที่สองให้น้อยลง ซึ่งคนมีเหตุผลก็มีมาก ดังนั้น เราต้องสนับสนุนแบบแรก และลดแบบที่สอง ซึ่งขณะนี้ตนคิดว่า หากเราเดินไปข้างหน้าได้ โดยทำให้สัดส่วนในการพูดกันแบบมีเหตุผลก็จะเป็นทางออกที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่าการจับขั้วต่างๆ มีเรื่องมติมหาชนมาเกี่ยวข้อง ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ก็เป็นเหตุผลหนึ่งจะยกมาได้ แต่อาจมีเหตุผลอื่นๆ เช่น เขาได้เสียงข้างมากก็เป็นเหตุผล แต่ก็มีเหตุผลว่า บางเรื่องอาจไม่ใช่ข้อตกลงร่วมก็ได้ ก็จะเป็นเรื่องเหตุผลต่อเหตุผล หากเป็นลักษณะนี้บ้านเมืองจะมีทางออก อย่างไรก็ตาม การมีเสียงข้างมาก เป็นหนึ่งเหตุผลที่ยอมรับได้ ก็ใช้ไปได้ แต่ก็ต้องฟังเหตุผลอื่นๆด้วย เนื่องจากในเสียงข้างมากก็ไม่ใช่ข้างมากทุกประเด็น ยังมีบางประเด็นที่ไม่ใช่จุดร่วมของทุกฝ่าย หากใช้เหตุผลก็จะมาถึงจุดที่ทุกคนยอมรับได้

“สิ่งสำคัญเพื่อเพิ่มความมีเหตุมีผลขอให้ใช้ 1 เตือน 2 ไม่ ที่ต้องระวังที่สุดคือ อย่าใช้อารมณ์มากเกินไป ประเทศที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องอยู่ได้ท่ามกลางความแตกต่าง เพราะความแตกต่าง เป็นโอกาส เป็นทางเลือกของสังคม เพราะหากเราเลือกอยู่ทางเดียว เมื่อเกิดปัญหาก็จะไม่มีทางออก การที่มีหลายทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในหลายประเทศที่ผ่านวุฒิภาวะ ผ่านสิ่งต่างๆมาเยอะแยะ จะรู้ว่า ความต่างไม่ใช่ความผิด ความต่างไม่ใช่อาชญากรรม แต่การสร้างเฮดสปีดสร้างความเกลียดชัง คือ การสร้างความรุนแรง” นพ.ยงยุทธ กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :  เปิดโผว่าที่ รมว.-รมช. "กระทรวงสาธารณสุข" 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org