ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าภาควิชารังสีฯ ม.เชียงใหม่ เผยระบบสาธารณสุขไม่ได้ขาดแคลนแค่ “หมอ-พยาบาล” ยังมีวิชาชีพอื่นๆ ปัจจุบันนักรังสีผลิตปีละ400-500คน ซึ่งน่าจะเพียงพอ แต่เข้าระบบภาครัฐเพียง  35-40% ขณะที่กรอบอัตรากำลัง ค่าตอบแทนน้อยเกินเมื่อเทียบภาระงาน ท้อแท้ หลายคนอดหลับอดนอน

 

นักรังสีหลายแห่งขาดแคลน ทำงานคนเดียว

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน  ผศ.ดร.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ  หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการชมรมรังสีการแพทย์ชุมชนแห่งประเทศไทย  กล่าวถึงประเด็นหมอลาออก ว่า กระแสข่าวการลาออกของแพทย์กำลังเป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งสะท้อนปัญหาที่สะสมมานานของบุคลากรที่ทำงานโรงพยาบาล  วิชาชีพรังสีเทคนิคก็เช่นกันที่มีปัญหาความขาดแคลน ปัญหาระบบงานในภาครัฐ ความไม่เป็นธรรม อัตรากำลังที่ขาดแคลนในโรงพยาบาลต่างๆทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ นักรังสีการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.)  ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไร หลายแห่งยังคงทำงานอย่างหนักในการอยู่เวรนอกเวลาอันเนื่องมาจากแผนกเอกซเรย์ต้องเปิดทำการ 24 ชั่วโมง แต่มีคนปฏิบัติงานเพียงคนเดียว

เปิดปัญหาขาดแคลน นักรังสี ในระบบภาครัฐ

ทางรอดของการทำงานคือให้ผู้ช่วยปฏิบัติงานแทนทั้งๆ ที่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการเอาเปรียบผู้ป่วยที่ควรได้รับการบริการในมาตรฐานวิชาชีพนักรังสีฯ มาตรฐานการรักษา   แต่ไม่มีทางเลี่ยงพราะนักรังสีฯ อยู่คนเดียวตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีคนสับเปลี่ยน ก็คงต้องทำงานจนตาย แล้วห่อธงชาติแน่ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในวิชาชีพรังสี(กับอีกหลายๆวิชาชีพในโรงพยาบาล) เกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก

1. กรอบอัตรากำลังที่จัดสรรในปัจจุบันน้อยเกินภาระงาน (แม้ว่าจะสะท้อนจาก FTE และการจัดเวรนอกเวลาราชการไม่สามารถนำมาคิดเป็นภาระงานได้ เนื่องจากรับค่าตอบแทนเวร-ประมาณ 600-700บาท) จนนักรังสีฯบางคนเปรยกับตนว่า เรื่องเงินไม่เท่าไหร่ แต่ต้องการใช้ชีวิตที่ได้อยู่กับครอบครัว ได้เวลานอนพักที่เต็มอิ่มมากกว่าการวนเวียนนอน รพ.อยู่เวรเกือบค่อนเดือนทุกเดือนเป็นสิบๆปี (การอยู่เวร  ที่ต้องปฎิบัติงาน เวรเช้า เวรบ่ายเวรดึก  และ ต้องต่อเช้าต่อ )

 

2. การถูกเอาเปรียบจากหน่วยงานโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในการจัดเวรนอกเวลาราชการแบบ Oncall แก่นักรังสีฯ ที่ให้ค่าตอบแทนต่ำ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ที่ควรจะเป็น จนไม่มีแรงจูงใจในการเข้ารับราชการของน้องๆ ที่จบใหม่ที่จะสมัครเข้าทำงานใน รพช. แม้ว่าจะมีกรอบอัตราว่าง หรือแม้แต่คนในระบบรอที่จะหาจังหวะย้ายออก เพราะไม่ไหว กับภาระงานที่หนัก ค่าเวร และความก้าวหน้าไม่มี

 

3. รพ.หลายแห่งมีรูปแบบการจ้างงานที่ไม่จูงใจให้น้องๆที่จบใหม่เข้าสู่ภาครัฐ ได้แก่ การจ้างงานในตำแหน่งลูกจ้างรายคาบ ลูกจ้างชั่วคราว การจ้างงานรายวัน เป็นต้น ซึ่งไม่มีสวัสดิการหรือแรงจูงใจที่จะดึงคนเข้าสู่ระบบ ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเป็นพนักงานกระทรวงหรือพนักงานราชการ  ยังเป็นได้แค่ลูกจ้างรายวัน อีกเป็นจำนวนมาก

 

4. เงินเดือนในระบบจ้างงานของภาครัฐต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาคเอกชนซึ่งปัจจุบัน รพ.เอกชนและศูนย์บริการฯเอกชนหลายแห่งมีค่าตอบแทน สวัสดิการ โบนัส รวมทั้งให้ทุนการศึกษาเป็นเงินก้อนแก่นักรังสีฯที่จบใหม่จูงใจมากกว่าภาครัฐ น้องๆจึงไม่สนใจเข้ารับราชการ

 

5. ภาระงานโรงพยาบาลที่มากขึ้น ผู้รับบริการมากขึ้น แต่อัตรากำลัง กรอบเท่าเดิมนักรังสีฯ หลายคนในระบบที่ทนไม่ไหวกับระบบการทำงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระงานที่มากเกิน เวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ ค่าตอบแทนที่ได้ไม่จูงใจ หากอายุยังน้อยก็หาทางออกไปอยู่ภาคเอกชนหรือเปลี่ยนอาชีพไปเลย แต่หากอายุมากขึ้นมีครอบครัวแล้วไม่อยากไปไหนก็ทนทำงานกันไป

 

6. อัตราการผลิตนักรังสีฯ แต่ละปีประมาณ400-500คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพอในการเติมเข้าสู่ระบบ แต่ปรากฏว่าน้องๆเข้าสู่ระบบภาครัฐประมาณ 35-40% (ข้อมูลจากบัณฑิตรังสีเทคนิค มช. ปี2564-566 น้องๆที่จบทำงานภาครัฐ  ซึ่งสถาบันอื่นๆ คงไม่ต่างกันมากนัก)  ดังนั้นจะเห็นว่ามีนักรังสีฯ เข้าสู่ระบบรัฐน่าจะเต็มที่ 200-300 คน คิดเป็น 50-60%ของกำลังผลิต ในขณะที่ความต้องการในภาครัฐขณะนี้มีอัตราเกษียณประมาณปีละ60-80 คน ส่วนที่ขาดสะสมในภาครัฐประมาณ 1,200 คนทั่วประเทศ  (ที่ไม่มีนักรังสีฯเลยอีกประมาณ 100 กว่าแห่ง จากรพ.รัฐประมาณ 900 แห่ง) ขณะที่ รพ.เอกชนและศููนย์ฯ เอกชนต้องการประมาณปีละเกือบๆ 300 คน เชื่อว่าหากไม่มีการตั้งโต๊ะเจรจาปัญหาความขาดแคลนนักรังสีฯยังคงจะเกิดขึ้นอีกนาน ปัจจุบันแม้จะแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรทุนนักศึกษารังสีฯ ของกระทรวงแต่ปัญหาไม่ได้ลดน้อยลงเลย

7.ปัญหาอื่นๆ สารพัดไม่ว่าเรื่องความก้าวหน้า ค่า พตส. ที่ต่ำเตี้ย ไม่มีการปรับมานาน การลาศึกษาต่อยากเพราะไม่มีคนทำงาน ปัญหาการทำงานในหน่วยงาน ฯลฯ ทำให้น้องๆ เลือกเดินในทางสายใหม่มากกว่าอดทนในระบบของรัฐ ฯลฯ