ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในร้อยเอ็ด เผยปัญหา "หมอลาออก" เหตุหลักไม่ใช่ภาระงานแต่เป็นค่าตอบแทน ชี้รัฐบาลใหม่ควรจัดสูตรการคำนวณเงินเวรให้เป็นมาตรฐานทุกโรงพยาบาล รวมถึงอัตราส่วนหมอ-พยาบาล-คนไข้ ไม่สมดุล ทำให้คนไข้ต่างจังหวัดเลือกหมอไม่ได้ และเพิ่มกรอบอัตรากำลังบุคากรทางการแพทย์ด้วย

จากกรณีมีประเด็น"หมอลาออก" ซึ่งเหตุส่วนหนึ่งมาจากระบบของโรงพยาบาลรัฐที่มีคนไข้จำนวนมาก และหมอไม่ได้พักผ่อน รวมถึงภาระงานเยอะ  นอกจากนี้คนวงการแพทย์ ระบุว่า แพทย์ฝึกหัดต้องทำงาน 80-100 ชั่วโมง/สัปดาห์ อยู่เวรในโรงพยาบาลติดกัน 1-3 วัน ฯลฯ ล่าสุดวันที่ 15 มิถุนายน 2566 พยาบาลประจำโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยกับทาง Hfocus  ถึงกรณี "หมอลาออก" ว่า ขณะนี้ปัญหาภาระงานที่เกิดขึ้นคือ โรงพยาบาลชุมชนนอกเวลามีแค่ห้องฉุกเฉินที่เปิด ทำให้พยาบาลที่อยู่เวรบ่าย-ดึก ต้องทำทั้งบัตรผู้ป่วย เจาะเลือด ฉีดยา รักษา จ่ายยาเองในกรณีเคสที่ไม่ฉุกเฉิน และเมื่อมีค่าใช้จ่ายต้องเป็นคนออกใบเสร็จอีกด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นห้องที่รับผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินด้วย เช่น ฉีดยา,ทำแผล ,มีหน้าที่ออกเหตุและส่งต่อผู้ป่วย เมื่อมีเจ้าหน้าที่ออกไป pre-hos , interfacility ทำให้งานในห้องฉุกเฉินทำไม่ทัน ทำให้ผู้มารับบริการด่าทอเจ้าหน้าที่เรื่องรอนาน นอกจากงานพยาบาลยังมีงานเอกสารการเก็บตัวชี้วัดต่างๆของหน่วยงาน ซึ่งในบางครั้งต้องเอาเวลาพักมาทำงานส่ง

สำหรับเรื่องอัตรากำลังและเวลาทำงาน

อัตรากำลังและเวลาทำงานมีกฏชัดเจน แต่ไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ Work load สูง ขาดการกำกับติดตามที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันอัตราส่วน หมอ-พยาบาล-คนไข้ ไม่สมดุล คนไข้ต่างจังหวัดเลือกหมอไม่ได้เพราะหมอน้อยจึงรักษาตามีตามเกิด เพราะไม่มีใครอยากมา เหตุเนื่องจากค่าตอบแทนน้อย  สวัดิการไม่ดี  พยาบาลไม่มีตำแหน่งบรรจุจึงเป็นเหตุให้หมอพยาบาลลาออกแบบสมองใหล สุดท้ายเรื่องการบังคับขึ้นเวรมองว่า เป็นความสมัครใจส่วนใหญ่ แต่ปัญหานี้เกิดจากความไม่สมดุลระหว่าง งาน เงิน และการกำกับติดตามขององค์กรและปัจจัยของบุคคลด้วย 

"นอกจากนี้มองว่า 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาลทั่วไป ไม่เพียงพอต่อการรับบริการผู้ป่วย ถ้าเป็นไปได้อยากให้มี 2 โรงพยาบาลทั่วไป หรือ โรงพยาบาลศูนย์ 2 แห่ง"  

สำหรับข้อเสนอที่อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ควรแก้ไขมีดังนี้

- ในการคิดคำนวณเงินเวรไม่มีสูตรที่ตายตัว แล้วแต่โรงพยาบาล ซึ่งในการขึ้นเวรบ่ายดึกไม่ได้ค่าบ่ายดึกทุกเวร ควรจัดสูตรการคำนวณเงินเวรให้เป็นมาตรฐานทุกโรงพยาบาล ทั้งนี้ค่าเวรไม่มีการปรับมามากกว่า 15 ปีแล้ว

- สิ่งที่สำคัญหลักที่ทำให้เจ้าหน้าที่ลาออกไม่ใช่ภาระงานแต่เป็นค่าตอบแทน 8 ชั่วโมง / 700 บาท ตกชั่วโมงละ 87.5 บาท บางแห่ง 650 บาท  ซึ่งมองว่าไม่คุ้มค่ากับการทำงานที่ทำอยู่ตอนนี้ เพราะในโรงพยาบาลเอกชนมีอัตราค่าเวร 1,200 บาท/12 ชั่วโมง

- ควรมีการพิจารณาค่าใบประกอบวิชาชีพ พยาบาลได้ ค่าใบประกอบวิชาชีพ 1,500 บาท

- ขยายเวลาในการต่อใบประกอบวิชาชีพ และลดค่าธรรมเนียมเดิม 5 ปี / 1,500 บาท

- ควรออกกฎหมายที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนและมีโทษที่หนัก เพราะปัจจุบันอาจมีผู้มารับบริการพกอาวุธเข้ามาในโรงพยาบาลด้วย

- มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญในการควบคุมสถานการณ์เมื่อเกิดความรุนแรงในโรงพยาบาล เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แต่ละครั้ง ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งโทร 191 มีปัญหาว่าโทรไม่ติด เจ้าหน้าที่มาไม่ทันเหตุการณ์

- ความก้าวหน้าของวิชาชีพ ในฐานะผู้ปฏิบัติยังมีช่องทางในการได้ตำแหน่งน้อยมาก และสิ้นสุดที่ C7 ในการทำ C8 ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างและจำกัดตำแหน่ง

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-สธ.ชู “หนึ่งจังหวัด หนึ่งรพ.” ดูแลผู้ป่วยร่วมกัน แบ่งปันบุคลากร บรรเทาภาระงาน

-เสียงสะท้อน “พยาบาล” ลาออกเพียบ! เฉลี่ยปีละ 7,000 คน เหตุภาระงานล้น ค่าตอบแทนน้อย

-สปสช.เตรียม5แนวทางหารือ สธ.ลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

-แพทยสภาห่วงปัญหาหมอลาออก และขาดแคลนแพทย์ ของสธ. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อดำเนินการ

-สธ.เตรียมหารือ สปสช. ถกปัญหาบริการบัตรทองเพิ่ม ทำภาระงานแพทย์ พยาบาล บุคลากรล้น!

-สธ.แจง “หมอลาออก” ปัญหาสะสม ล่าสุดวางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานนอกเวลา 64 ชม.ต่อสัปดาห์

 

 

ติดตามข่าวสารความรู้ผ่านเฟซบุ๊กสำนักข่าว Hfocus ได้ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org