ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข ปมหมอลาออก จริงๆ มีวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล ชี้ 5 ปัจจัยเดินหน้าแก้ไข ทั้ง “ค่าตอบแทน” ล่าสุดเพิ่มเงินโอที 8% ค่าอยู่เวรบ่ายดึก 50% “สวัสดิการ” ปรับปรุง สร้างบ้านพักอย่างเพียงพอ ก่อสร้างแล้ว 1 หมื่นยูนิต “ความก้าวหน้า”  และ”ภาระงาน”  รวมไปถึง “เรื่องส่วนตัว” บางคนต้องการอยู่ใกล้บ้าน เพื่อดูแลพ่อแม่ เป็นเรื่องส่วนตัวที่ห้ามได้ยาก

 

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่โรงแรมเดอะ ฮอลล์ เขตหลักสี่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดทบทวนหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ โดยให้มีการเรียนแพทย์ 7 ปี จากเดิมที่เรียน 6 ปีแล้วออกมาทำงานเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีในโรงพยาบาล (รพ.) ของรัฐ หลังพบปัญหาแพทย์เพิ่มพูนทักษะลาออกเนื่องจากภาระงานหนัก ว่า เมื่อวานมีการประชุมระหว่าง สธ. กับ 4 ชมรมแพทย์ของกระทรวงฯ ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีการหารือในเรื่องภาระงาน เนื่องจากไทยเรามีการบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะยามปกติหรือยามฉุกเฉิน แต่สิ่งที่ตามมาคือ ภาระงานที่หนักมาก ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่ต้องการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูและรักษาโรคมีมากขึ้น จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรในข้อจำกัดด้านบุคลากร งบประมาณที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

One Province One Hospital หนึ่งจังหวัด หนึ่งรพ. อีกทางออกแบ่งปันทรัพยากร บรรเทาภาระงาน

“ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันคือ พยายามให้แต่ละจังหวัด ถือว่าหน่วยบริการของแต่ละจังหวัดเป็นหน่วยเดียวกัน หรือนโยบาย One Province One Hospital โดยการแบ่งปันทรัพยากรรวมถึงบุคลากรร่วมกัน เช่น รพ. ไหนขาดหมอ ขาดงบฯ อีก รพ. ก็เข้าไปช่วย โดย 4 ชมรมฯ สะท้อนกลับมาหลายเรื่อง คือ 1.บุคลากรที่มีจำกัดแต่ภาระงานเยอะ ปัญหาของเราคือติดระเบียบของราชการ เช่น ก.พ. เราจึงเทียบกับวิชาชีพอื่นอย่างครู ที่บริหารจัดการตำแหน่ง คัดเลือกบุคลากร ปรับค่าตอบแทนได้เอง แต่สธ. ไม่มี ฉะนั้น เราจึงไม่สามารถบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนสายงานของบุคลากรได้อย่างคล่องตัว ทางชมรมฯ เสนอให้มีการบริหารแบบวิชาชีพครู ดูแลบุคลากรกันเองผ่านคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข (กสธ.) ซึ่งจะมีการตกผลึกและผลักดันต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

4 ชมรมสาธารณสุขชี้ทางออกร่วมแก้ปัญหา สปสช. ลดภาระงาน แก้ปัญหางบ

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า 2.เรื่องภาระงาน ที่เดิมหน่วยงานที่ดูแลคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เวลาจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ก็จะดูผ่านคณะกรรมการบริหาร แล้วกระจายเป็นนโยบายลงไป แต่ทาง 4 ชมรมฯ ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องรับภาระจริง จึงเสนอว่าต่อไปหากจะทำอะไร ขอให้มีการหารือร่วมกับผู้ปฏิบัติงานหน้างานว่าทำไหวหรือไม่ ไม่ใช่เพิ่มงานโดยที่คนทำงานไม่รับทราบ คนคิดว่าเป็นเรื่องดีที่บุคลากรจะได้รับทราบและมีส่วนร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องงบประมาณ เดิม สธ. ถูกตัดงบหลายส่วนไป สปสช. ซึ่ง 4 ชมรมฯ หารือกันว่า หากจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ใด ต้องดูงบประมาณว่าสอดคล้องกันหรือไม่

เสนอมหาวิทยาลัยสอนทักษะหมอให้ครบ ค่อยส่งมาทำงานที่สธ.

3.ปัญหาแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ที่เรียนแพทยศาสตร์บัณฑิตในปีที่ 7 แล้วต้องมาทำงานใน รพ. สังกัด สธ. ที่ผ่านมาพบปัญหาว่า หน้าที่หลักของ สธ. คือให้บริการประชาชน ไม่ใช่การฝึกฝน ที่ควรเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ทางชมรมฯ จึงเสนอว่าให้ทางมหาวิทยาลัย สอนทักษะให้ครบ แล้วค่อยส่งมาทำงานที่ สธ. ในฐานะผู้จัดบริการให้ประชาชน เพราะของเดิมให้ภาระทั้งรักษาและสอนบุคลากรในเชิงทักษะที่ค่อยข้างยาก

เป็นแนวคิดแต่ต้องหารือร่วมกัน

เมื่อถามว่าหากต้องเรียน 7 ปี จะเป็นการยืดเวลาในการผลิตแพทย์ รวมถึงจะทำให้ขาดบุคลากรใน รพ. ของรัฐเพิ่มขึ้นหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า แนวคิดนี้เป็นข้อเสนอจาก 4 ชมรมฯ ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงเรียกร้องขึ้นมา ดังนั้น เราต้องให้ความใส่ใจและสะท้อนกลับไปในผู้ที่เกี่ยวข้อง ทางชมรมฯ ก็ตั้งคำถามกลับไปที่มหาวิทยาลัยว่า สามารถช่วยพัฒนาบุคลากรส่วนนี้ได้อย่างไร แต่ต้องไปหารือกันในรายละเอียด ยังไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้

การลาออกของบุคลากร ไม่ใช่แค่ “หมอ” มีวิชาชีพอื่นด้วย

ถามต่อว่าหากเรียน 7 ปีแล้วยังพบปัญหาการลาออกในปีที่ 8 จะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การลาออกของบุคลากร ไม่ใช่แค่หมอ แต่ยังมีพยาบาลด้วย ก็มีหลายปัจจัยหลัก 4 อย่าง คือ 1.ค่าตอบแทน ที่ สธ. ได้เพิ่มค่าตอบแทนโอที 8% ค่าอยู่เวรบ่ายดึก 50% แต่คงเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของเอกชนไม่ได้ 2.สวัสดิการที่ได้สั่งการแล้วว่า ให้สร้างบ้านพักให้บุคลากรอย่างเพียงพอ ขณะนี้ก่อสร้างแล้ว 1 หมื่นยูนิต 3.ความก้าวหน้า ตัวอย่างของแพทย์คือข้าราชการระดับ 8 แต่ถ้า สธ. ดำเนินการผ่าน กสธ. ได้เอง ก็ทำให้พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุขได้รับระดับ 8 ได้เช่นเดียวกัน 4.ภาระงาน ก็ต้องหารือกันว่าภาระงานที่เกินหน้าที่ เช่น การสอนแพทย์ ก็จะลดภาระงานได้ และ 5.เรื่องส่วนตัว บางคนอาจชอบอยู่กรุงเทพฯ หรือต้องการอยู่ใกล้บ้าน เพื่อดูแลพ่อแม่ เมื่อครบ 3 ปีที่ใช้ทุน ก็จะกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวที่ห้ามได้ยาก

“ผมมองว่าการโยกย้ายเป็นเรื่องปกติ ถ้าระบบภาพรวมสามารถรองรับได้ และถ้าเขาย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่ยังทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ก็ถือว่ายังเป็นการช่วยงานประเทศชาติอยู่ดี ไม่เป็นปัญหามาก เพียงแต่ภาพรวม เราคงต้องดูการกระจายตัวให้เหมาะสม และสมดุล จึงต้องดูทั้งปัจเจกบุคคลและภาพรวมประเทศ” นพ.โอภาส กล่าว

แนวคิดจ้างแพทย์เอกชน หรือหมอเกษียณอายุกลับทำงานอีกครั้ง

เมื่อถามถึงแนวคิดจ้างแพทย์เอกชน หรือแพทย์เกษียณกลับมาทำงาน นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นรูปแบบที่เราทำอยู่แล้ว แต่แพทย์ที่เราต้องการคือ แพทย์ที่ต้องอยู่เวรกลางคืน ซึ่งถ้าเป็นแพทย์เกษียณก็จะไม่เหมาะสมกับอายุ จึงดูหลายปัจจัย ตนเชื่อว่าในเชิงตัวเลขไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่ในเชิงปฏิบัติก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งเราก็จะให้นโยบายภาพใหญ่คือ One Province One Hospital เพื่อการช่วยงานกันในแต่ละพื้นที่

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ประชุม 4 ชมรมสาธารณสุข หาทางออกภาระงานปม “หมอลาออก” ห่วงถ่ายโอนรพ.สต.ทำบริการล้น!)

 

ข่าวเกี่ยวข้อง 

-“หมอวาโย” ค้านข้อเสนอปรับหลักสูตร “หมออินเทิร์น” จาก 6+1 ปี เป็น 7 ปี ชี้แก้ไม่ตรงจุด ถอยหลัง กำปั้นทุบดิน

-สปสช.เตรียม5แนวทางหารือ สธ.ลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

-แพทยสภาห่วงปัญหาหมอลาออก และขาดแคลนแพทย์ ของสธ. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อดำเนินการ

-วิกฤตระบบสาธารณสุข ภาระงานล้น บุคลากรอ่อนแรง ทางแก้ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ”

-เสียงสะท้อน “พยาบาล” ลาออกเพียบ! เฉลี่ยปีละ 7,000 คน เหตุภาระงานล้น ค่าตอบแทนน้อย