ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.หารือร่วมเลขาธิการ ก.พ.  ถกปัญหา “หมอลาออก” ภาระงานบุคลากรทุกวิชาชีพ  เห็นพ้องตั้งคณะทำงานใน 30 วัน แม้รัฐบาลรักษาการก็ทำได้ ส่วน ก.พ. เผยบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ขอให้กระทรวงฯจัดสรรตำแหน่งว่างก่อน เผยตัวเลขกรอบอัตรากำลังปี 69 ให้ทุกวิชาชีพฯ อย่าง “หมอ” เสนอเพิ่มขึ้น 35,578 ตำแหน่ง “พยาบาล” เพิ่ม 175,923 ตำแหน่ง ฯลฯ

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 มิถุนายน ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) มีการประชุมหารือทางออกภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ.  นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. และนายสุวัฒน์ เอื้อเฟื้อ รองเลขาธิการ ก.พ.  ร่วมหารือทางออกร่วมกันเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมง

ที่ประชุมเห็นพ้องบุคลากรภาระงานมาก

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกัน ได้มีความเห็นตรงกันว่า ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องรับบริการการแพทย์เพิ่มขึ้น การรองรับการดูแลผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความคาดหวังต่อระบบบริการสาธารณสุขที่มีมากขึ้น ทั้งการครอบคลุมสถานที่ คุณภาพ ห้วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้ภาระงานบุคลากรฯ เพิ่มขึ้นชัดเจน อีกประการที่เป็นเหตุย่อยๆ คือ การถ่ายโอน รพ.สต. ทำให้บางแห่งไม่สามารถจัดบริการประชาชนได้เหมือนเดิม ทำให้ต้องกลับมารับบริการที่รพ.ของสธ. แม้ที่ผ่านมาจะมีบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาลเพิ่ม แต่เมื่อเทียบภาระงาน ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี จึงต้องหารือร่วมกันโดยใช้กรอบความคิด วิธิการใหม่ในการดำเนินการตรงนี้

เห็นชอบข้อเสนอกรอบอัตรากำลังขั้นสูงแต่ละวิชาชีพ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ข้อสรุปของการนำเสนอเรื่องนี้ อันดับแรก ที่ประชุมเห็นชอบในข้อเสนอการเพิ่มอัตราตำแหน่งราชการให้ได้อยู่ในกรอบขั้นสูง ซึ่งสธ.วางแต่ละวิชาชีพไม่เท่ากัน แต่เรามีหลักคิดตรงนี้อยู่ ยกตัวอย่าง แพทย์ วางเป้าไว้ที่ 35,578 คนภายในปี 2569  จากปัจจุบันอยู่ที่ 24,649 คน (ข้อมูล ณ 10 ก.ค.65) ส่วนพยาบาล ตั้งไว้ที่ 175,923 คนภายในปี 2569 จากปัจจุบัน 116,038 คน  ประการต่อมา เรื่องความก้าวหน้า ที่ประชุมเห็นด้วยเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง พยาบาล ที่รอการเป็นชำนาญการพิเศษ หรือซี 8 ซึ่งปัจจุบันติดอยู่ที่ชำนาญการหรือซี 7 แต่ทางผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายกฯ มองว่า ควรขยายไปถึงเชี่ยวชาญในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะภูมิภาคต้องพิจารณา ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาเกณฑ์ จากเดิมมีเกณฑ์ติดขัด เช่น พยาบาลต้องครบ 4 คนจึงจะปรับเป็นชำนาญการพิเศษ ซึ่งน้อยอยู่แล้ว ไม่เพียงพอ จึงจะดูว่าผ่อนปรนได้หรือไม่

 

นอกจากนี้   ในเรื่องอัตรากำลัง ซึ่งแพทย์ในระดับภูมิภาคจะหายไป 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ การลาไปฝึกอบรม อย่างแพทย์ประจำบ้านประมาณ 4 พันคน แบ่งออกเป็นไปอยู่ภาคมหาวิทยาลัย ซึ่งหากไปอยู่ส่วนกลาง ก็ทำให้จำนวนแพทย์ในภูมิภาคลดลง ดังนั้น ทางสธ.จึงเสนอให้อยู่ในพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะปีที่ 2 และ 3 โดยผู้ที่มีทักษะมากควรอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะหารือกับแพทยสภา ส่วนประเด็นที่สอง สนับสนุนให้มีการลาฝึกอบรม และอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค ยกตัวอย่าง รพ.สังกัดสธ. ที่มีความสามารถเปิดเทรนนิ่ง โดยไม่ต้องลาศึกษาแต่ให้ทำงานฝึกอบรม และได้วุฒิบัตรพร้อมกัน ซึ่งก็จะคงอัตรากำลังทันที ในโควต้าสธ.มีประมาณ 1,500 กว่าที่นั่ง(ตำแหน่งที่ว่างเรียน) โดยจะขยายได้อีก เพราะเรามีรพ.สังกัดที่เป็นศูนย์แพทย์ประมาณ 48 แห่งที่มีศักยภาพในการเทรนนิ่งได้

ประชุมร่วมแพทยสภาต่อกรณี หมออินเทิร์น กับ หมอประจำบ้าน

ส่วนเรื่องการจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรืออินเทิร์น ให้เพียงพอกับภาระงาน โดยเราเสนอ 85% ซึ่งก็ต้องเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ หรือ Consortium ส่วนเรื่องระยะยาว ได้มีการวิเคราะห์แล้วว่า CPIRD  หรือการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ทำให้มีอัตราคงอยู่ 80-90% จึงจะขยายจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาให้ได้ปีละ 2 พันคน ซึ่งจะตรงกับความต้องการของสธ. ดังนั้น หากคำนวณแล้วก็จะประมาณ 30 กว่าคนต่อศูนย์แพทย์ 1 แห่ง ตรงนี้จะสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่า ลูกหลานที่เรียนแพทย์ได้ก็จะไปทำงานที่บ้าน ที่ภูมิลำเนาได้ด้วย เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า สามารถรักษาคนอยู่ในตรงนี้ได้

“ทั้งหมดจะให้เห็นผลภายใน 30 วัน โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลาง ขึ้นมาทำงานเกี่ยวกับเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่จะเสนอ 85% ปัจจุบันได้เท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันเราได้ไม่ถึง 70% แต่จะขอให้ได้ถึง 85% ซึ่งก็ต้องมีการประชุมพิจารณาจากคณะกรรมการ Consortium อย่างไรก็ตาม สัดส่วนที่เราดูประชากรบัตรทองถึง 88%  

“ส่วนเรื่องแพทย์ประจำบ้านเกี่ยวกับการไม่ต้องขอลานั้น พูดง่ายๆ คือ ไปปฏิบัติงานได้โดยไม่ถูกแป้กเงินเดือน อย่างหน่วยราชการอื่นๆ ก็ไม่ถูกแป้ก แต่ได้รับเงินเดือนตามขั้น เพื่อให้ใกล้เคียงกับวิชาชีพอื่นๆ” ปลัดสธ.กล่าว

30 วันตั้งคณะทำงานร่วม

นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมประชุมการบริหารงานบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะงานโควิด19 อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งคณะทำงานภายใน 30 วันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน แม้จะมียุบสภา มีการเลือกตั้ง การรอจัดตั้งรัฐบาล แต่การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ประชาชนยังดำเนินการต่อไปได้ภายใต้ขอบเขตกฎหมายกำหนด

เลขาฯ ก.พ.ตอบกรณีบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง

นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ.  กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ. และสธ.ได้คุยกันเป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องการปรับเปลี่ยนปรับปรุงระบบบุคลากรทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยสำนักงาน ก.พ.สนับสนุนบุคลากรการแพทย์มาตลอด ทั้งอัตรากำลัง ค่าตอบแทน เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาเห็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องมาแก้ไขให้ทันท่วงที โดยต้องพิจารณาทั้งประชาชนที่ต้องการได้รับบริการ ตัวระบบในเรื่องอัตรากำลัง ต้องเร่งแก้ไขและดูภาพรวม ว่า อัตรากำลังตรงไหน เมื่อไหร่ อย่างไรที่เราต้องบริหารจัดการ เราตระหนักดีว่า แรงจูงใจ ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วง ทาง ก.พ.พร้อมขับเคลื่อนงานร่วมกับ สธ.

ผู้สื่อข่าวถามทางสำนักงาน ก.พ.ถึงความคืบหน้ากรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง นายปิยวัฒน์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ สธ.ต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการทบทวนร่วมกับกระทรวงฯ มาตลอด และพบว่า สธ.มีตำแหน่งว่างอยู่ ดังนั้น จึงต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1. วัตถุประสงค์การบรรจุ ว่า ยังคงหลักการแตกต่างจากรอบแรกหรือไม่ และ2.การบริหารอัตราว่างที่มีอยู่ จะบริหารอย่างไร และส่วนไหนจะขออัตราตั้งใหม่ เพื่อสำนักงาน ก.พ. ได้เสนอให้เหมาะสมต่อไป

สธ.ชูตัวอย่างวิเคราะห์กรอบอัตรากำลัง

ผู้สื่อข่าวถามนพ.ทวีศิลป์ กรณีการวิเคราะห์กรอบอัตรากำลังปี 69 สายวิชาชีพของคณะทำงานฯ มุ่งเน้นวิชาชีพใด นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ให้ทุกวิชาชีพ เราพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่หมอ พยาบาล เพียงแต่ตัวเลขไหนทำได้ก่อนก็จะดำเนินการก่อน แต่ย้ำว่า ให้ความสำคัญทุกวิชาชีพ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : มีผลแล้ว! อัตราค่าตอบแทน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ)

 

ตัวอย่างสายวิชาชีพ