ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เร่งดำเนินการบริหารจัดงบบัตรทองให้บุคลากร รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปท้องถิ่นแล้ว ส่วนล็อตสองรอถ่ายโอน 1 ต.ค.66 ขอให้อบจ.มีความพร้อมในการรองรับ จัดทำแผงผังบริหารให้ชัดเจน เหตุหลายแห่งยังไม่มี แต่สธ.ยินดีหนุนการบริการรักษาประชาชนเหมือนที่ผ่านมา ด้านปลัดสธ.เผยทำหนังสือถามความพร้อม อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข  

 

"อนุทิน" ห่วงความพร้อมรพ.สต.ถ่ายโอนไปท้องถิ่น หลายแห่งไม่มีแผงผังบริหาร

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2566  โดยให้สัมภาษณ์ ถึงข้อห่วงใยกรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ที่ปรากฎว่ามีรพ.สต.บางแห่งไม่สามารถให้บริการ จนประชาชนต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ทำให้เกิดภาระงานเพิ่มขึ้น   ว่า  เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้ความร่วมมือทุกด้าน แต่ผู้ที่ได้รับการถ่ายโอนไปก็ต้องไปเร่งในเรื่องของงบประมาณ  เรื่องของแผนผังการบริหาร ซึ่งสำคัญมาก ทราบมาว่าหลายแห่งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแผงผังบริหาร แต่ได้เน้นไปแล้วว่า ในส่วนการบริการรักษาประชาชน ทางกระทรวงฯ ยังสนับสนุนเช่นเดิม

สธ.ไม่เคยอยากให้รพ.สต.ถ่ายโอน แต่ต้องทำตามกฎหมาย

เมื่อถามว่ามีรายงานเข้ามาหรือไม่กรณีที่เกิดขึ้นมีหลายแห่งหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า  ต้องไปสอบถามทางผู้รับช่วงถ่ายโอนไปแล้ว แต่อย่างไร กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องทำตามกฎหมาย กระทรวงฯไม่ได้อยากให้ไป แต่เมื่อกฎหมายกำหนดก็ต้องดำเนินการ และที่ตนเคยพูดมาก่อนว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่ง ซึ่งตนก็ถามแล้วว่า เราควรทำอย่างไร ก็ได้คำตอบว่า ต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งเราก็ต้องให้ความร่วมมือมากที่สุด

เร่งจัดสรรงบบัตรทองกรณีการถ่ายโอน

“ส่วนที่ถ่ายโอนไปแล้วนั้น อย่างบุคลากร หรืออะไรต่างๆ ก็จะมีเรื่องงบประมาณด้วย ซึ่งเราก็มีการตรวจสอบด้านกฎหมาย อย่างสปสช.ก็ต้องไปปรับหมวด โดยได้รับประสานมาว่า กำลังเร่งพิจารณาค่าตอบแทนบุคลากรที่ถ่ายโอนไป ว่ามีติดเรื่องกฎหมายอะไรหรือไม่ ถ้าไม่ติดก็จะเร่งดำเนินการ และสปสช.ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

ปลัด สธ.ทำหนังสือถามความพร้อม

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่จะมีการถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ.อีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ทางสธ.มีการทำหนังสือถึงข้อห่วงใยความพร้อมของท้องถิ่นหรือไม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า สธ.มีการทำหนังสือสอบถามถึงความพร้อมของท้องถิ่น เพื่อจะได้ประสานงานร่วมกัน ซึ่งมีทั้งที่พร้อมรับการถ่ายโอน และยังไม่พร้อม แต่อีกส่วนก็ยังไม่ได้ตอบมา ส่วนตัวเลขแน่ชัดกำลังรอรวบรวมจำนวนภาพรวมทั้งหมดอยู่

 

สาเหตุที่รพ.สต.บางแห่งที่ถ่ายโอนไม่สามารถรักษาหรือทำหัตถการ

รายงานข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า เดิมทีการดูแลรักษาของรพ.สต. จะทำงานโดยมีใบประกอบวิชาชีพที่มอบอำนาจโดยปลัดสธ. ให้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการคุ้มครองตามหลักวิชาชีพ อย่างหากมีประเด็นข้อผิดพลาดทางการรักษาก็จะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งปรากฎว่าเมื่อมีการถ่ายโอนไปนั้น บางแห่งไม่มีวิชาชีพที่รองรับตรงนี้ ทำให้รพ.สต.ที่ปฏิบัติงาน หากต้องรักษา หรือทำหัตถการบางอย่างอาจมีความเสี่ยงได้ ดังนั้น ผู้ป่วยบางกรณีที่ต้องทำหัตถการจึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับวิชาชีพ ซึ่งหากรพ.สต.ไม่มีก็จะต้องไปยังรพ.ชุมชน เป็นต้น

สรุปผลประชุมคกก.ปฐมภูมิ

สำหรับผลประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ นายอนุทิน กล่าวว่า   ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการรับฟังความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการ หน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริม ปรับปรุง และพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิและระบบสุขภาพปฐมภูมิให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ ยังมีมติให้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการ หน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ และระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 โดยได้เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) เค้าโครงการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และได้มอบหมายให้สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น พร้อมจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไป

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการเก็บข้อมูล จะใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปและผู้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ ในประเด็นความพึงพอใจต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่ให้บริการ (แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ) 2.ด้านกระบวนการหรือขั้นตอนการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ 3.ด้านช่องทางการติดต่อสื่อสาร 4.ด้านสถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก 5.ด้านระบบสารสนเทศ และ 6.ด้านคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิ พร้อมทั้งสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ และความคาดหวังต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ด้วย นอกจากนี้  ยังเห็นควรให้มีการปรับองค์ประกอบกรรมการ ในคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม